คำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี ที่ 13/2556
เรื่อง: การทำงานในวันศุกร์
คำถาม : การทำงานในวันศุกร์ขัดแย้งกับหลักศาสนาอิสลามหรือไม่?
คำวินิจฉัย
การทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพเป็นสิ่งที่อิสลามให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการดำรงชีพโดยมุ่งสู่เป้าหมายที่องค์อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดนั้น ต้องอาศัยการอุปโภคบริโภคสรรพสิ่งต่างๆ ที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้ผู้ทำงานเพื่ออัลลอฮ์เช่น บรรดาศาสนทูตทั้งหลาย จึงเป็น ผู้ทำงานหนักเสมอ เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้โดยไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น และสามารถทำเพื่ออัลลอฮ์ได้ โดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของผู้ใด นอกจากขอพึ่งพาอัลลอฮ์ เพียงผู้เดียวเท่านั้น
ผู้ทำงานด้วย้ำพักน้ำแรงเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวด้วยอาชีพสุจริตจึงเป็นผู้ประเสริฐและอาหารที่ได้มาจากการทำงานนั้นก็เป็นอาหารที่ประเสริฐด้วย ดังมีวจนะของศาสนทูตมุฮัมมัดว่า
“ไม่มีอาหารใดที่คนหนึ่งรับประทานแล้ว จะมีความประเสริฐมากไปกว่าอาหารที่ได้มาจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน และแท้จริง ดาวูดผู้เป็นศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์เอง ก็เป็นผู้ที่เลี้ยงชีพโดยการทำงานด้วยตัวเอง” (อัล-บุคอรีย์: 543)
อีกทั้งผู้ทำงานอย่างมืออาชีพก็เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮ์ ดังมีวจนะของศาสนทูตมุฮัมมัด
“แท้จริง องค์อัลลอฮ์ทรงรักผู้ศรัทธาที่ประกอบอาชีพการงาน” (1)
ด้วยความรักที่พระองค์มีให้จึงพร้อมจะทรงอภัยโทษต่อผู้ประกอบอาชีพการงาน ในยามที่พวกเขาเหนื่อยล้าจากการใช้แรงกาย และทรงถือว่าผู้ทำงานสุจริตเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว คือ คนทำงานในหนทางของพระองค์ดังมีวจนะของศาสนทูตมุฮัมมัด ว่า
“ผู้ใดเข้าสู่ยามเย็นอย่างเหนื่อยล้าจากการใช้แรงงาน ผู้นั้นย่อมได้รับการอภัยโทษแล้ว” (2)
อีกวจนะหนึ่งซึ่งทำให้เห็นว่าทุกคนต้องสนับสนุนผู้ประกอบอาชีพสุจริต คือวจนะที่ว่า
“ชายผู้หนึ่งเดินผ่านท่านนบี แล้วบรรดาสาวกของท่านนบีก็เห็นถึงความมีน้ำอดน้ำทนและการทำงานอย่างขยันขันแข็งของชายผู้นั้น จึงกล่าวกับท่านนบีว่า ถ้าชายคนนี้มาทำงานในหนทางของอัลลอฮ์ย่อมเป็นการดียิ่ง ท่านนบีจึงกล่าวว่า หากชายคนนี้ออกไปทำงานหาเลี้ยงลูกเล็กๆ เขาก็อยู่ในหนทางของอัลลอฮ์ หากเขาออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงพ่อแม่ที่แก่ชรา เขาก็อยู่ในหนทางของอัลลอฮ์หากเขาออกไปทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเองจะได้ไม่ต้องเป็นภาระของใครให้เสียสง่าราศีเขาก็อยู่ในหนทางของอัลลอฮ์ ถ้าเขาออกไปทำงานเพื่อหวังให้ผู้อื่นยกย่องหรือเพื่อโอ้อวดกัน เขาก็อยู่ในหนทางของมารร้าย” (3)
เมื่อคนเราต้องบริโภคทุกวัน อิสลามจึงไม่ห้ามที่จะทำงานทุกวัน แม้วันนั้นจะเป็นวันศุกร์ซึ่งถือเป็นวันสำคัญประจำาสัปดาห์ก็ตาม สิ่งที่อิสลามบัญญัติคือ บุคคลต้องไม่ให้ความสำคัญแก่การทำงานหารายได้มากกว่าการประกอบพิธีละหมาดญุมอะฮ์ ถวายเป็นอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ว่า
“ดูกร ผู้มีศรัทธาทั้งหลาย เมื่อเสียงเรียกร้องสู่การละหมาดดังขึ้นในวันศุกร์ พวกเจ้าก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์เถิด และจงยุติการซื้อขายเสีย นั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้ครั้นเมื่อการประกอบพิธีละหมาดเสร็จสิ้นลง พวกเจ้าก็จงกระจายไปในแผ่นดินเถิด จงแสวงหาคุณูปการแห่งอัลลอฮ์(ทำงานหารายได้) และจงรำลึกถึงพระองค์ให้มาก เพื่อพวกเจ้าจะได้พบกับความสำเร็จ” (อัล-ญุมอะฮ์: 9-10)
ทั้งสองอายะฮ์บ่งชี้ชัดเจนว่า แม้จะเป็นวันศุกร์แต่อัลลอฮ์ก็ยังส่งเสริมให้ทำงานแสวงหาคุณูปการที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้สิ่งที่ผู้ทำงานทุกคนต้องระลึกถึงอยู่เสมอคือเมื่อได้ยินเสียงอะซานเรียกร้องสู่การละหมาด งานทุกอย่างต้องยุติลงและบุคคลต้องเตรียมตัวไปร่วมละหมาดอย่างรีบเร่ง
ครั้นเมื่อละหมาดเสร็จสิ้นแล้วก็ให้ทำงานต่อไป โดยมีจิตระลึกอยู่เสมอว่า โภคปัจจัยที่ได้มาล้วนเป็นคุณูปการแห่งอัลลอฮ์ทั้งสิ้น บุคคลจึงควรแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ด้วยการปฏิบัติตนและใช้จ่ายทรัพย์สินที่ได้มาตามครรลองแห่งพระองค์เท่านั้น นั่นจึงนับเป็นความสำเร็จ ทั้งในภพนี้และปรภพ
ในบริบทของสังคมไทยโดยรวม และเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มุสลิมสามารถทำงานวันศุกร์ได้ โดยไม่สูญเสียโอกาสในการละหมาดญุมอะฮ์เลย เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ล้วนอนุญาตให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานออกไปละหมาดญุมอะฮ์ได้เมื่อถึงเวลาซึ่งนับเป็นเนียะอ์มะฮ์ที่องค์อัลลอฮ์ทรงประทานให้โดยแท้
ดังนั้น การข่มขู่คุกคามให้สุจริตชนต้องหยุดทำงานในวันศุกร์จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น เป็นการแอบอ้างศาสนาอิสลามเพื่อผลประโยชน์ของตนโดยมิชอบ และเป็นการกระทำที่อยู่นอกกรอบแนวทางของอัลลอฮ์อย่างสิ้นเชิง
อาศิส พิทักษ์คุมพล
จุฬาราชมนตรี
(1) อัฏ-เฏาะบะรอนีย์; อัล-เอาซัฏ : 9167
(2) มัจญ์มะอ์อัซซะวาอิด; อัล-ฮัยษะมีย์: 4/66
(3) อัล-มุอ์ญัม อัล-กะบีร : 282
ที่มา: www.skthai.org