UNHCR ขยายความร่วมมือและมอบความคุ้มครองผู้ลี้ภัยในโครงการ “รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต ปีที่ 4” กับสำนักจุฬาราชมนตรี และสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม
UNHCR สานต่อ โครงการรอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องฯ ปีที่ 4
UNHCR ขยายความร่วมมือและมอบความคุ้มครองผู้ลี้ภัยในโครงการ “รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต ปีที่ 4” กับสำนักจุฬาราชมนตรี และสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม
ปัจจุบันสงครามและความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติมากกว่าร้อยละ 1 ที่ตกเป็นผู้พลัดถิ่น โดยผู้คนมากกว่า 79.5 ล้านคนถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศเพื่อเอาชีวิตรอดจากการประหัตประหาร ความหวังที่หลายประเทศจะกลับคืนสู่สันติภาพยังคงริบหรี่ เช่น ในประเทศซีเรีย เยเมน อิรัก และชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยไปยังประเทศบังคลาเทศ ส่งผลให้ชาวมุสลิมจำนวนมากไม่มีโอกาสได้เฉลิมฉลองเดือนรอมฎอนที่จะมาถึงนี้กับครอบครัวในประเทศของตน อีกทั้งต้องถือศีลอดอย่างขาดแคลนและเปราะบางมากที่สุดท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สานต่อโครงการ “รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต” ในปีที่ 4 ร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี และขยายความร่วมมือภาคเอกชนกับสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม เพื่อขยายการรับรู้และร่วมระดมทุนทานประจำปีซะกาตและทานซอดาเกาะห์มอบความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิมในเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์
“จำนวนผู้ลี้ภัยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นสถิติที่สูงที่สุดในการทำงาน 70 ปีของ UNHCR”
คุณจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าว “ทั้งผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และชุมชนที่มอบที่พักพิง ต้องเฉลิมฉลองเดือนอันศักดิ์สิทธิ์อย่างขัดสน ความร่วมมือและความเมตตาอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากทุกภาคส่วนในสังคม มีความหมายมากที่สุดในขณะนี้และสามารถเปลี่ยนชีวิตผู้ลี้ภัยได้ทุกวินาที”
จากการสนับสนุนของชาวมุสลิมอย่างดีตลอดปีที่ผ่านมา โครงการฯ ในปีนี้ ได้ขยายความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่ตรงตามคุณสมบัติที่ควรได้รับซะกาตในประเทศเลบานอน จอร์แดน มอริเตเนีย อิรัก เยเมน และบังคลาเทศ มายังประเทศไทย และในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ได้แก่ ตุรกี ไนจีเรีย อินเดีย อิหร่าน บูร์กินาฟาโซ และโซมาเลีย
“ในขณะที่วิกฤตผู้พลัดถิ่นในหลายประเทศยังคงยืดเยื้อ วิกฤตใหม่ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติในอีกหลายพื้นที่ทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกถูกบังคับให้ออกจากบ้านเกิด การมอบช่วยเหลือด้านปัจจัยพื้นฐานให้ได้ครบทุกครอบครัวและทุกคนจึงเป็นเรื่องยากที่ใครสามารถทำได้เพียงลำพัง” อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี กล่าว
“ผมดีใจที่เห็นการช่วยเหลือเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตมนุษยธรรมนี้ และปีนี้เราต้องช่วยกันส่งต่อทานซะกาตถึงพี่น้องผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นให้ได้อีกเกือบล้านคนให้พวกเขาได้มีโอกาสถือศีลอดอย่างที่ควร”
รายงานพิเศษเกี่ยวกับ “ทานประจำปีซะกาตเพื่อผู้ลี้ภัย” ของ UNHCR ที่จัดทำขึ้นทั่วโลกเพื่อส่งเสริมบุคคลทั่วไปและภาคเอกชนอิสลามได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกระบุว่า UNHCR สามารถมอบความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศชาวมุสลิมที่เปราะบาง ซึ่งรวมถึง เด็กกำพร้า แม่เลี้ยงเดี่ยว หญิงหม้าย และผู้สูงอายุ ได้เพียง 740 คนใน พ.ศ. 2559 ในปีแรกของโครงการฯ แต่ด้วยความร่วมมือของชาวมุสลิมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทานซะกาตที่บริจาคผ่าน UNHCR สามารถนำไปช่วยเหลือชีวิตผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศได้มากกว่า 1 ล้านคนใน พ.ศ. 2562
“การเติบโตของธุรกิจอย่างมั่นคงต้องอาศัยการพึ่งพากันและกันในสังคม ผมอยากให้ผู้ประกอบการทั้งไทยมุสลิมและทุกธุรกิจหันมาตระหนักถึงการมีส่วนรับผิดชอบต่อส่วนรวม และร่วมกันสร้างสังคม การรับรู้และความเข้าใจในส่วนนี้ หรือแม้กระทั่งการช่วยระดมทุนเพื่อให้การพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจเป็นไปด้วยกันอย่างยั่งยืน และสร้างโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้นด้วยมือของเราเอง” คุณดาวุทธ นาวีวงษ์พนิต รองนายกดูแลฝ่ายต่างประเทศ สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม กล่าว
UNHCR ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิทาบาห์ องค์กรชั้นนำทางศาสนาเพื่อให้ได้รับการรับรองระดับโลกจากนักวิชาการศาสนา (นักฟัตวา) จากประเทศอียิปต์ เยเมน โมร็อกโก มอริเตเนีย เพื่อรับรองว่า UNHCR มีคุณสมบัติในการรับทานซะกาตและสามารถมอบความช่วยเหลือนี้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม ได้แก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิม ให้พวกเขาได้มีอาหารที่พอเพียง น้ำสะอาดไว้ใช้และดื่ม ที่พักพิงที่ปลอดภัย และเงินสมทบช่วยเหลือ
สำนักจุฬาราชมนตรี และสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม ได้สนับสนุนการทำงานของ UNHCR ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในฐานะองค์กรภาคีเพื่อมนุษยธรรม โครงการฯ นี้จะช่วยมอบงบประมาณให้ UNHCR สามารถดำเนินงานมอบความคุ้มครองที่ทำอยู่เดิมได้ พร้อมให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นเพิ่มเติมในการตั้งรับต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย UNHCR จะนำเงินบริจาคทั้งหมดไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ตรงตามคุณสมบัติที่ควรได้รับภายใต้การดูแลและตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อความโปร่งใสในทุกขั้นตอนตั้งแต่การบริจาคจนถึงการให้ ร่วมบริจาคทานของท่านได้ที่เว็บไซต์ http://unh.cr/6061a47b7a