แบกแดด ราอัด บาเดอ อัล-มุฮฺซิน ชายชาวอิรักวัย 41 ทำอาชีพตกแต่งสวนมา 20 ปี โดยได้ค่าจ้างวันละไม่เกิน 4 ดอลล่าร์ แต่หลังจากที่ทหารอเมริกันบุกรุกเข้าในอิรักในปี 2003 ชีวิตก็ยิ่งยากลำบากขึ้นเพราะแทบไม่มีใครจ้างทำงาน และทุกข์ยิ่งทับถมทวีคูณเมื่อภรรยาต้องมาป่วยเป็นมะเร็ง
ดังนั้น เมื่อมีผู้เสนอเงินให้ถึง 12,000 ดอลล่าร์เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว เพื่อแลกกับไตข้างหนึ่งของเขา จึงไม่ใช่ความผิดที่เขาจะรีบตะครุบไว้ เพราะเขาไม่เคยมีเงินในกระเป๋าถึง 100 ดอลล่าร์ตอนสิ้นเดือน ถึงแม้จะไม่ได้ใช้เงินเดือนไปแม้เพียงเซ็นต์เดียว
ขั้นตอนหลังจากนั้น มุฮซินต้องไปตรวจเลือดก่อน เขาไปที่ห้องปฏิบัติการเอกชนแห่งหนึ่งและพบว่ากรุ๊ปเลือดของเขาตรงกับลูกค้าที่รอเปลี่ยนไตถึง 4 คน
การบริจาคไตในอิรักไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย อับดุล ฮาติม อับดุล-การีม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และสมาชิกในคณะกรรมการดูแลด้านการปลูกถ่ายอวัยวะกล่าวว่า 18 เดือนที่ผ่านมามีความต้องการในการบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้น และส่วนมากต้องการเงินเป็นการแลกเปลี่ยน และเงินจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในจอร์แดน เพราะผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอวัยวะสามารถมาจากที่ต่างๆ ได้ง่ายกว่า
ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนของการปลูกถ่ายอวัยวะในอิรัก แต่องค์กร เอ็นจีโอ. ที่เป็นคนกลางจัดการหาผู้บริจาคให้กล่าวว่า มีเพียง 1 ใน 500 รายเท่านั้น ที่บริจาคโดยไม่หวังเงินตอบแทน
อย่างไรก็ตาม มุฮซินมีชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากการขายไตของเขา โดยเปิดร้านเล็กๆ ขายหมากฝรั่ง บุหรี่ และถั่วชนิดต่างๆ ลูกหลายคนของเขาได้กลับไปเรียน และเขายังคงมีไตที่สมบูรณ์เหลืออยู่อีกข้างหนึ่ง
ซัลวา อะฮฺมัด (นามสมมุติ) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของหญิงชาวอิรัก ที่สามีเสียชีวิตเพราะเหตุระเบิดในเมืองดิยาล่า ทำให้เธอต้องหอบลูก 4 คนเข้ามาอยู่ในแบกแดดอย่างคนไร้ที่อยู่อาศัย และต้องดิ้นรนทำงานหาเงินซื้ออาหารให้ลูกๆ ซึ่งได้กินคนละไม่เกินวันละ 1 มื้อ เมื่อมีคนมาเสนอให้บริจาคไต เธอรู้สึกยินดี และรีบเตรียมตัวที่จะดำเนินการ ในตอนแรกเธอได้รับการเสนอเงินเพียง 3,000 ดอลล่าร์ แต่จากการพบว่าเลือดของเธอเป็นกรุ๊ปที่หายาก ทำให้ได้ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ดอลล่าร์ในทันที
ปัจจุบันเธอมีชีวิตที่ดีขึ้น ลูกๆ มีอาหารกิน ตัวเองยังได้ทำงานในร้านขายเสื้อผ้า เธอคิดว่ามันอาจจะดูผิดศีลธรรมที่แลกอวัยวะกับเงิน แต่เมื่อเห็นลูกๆ ต้องอดอยากหิวโหย แม่ทุกคนต้องคิดว่าการเสียไตข้างหนึ่งแทบไม่มีความหมาย
มุฮัมมัด อัล-อานี พนักงานช่วยเหลือคนไข้ที่ต้องการเปลี่ยนอวัยวะเล่าว่า บางคนต้องการเงินมากจนพร้อมที่จะทำทุกอย่าง กรณีที่เขาพบเป็นชายผู้หนึ่งที่เป็นโรคเกี่ยวกับไตซึ่งทำให้ไม่สามารถบริจาคได้ แต่เขาประกาศขายเลนส์กระจกตาของตัวเอง 1 ข้าง 2 เดือนต่อมาอานีได้ข่าวว่า มีผู้ซื้อเลนส์กระจกตา ในราคา 20,000 ดอลล่าร์ แต่ไม่มีรายละเอียดในเรื่องนี้
ปัจจุบันการขายอวัยวะในอิรักทำกันจนเหมือนเป็นอุตสาหกรรม โดยมีกลุ่มมาเฟียควบคุมอยู่ และมีหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่รัฐที่คอรัปชั่น ได้รับผลประโยชน์จากการซื้อ-ขายนี้ด้วย กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะว่า ผู้บริจาคให้หรือขายอวัยวะกันแน่
แต่มีบางกรณีที่การบริจาค ไม่ว่าจะให้เปล่า หรือแลกกับเงิน ไม่ได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยมีรายงานว่าเด็ก และวัยรุ่นถูกลักพาไปเพื่อการนี้ แลกกับเงินจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้ตกถึงมือผู้ถูกลักพา ยกตัวอย่างวัยรุ่นอายุ 17 ปีคนหนึ่งเล่าว่า ถูกลากตัวขึ้นรถไปและมารู้สึกตัวอีก 2 วันต่อมาในห้องสกปรกแห่งหนึ่ง โดยมีบาดแผลถูกผ่าตัดที่ท้อง พวกมาเฟียให้เงินเขา 20 ดอลล่าร์และขับรถมาส่งนอกกรุงแบกแดด หลังจากนั้นเขามีปัญหาสุขภาพ เนื่องจากขั้นตอนที่ไม่สะอาดในการผ่าตัด
ปัจจุบันบิดาของวัยรุ่นคนนี้ต้องขายบ้าน เพื่อหาเงินซื้อไตมาเปลี่ยนให้ลูก โดยที่รัฐบาลอิรักไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้เลย