กอท.จับมือศูนย์วิทย์ฯจุฬา จัดงาน SHIF 2015 ยะลาหวังใช้ตลาดฮาลาลฟื้นเศรษฐกิจชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ดร.พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายสุรินทร์ ปาราเร่ เลขาธิการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และอิหม่ามมัสยิดต่างๆ กว่า 2,800 มัสยิด และแขกผู้มีเกียรติอื่นๆ ได้มาร่วมกันเป็นเกียรติในการเปิดงานเทศกาลนานาชาติฮาลาลชายแดนใต้ หรือ Southern Border Halal International Fair (SHIF 2015) ณ หอประชุมใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา
โดยมี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นผู้กล่าวต้อนรับ มีพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาราเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวรายงาน และ ดร.พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และมีนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีเป็นผู้กล่าวดุอาอฺ(ขอพร)
พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า... “เทศกาลนานาชาติฮาลาลชายแดนใต้ จัดขึ้นเป็นครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างมิติใหม่ด้านฮาลาลประเทศไทยระดับอาเซียนและนานาชาติ ซึ่งในงานครั้งนี้ มีกิจกรรมหลักๆ 6 ส่วนด้วยกัน คือ การประชุมคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยสัญจร ด้วยการเชิญอิหม่ามจำนวน 3,000 คน จาก 3,000 มัสยิดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเสวนาเรื่องศักยภาพฮาลาลไทย การประชุมหารือเรื่องการแสวงหาทางออกของปัญหาชายจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเสวนาศักยภาพนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และงานคุ้มครองผู้บริโภค การจัดนิทรรศการ Sultan of Science นิทรรศการ Demo Lab นิทรรศการคัมภีร์อัล-กุรอ่านและกีตาบโบราณ อีกทั้งมีการจัดแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และนิทรรศการและเอกชนจำนวน 200 บู๊ท”
เลขาธิการ กอท.กล่าวต่อว่า... “สำหรับเรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่สั่งสมมาแล้วประมาณ 3 ชั่วอายุคนแล้ว หากเราได้ยึดเอาหลักประศาสนนโยบายของในหลวงรัชการที่ 6 ในเรื่องการปฏิบัติต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการออกระเบียบก็ดี การส่งบุคคลเข้ามาอยู่ในพื้นที่ก็ดี การจัดเก็บภาษีก็ดี เหตุการณ์ใน จชต.อาจจะเกิดขึ้นเหมือนดั่งที่เป็นอยู่อย่างในทุกวันนี้ หากนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ในปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ใช้เงินงบประมาณไปไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบมากกว่า 6,000 คน มีเด็กกำพร้าเกิดขึ้นประมาณ 10,000 คนและเกิดหญิงหม้ายอีกเป็นจำนวนมาก”
เลขาธิการ กอท.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า... “ในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนสามารถแก้ปัญหาในประเทศของเขา แต่ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาในด้านการปกครอง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาก็ควรจะเน้นในเรื่องการปกครอง คือการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับขบวนการผู้เห็นต่าง โดยต้องถอยกันคนละก้าว โดนไม่เลือกใช้วิธีที่รุนแรงในการแก้ปัญหา และคาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความสันติสุข และสันติภาพชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนถาวรต่อไป” เลขาธิการ กอท.กล่าว
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล กล่าวว่า... “งานเทศกาลนานาชาติฮาลาลชายแดนใต้ (Southern Border Halal International Fair2015 (SHIF 2015) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในคืนวันที่ 8 ก.ย.2558 มี Dato' Othman Hassan รมต.แรงงานกัมพูชา ได้กล่าวว่าประเทศกัมพูชาแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมเขาอย่างไร ต่อคณะอิหม่าม 2,800 คน และผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่อีก 700 คนใน 4 จังหวัดภาคใต้ โดยได้บรรยายเป็นภาษามลายู และถัดจากนั้นก็จะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด Aceh อินโดนีเซียมาเล่าเรื่องการวิธีการแก้ปัญหาในอาเจะห์ อินโดนีเซีย และถัดจากนั้นก็จะเป็นที่ปรึกษาอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมาเล่าประสบการณ์ในการสร้างความปรองดองระหว่างคนมาเลย์กับคนจีนในมาเลเซีย โดยงานในคืนนี้จะเป็นการบอกเล่ากระบวนการสร้างความปรองดองในกัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ให้กับผู้นำมุสลิม 3,500 คนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยวิทยากรทั้งหมดจะเป็นคนระดับ VIP จากสี่ประเทศมาร่วมแชร์ประสบการณ์” รศ.ดร.วินัย กล่าว.