ผลการแสดงประชามติของประชาชนสวิสเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความท้อใจ และโกรธเคืองแก่โลกมุสลิมในความสำเร็จของกลุ่มขวาจัด
โดยมีผู้ลงความเห็นว่าควรห้ามสร้างหออะซานร้อยละ 57.5 และเขตปกครองเล็กๆ ที่มีทั้งหมด 26 เขต เห็นด้วยว่าควรห้ามสร้างหออะซานถึง 22 เขต
ขณะที่กลุ่มขวาจัดออกมาแสดงความยินดีปรีดา รัฐบาลสวิส ฯ ได้ออกมาแถลงว่า การห้ามสร้างหออะซานไม่ได้หมายความถึงการปฏิเสธประชาคมมุสลิมในประเทศ รวมทั้งศาสนา และวัฒนธธรรมอิสลาม
ในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลเคารพในการตัดสินใจของประชาชน และจะได้นำมติดังกล่าวบรรจุลงเป็นกฎหมาย ซึ่งการสร้างหออะซานจะไม่ได้รับการอนุญาตอีกต่อไป
เสียงสะท้อนจากโลกมุสลิมอื้ออึงหลังจากการประกาศผลการลงประชามติ มัสคูรี อับดิลาฮฺ ประธานะฮฺดลาตุ้ล ยุละมะฮฺ แห่งอินโดนีเซีย กล่าวว่า มตินี้แสดงความเกลียดชังของชาวสวิสต่อมุสลิม และการไม่ต้องการเห็นมุสลิมในประเทศ รวมทั้งแสดงถึงความแล้งน้ำใจต่อคนในศาสนาอื่น อย่างไรก็ดี เขาเรียกร้องว่าไม่ควรคิดแก้แค้นในเรื่องนี้
ในอียิปต์ สำนักข่าว MENA ของรัฐบาล ได้เผยแพร่ความเห็นของมุฟตีอาลี โกมาอฺ ซึ่งประณามมติดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนา และเป็นการดูหมิ่นมุสลิมทั่วโลก
ถึงแม้รัฐบาลจะออกมาแถลงว่า การห้ามสร้างหออะซานดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าจะปฏิเสธสังคมมุสลิม และวัฒนธรรมอิสลามในประเทศ แต่มุสลิมเกือบ 400,000 คน ซึ่งส่วนมามากจากอดีตยูโกสลาเวีย และเป็นชาวตุรกีอพยพ รู้สึกถึงความมุ่งร้ายที่แฝงอยู่ไปเรียบร้อยแล้ว
พวกเขากล่าวว่า ความเจ็บปวดไม่ได้มาจากการไม่ได้เห็นหออะซาน แต่ผลของประชามตินี้สื่อถึงความเกลียดชัง และไม่ได้รับการยอมรับในฐานะประชาชนของประเทศเท่าเทียมกัน
ที่ประชุมสังฆราชาสวิส ฯ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มตินี้เช่นกัน โดยกล่าวว่า เป็นการเพิ่มพูนซึ่งปัญหาความสมานฉันท์ ระหว่างศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง
สำนักข่าว ATS รายงานว่า มีการชุมนุมประท้วงโดยสงบหน้ารัฐสภาสวิสฯ ในกรุงเบิร์น โดยกลุ่มหนุ่ม-สาวออกมาจุดเทียน และถือแผ่นไม้ที่เขียนเป็นรูปหออะซาน พร้อมกับจำลองว่าเป็นงานศพ หลายคนชูป้ายที่อ่านได้ความว่า นี่ไม่ใช่สวิตเซอร์แลนด์ที่ฉันรู้จัก
ในเมืองซูริค มีการชุมนุมกันโดยผู้ประท้วงถือหออะซานจำลองประมาณ 12 อัน ที่ทำจากวัสดุเหลือใช้
สมาชิกรัฐสภาจากพรรคอิสลามเพื่อความยุติธรรมและพัฒนาของประเทศมอร๊อกโก แสดงความประหลาดใจในเรื่องนี้ และว่า มุสลิมในสวิสฯ และในประเทศสหภาพยุโรปต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อสื่อสารถึงอิสลามที่แท้จริง ให้สังคมเข้าใจ
ฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มี่นักการเมืองยินดีกับผลประชามตินี้ โดยมารีน เลอ แปง นักการเมืองจากพรรคขวาจัดกล่าวว่า ชาวยุโรปประสบความสำเร็จในการยุติการสร้างสัญลักษณ์ที่ก้ำกึ่งระหว่างการเมือง-ศาสนา ที่อิสลามต้องการนำมาครอบงำ
ขณะเดียวกัน อีวอน เปอร์ริน รองหัวหน้าพรรค SVP ที่ล่ารายชื่อให้มีการลงประชามติ ออกมาคุยโวว่า ได้รับชัยชนะโดยปราศจากความยากลำบาก และเขาได้กล่าวออกวิทยุ Suisse Romande ว่า ชาวสวิสไม่ควรเกรงกลัวว่าจะได้รับการตอบโต้จากประเทศโลกอิสลาม ตราบใดที่ประเทศสวิสยังคงผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีเยี่ยมเป็นที่ยอมรับในโลก - www.muslimthai.com