จุฬาฯ ฟัตวา การใช้เครื่องหอม-เครื่องสำอาง ที่มีส่วนผสมของเมทธิลแอลกอฮอล์


จุฬาฯ ฟัตวา การใช้เครื่องหอม-เครื่องสำอาง ที่มีส่วนผสมของเมทธิลแอลกอฮอล์

คำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี

ที่ 03/2554

เรื่อง การใช้เครื่องหอม เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์อุปโภคที่มีส่วนผสมของเมทธิลแอลกอฮอล์


คำถาม : มีข้อชี้ขาดอย่างไรเกี่ยวกับการใช้เครื่องหอม เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์อุปโภคที่มีเมทธิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม หรือเป็นส่วนประกอบ

ข้อมูลประกอบคำวินิจฉัย

 “แอลกอฮอล์” เป็นสารอินทรีย์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นของเหลวใส กลิ่นฉุน ระเหยง่าย มีจุดเดือดที่  78.5 เซลเซียส ชื่อเต็มคือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) แต่มักเรียกกันสั้นๆ ว่าแอลกอฮอล์(Alcohol) โดยปรกติเกิดขึ้นจากการหมักสารประเภทแป้งหรือน้ำตาลผสมยีสต์ ซึ่งมักเรียกกันว่า แป้งเชื้อ หรือ เชื้อหมัก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสุราและเมรัยทุกชนิด เมื่อดื่มเข้าไปจะออกฤทธิ์ทำให้มีอาการมึนเมา ใช้ประโยชน์เป็นตัวทำละลายและเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนเมธิลแอลกอฮอล์ (Methyl alcohol) เป็นแอล-กอฮอล์ชนิดหนึ่ง มีสูตรทางวิทยาศาสตร์ว่า CH3OH ลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสีมีจุดเดือดที่ 64.6 เซลเซียสจุดไฟติด มีฤทธิ์เป็นพิษ เมื่อดื่มเข้าไปอาจทำให้ตาบอดได้ใช้ประโยชน์เป็นตัวทำละลาย เชื้อเพลิงและใช้สังเคราะห์สารเคมีบางอย่าง เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้น บางทีแอลกอฮอล์ชนิดนี้ก็เรียกว่า เมทานอล (Methanol)

แอลกอฮอล์ชนิดเมทิลแอลกอฮอล์นี้ จะถูกผลิตจากการกลั่นแห้งต้นไม้บางชนิด เช่น ต้นบีช (beach) ซึ่งเป็นต้นไม้จำพวกมะเดื่อ เหตุนี้จึงเรียกเมทิลแอลกอฮอล์ว่า “แอลกอฮอล์ไม้” และยังถูกผลิตด้วยกระบวนการรวมตัวโดยตรงระหว่างคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) กับไฮโดรเจนอีกด้วย ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมจะมีการใช้คาร์บอนมอนอกไซด์เตรียมเมทิลแอลกอฮอล์และใช้ไฮโดรเจนสังเคราะห์เมทิลแอลกอฮอล์ โดยธาตุทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นแก๊สชนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แอลกอฮอล์ทั้ง 2 ชนิด เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อประสาททำให้เกิดอาการมึนเมา ต่างกันตรงที่ว่า เอทิลแอลกอฮอล์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในเครื่องดื่มที่ออกฤทธิ์ทำให้มึนเมาจำพวกสุรา ส่วนเมทิลแอลกอฮอล์นั้นจะไม่นำไปใช้เป็นเครื่องดื่มหรือส่วนผสมของเครื่องดื่ม เพราะเป็นพิษร้ายแรงแต่นำไปใช้เป็นตัวทำละลายสารแขวนลอยในอุตสาหกรรมน้ำหอมและโคโลญจ์(1)

 จุฬาฯ ฟัตวา การใช้เครื่องหอม-เครื่องสำอาง ที่มีส่วนผสมของเมทธิลแอลกอฮอล์

คำวินิจฉัย

นักนิติศาสตร์อิสลามจึงมีทัศนะตรงกันว่า แอลกอฮอล์ทั้ง 2 ชนิดเป็นสิ่งต้องห้ามในการบริโภค เพราะเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ทำให้มึนเมาและเป็นวัตถุมีพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ส่วนในกรณีที่ว่าแอลกอฮอล์ทั้งสองชนิดถือเป็นนะญิสหรือไม่นั้น กรณีนี้นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน ปวงปราชญ์ มีความเห็นว่า สุราเป็นนะญิส เมื่อแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบหลักของสุรา แอลกอฮอล์ก็ถือเป็นนะญิส ในขณะที่นักวิชาการบางส่วน เช่น อิหม่ามเราะบีอะฮ์อาจารย์ของอิหม่ามมาลิกอิหม่ามอัล-ลัยษ์อิบนุสะอด์อิหม่ามอัล-มุซะนีย์อิหม่ามอัช-เชากานีย์อิหม่ามอัศ-ศอนอานีย์ และศิดดีกฮาซัน ข่าน เป็นต้น มีความเห็นว่า สุราเป็นสิ่งที่สะอาดเช่นเดียวกับกัญชา ฝิ่น และสารเสพติดที่เป็นสิ่งสะอาด แต่เป็นอันตราย ซึ่งไม่มีผู้ใดกล่าวว่า วัตถุมีพิษที่เป็นอันตรายนั้นเป็นนะญิสอัยนีย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นนะญิสฮุกมีย์ในความหมายที่ว่าเป็นสิ่งต้องห้ามในการบริโภคหรือเสพเข้าสู่ร่างกายก็ตาม (2)

ชัยค์มุฮัมมัด เราะชีดริฎอ มีความเห็นว่า น้ำหอมประเภทต่างๆ ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ไม่เป็นนะญิส (3) ชัยค์อะฏียะฮ์ศ็อกร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังคงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอยู่ และดูเหมือนว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการให้น้ำหนักแก่คำกล่าวที่ว่า แอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่สะอาดภายหลังมีการใช้แอลกอฮอล์อย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านการแพทย์ การทำความสะอาด การวิจัยทดลองต่างๆ และเครื่องหอมต่างๆ ถึงแม้จะถือว่าแอลกอฮอล์เป็นวัตถุมีพิษที่เป็นอันตรายในการบริโภคตามที่กล่าวมาก็ตาม ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องล้างโคโลญจน์ออกจากวัตถุหรือภาชนะ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย เสื้อผ้า หรืออื่นๆ และการละหมาดพร้อมกับมีร่องรอยของโคโลญจน์ก็ถือว่าใช้ได้(4)

ที่ประชุมนิติศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 8 ขององค์กรอิสลามเพื่อวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดขึ้นที่ประเทศคูเวต ในระหว่างวันที่ 22-24/5/ค.ศ.1995 มีแถลงการณ์ว่า แอลกอฮอล์มิใช่นะญิสตามหลักศาสนบัญญัติบนหลักการที่ว่า แท้จริงหลักเดิมของสิ่งต่างๆ นั้น ถือว่าสะอาดไมว่าจะเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือถูกเจือจางด้วยนำก็ตาม เป็นการให้น้ำหนักแก่ทัศนะที่ว่า ความเป็นนะญิสของสุราและวัตถุออกฤทธิ์ที่ทำให้มึนเมาอื่นๆ นั้นเป็นนะญิสในเชิงนามธรรม มิใช่เป็นนะญิสในเชิงรูปธรรม เพราะถือว่าสุราเป็นความสกปรกโสมมจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นจึงไม่ถือเป็นข้อห้ามที่เป็นบาปตามหลักศาสนบัญญัติในการใช้แอลกอฮอล์ทางการแพทย์ เช่น ทำความสะอาดผิวหนัง บาดแผล อุปกรณ์ เวชภัณฑ์และฆ่าเชื้อโรค หรือใช้เป็นเครื่องหอม ซึ่งแอลกอฮอล์จะถูกนำไปใช้เป็นตัวทำละลายวัตถุจำพวกน้ำหอมที่มีสารแขวนลอย” (5)

พิจารณาแล้ว จึงมีคำวินิจฉัยที่ให้น้ำหนักว่า แอลกอฮอล์ประเภทเมทิลแอลกอฮอล์ที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอม เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์อุปโภคไม่เป็นนะญิส เนื่องจากเป็นวัตถุมีพิษที่เป็นอันตรายและมีคุณสมบัติแตกต่างจากแอลกอฮอล์ประเภทเอทิลแอลกอฮอล์ตลอดจนมีกระบวนการสังเคราะห์ที่แตกต่างกัน

ส่วนกรณีการรับรองฮาลาลผลิตภัณฑ์อุปโภคดังกล่าวที่มีเมทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมนั้นมีความเห็นว่าสมควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากคำวินิจฉัยที่ออกไว้เป็นเพียงการให้น้ำหนักเท่านั้น กอปรกับการชี้ขาดในเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่นักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นต่างกัน ในขณะที่การรับรองฮาลาจำต้องอาศัยหลักการที่เด็ดขาดและชัดเจนในการตัดสิน และการไม่รับรองฮาลาลให้แก่ผลิตภัณฑ์อุปโภคดังกล่าวก็มิได้หมายความว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในการอุปโภคเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากมีข้ออนุโลมตามทัศนะที่มีน้ำหนักรองรับอยู่แล้ว อีกทั้งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องหอม เครื่องสำอางที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมแพร่หลายและเพียงพอต่อการอุปโภคจึงควรให้การรับรองฮาลาลแก่ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากแอลกอฮอล์มากกว่า

อาศิส พิทักษ์คุมพล
จุฬาราชมนตรี

(1) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554

(2) อะฮ์สะนุลกะลาม ฟิลฟะตาวา วัล-อะฮ์กาม; ชัยค์อะฏียะฮ์ศ็อกร์: เล่มที่ 3 หน้า 286

(3) ตัฟซีรอัล-มะนาร; มุฮัมมัด เราะชีดริฎอ : 4/500, 821, 866

(4) อะฮ์สะนุลกะลาม ฟิลฟะตาวา วัล-อะฮ์กาม : 3/288, อัล-ฟะตาวา อัล-อิสลามียะฮ์: 5/1652

(5) มะวาด นะญิสะฮ์ฟิลเฆาะซาอ์วัด-ดะวาอ์; ดร.อับดุลฟัตตาฮ์มะฮ์มูด อิดรีส : หน้า 137

ที่มา: www.skthai.org

อัพเดทล่าสุด