จุฬาฯ ฟัตวา การใช้สีผสมอาหารที่มาจากแมลง


จุฬาฯ ฟัตวา การใช้สีผสมอาหารที่มาจากแมลง

คำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี ที่ 01/2554

เรื่อง การใช้สีผสมอาหารที่มาจากแมลง

คำถาม : การใช้สีผสมอาหารที่มาจากแมลง เช่น สีคาร์มีนซึ่งได้มาจากสารที่แมลงชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ต้นตะบองเพชร ขับออกมามีลักษณะเป็นสีแดงหรือสีครั่ง เป็นต้น

คำวินิจฉัย

นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์มีทัศนะว่า แมลงทุกชนิดเป็นสิ่งต้องห้ามในการรับประทานโดยเฉพาะแมลงที่มีหมาด (เข็มพิษ) และพิษ เช่น ผึ้ง ตัวต่อ แตนและแมงป่อง เป็นต้น ทั้งนี้ ยกเว้นตั๊กแตนและสัตว์บางชนิดตามรายละเอียดในมัซฮับ(1) สอดคล้องกับทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-ฮัมบะลีย์และอัล-ฮะนะฟีย์ที่มีทัศนะว่า สัตว์จำพวกแมลงทุกประเภทเป็นสิ่งต้องห้ามในการนำมารับประทาน เพราะเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงและน่ารังเกียจ ตลอดจนเป็นสิ่งที่คนปรกติทั่วไปหลีกห่างในการรับประทาน (2)

ส่วนนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-มาลิกีย์ มีทัศนะว่า อนุญาตให้รับประทานแมลงได้ทุกชนิด สำหรับผู้ที่การรับประทานแมลงนั้นไม่เป็นอันตรายหรือส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเชือดแมลงนั้นเสียก่อนจึงจะอนุญาตให้รับประทานได้(3)

ดังนั้น เมื่อถือตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่จึงวินิจฉัยได้ว่า สัตว์จำพวกแมลงถือเป็นสิ่งต้องห้ามในการนำมารับประทานไม่ว่าจะถูกเชือดหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ หาพิจารณาตามเงื่อนไขของมัซฮับอัล-มาลิกีย์ที่ระบุว่าต้องเชือดแมลงนั้นเสียก่อนจึงอนุญาตให้รับประทานได้ ก็เชื่อได้ว่า ในข้อเท็จจริงของการใช้แมลงเป็นวัตถุดิบในการผลิตสีไม่ผ่านกระบวนการเชือดตามเงื่อนไขของมัซฮับอัล-มาลิกีย์ เพราะเป็นสิ่งยุ่งยากสำหรับกระบวนการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นปริมาณเป็นหลัก เมื่อแมลงเป็นสิ่งไม่อนุมัติให้รับประทานหรือไม่ผ่านกระบวนการเชือดตามเงื่อนไขในมัซฮับอัล-มาลิกีย์ ซากของแมลงจึงถือเป็นซากสัตว์ (มัยตะฮ์) ซึ่งนักวิชาการเห็นพ้องตรงกันว่าเป็นนะญิส สีซึ่งเกิดจากสารที่แมลงขับออกมาจึงถือเป็นนะญิสไปด้วย เพราะเป็นสารที่ถูกขับออกมาจากสัตว์ที่ห้ามรับประทาน ทั้งนี้เมื่อสีที่เกิดจากสารซึ่งแมลงขับออกมา ไม่ผ่านกระบวนการแปรสภาพ แต่ถ้าปรากฏว่า มีการนำสีที่เกิดจากสารซึ่งแมลงขับออกมาผ่านกระบวนการแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่น เช่น การทำปฏิกิริยาทางเคมีการเผาด้วยความร้อนสูงจนกลายเป็นผงสีตามทัศนะของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-ฮะนะฟีย์และนักวิชาการร่วมสมัย เช่น ดร.ยูซุฟ อัล-กอรฎอวีย์การผ่านกระบวนการแปรสภาพสิ่งที่แต่เดิมเป็นนะญิสนั้นทำให้นะญิสกลายเป็นสิ่งสะอาดได้ เช่น เมื่อนำสารสีแดงที่แมลงซึ่งอาศัยอยู่ที่ต้นตะบองเพชรขับออกมา หรือขี้ครั่งซึ่งแมลงจำพวกครั่งขับออกมา ผ่านการเผาด้วยความร้อนสูงจนกลายเป็นผงขี้เถ้าก็ถือว่าผงขี้เถ้าที่ได้จากการเผานั้นกลายเป็นสิ่งที่สะอาดแล้วด้วยการแปรสภาพ (อิสติฮาละฮ์) ซึ่งกรณีของขี้เถ้าที่ถูกเผาจากสิ่งที่เป็นนะญิสนั้นตามทัศนะที่ได้รับการยึดถือ (มุอ์ตะมัด) ในมัซฮับอัล-มาลิกีย์ก็ถือว่าสะอาดเช่นกัน( 4)

พิจารณาแล้วจึงวินิจฉัยว่า ในกรณีนี้ การใช้สีผสมอาหารที่มาจากแมลง เช่น  สีคาร์มีนหรือสีครั่งซึ่งนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ตัวเคลือบช็อกโกแลตให้มีสีเงาน่ารับประทานเพิ่มขึ้นนั้น หากผ่านกระบวนการแปรสภาพโดยการเผาด้วยความร้อนสูงย่อมเป็นสิ่งสะอาดที่ไม่เหลือสภาพของความเป็นนะญิสแล้วและเป็นที่อนุญาตให้รับประทานได้แต่ถ้าหากไม่ผ่านกระบวนการแปรสภาพดังที่กล่าวมาก็ถือว่าเป็นนะญิสที่ไม่อนุญาตให้รับประทานหรือใช้เป็นส่วนผสมของสีผสมอาหารหรือนำมาใช้เป็นวัตถุดิบส่วนผสมอาหารในผลิตภัณฑ์ตัวเคลือบดังกล่าว

อาศิส พิทักษ์คุมพล
จุฬาราชมนตรี


.........................

(1) อัล-ฟิกฮุลมันฮะญีย์อะลา มัซฮับอัล-อิมามอัช-ชาฟิอีย์; ดร.มุศฏอฟา อัล-คิน และคณะ : 32/72

(2) อัล-อัฏอิมะฮ์ วัซ-ซะบาอิห์ ฟิลฟิกฮิลอิสลามีย์; ดร.อบูสะรีอ์ มุฮัมมัด อับดุลฮาดีย์ : 55, อัล-ฟิกฮุลอิสลามีย์ว่า อะดิลละตุฮู; ดร.วะฮ์บะฮ์อัซ-ซุฮัยลีย์: 3/508

(3) อัล-อัฏอิมะฮ์วัซ-ซะบาอิห์; อ้างแล้ว : หน้า 55, อัล-ฟิกฮุลอิสลามีย์ว่า อะดิลละตุฮู; อ้างแล้ว : 3/508

(4) อัล-ฟิกฮุลอิสลามีย์ ว่า  อะดิลละตุฮู; ดร.วะฮ์บะฮ์ อัซ-ซุฮัยลีย์ : 1/100, ฟะตาวา มุอาศิเราะฮ์; ดร.ยูซุฟอัล-กอรฎอวีย์: 3/658


ที่มา: www.skthai.org

อัพเดทล่าสุด