จุฬาฯ ฟัตวา การใช้ยาสวนทางทวาร


จุฬาฯ ฟัตวา การใช้ยาสวนทางทวาร


คำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรีที่ 3/2557 เรื่อง การใช้ยาสวนทางทวาร

คำถาม : การใช้ยาสวนทางทวารหนัก (Rectal suppositories / Rectal enema) การใส่สายสวนปัสสาวะ (Urinary catheter) เพื่อทำการรักษาผู้ป่วย หรือตรวจและทำหัตถการแก่ผู้ป่วยในระหว่างการถือศีลอดทำให้เสียการถือศีลอด

ข้อมูลประกอบการพิจารณา

1. การสวนทางทวารหนักและทวารเบา เป็นวิธีทางการแพทย์ชนิดหนึ่ง อาจใช้ทั้งช่วยในการวินิจฉัยและการรักษาโรคเช่น การสวนสายยางหรือไฟเบอร์เข้าไปทางทวารหนัก จนไปถึงลำไส้ใหญ่เพื่อส่องดูว่ามีแผลหรือมีก้อนเนื้อผิดปกติหรือไม่ หลังจากนั้นอาจขูดหรือตัดแผลหรือชิ้นเนื้อนำมาพิสูจน์หาดูรอยโรคนั้นว่าเกิดจากอะไร เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป สำหรับกรณีช่วยการรักษาก็อาจทำได้โดยการสอดใส่ยาหรือสารบางอย่างเข้าไปทางสาย เพื่อเข้าไปถึงรอยโรคในลำไส้เพื่อรักษาได้หรืออาจใส่น้ำเกลือหรือสารบางอย่างเข้าทางทวารหนักเพื่อช่วยให้มีการถ่ายอุจจาระออกมาในผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังและใช้ยาถ่ายแบบรับประทานไม่ได้ผล

 2. การสวนทางเดินปัสสาวะหรือทวารเบาก็เช่นเดียวกันใช้ได้ทั้งช่วยในการส่องดูรอยโรคในทางเดินปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะใกล้เคียง รวมทั้งการใส่ยาเพื่อการรักษาและการสวนให้ปัสสาวะออกมาในผู้ป่วยทางเดินปัสสาวะอุดตัน ถ่ายปัสสาวะออกไม่ได้เป็นต้น

คำวินิจฉัย

พิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำวินิจฉัยดังต่อไปนี้การใช้ยาสวนทางทวารหนัก การเหน็บ หรือการสอดสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นวัตถุเข้าไปในช่องทวารหนัก เพื่อให้อุจจาระออกเป็นต้น และการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าสู่ช่องทวารเบาหรือทางเดินปัสสาวะ จะด้วยเหตุทำการรักษาผู้ป่วยหรือตรวจและทำหัตถการแก่ผู้ป่วยหรือเหตุอื่นใดในระหว่างการถือศีลอดของผู้ป่วย ย่อมทำให้เสียการถือศีลอดในทุกกรณีที่กล่าวมาตามคำวินิจฉัยของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์ ทั้งนี้ ในกรณีของการใช้ยาสวนทวารหนักหรือการเหน็บนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-ฮะนะฟีย์, อัล-มาลิกีย์และอัล-ฮัมบาลีย์ เห็นพ้องตรงกับนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์ว่าทำให้เสียศีลอด ส่วนกรณีของการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าสู่ช่องทวารเบาหรือทางเดินปัสสาวะนั้น นักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-ฮะนะฟีย์, อัล-มาลิกีย์และอัล-ฮัมบาลีย์เห็นตรงกัน

พิจารณาตามคำวินิจฉัยของปวงปราชญ์(ญุมฮูร อัล-อุละมาอ์) ข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า การใช้ยาสวนทางทวารหนักหรือการเหน็บ ทำให้เสียการถือศีลอด ส่วนการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าสู่ช่องทวารเบาหรือทางเดินปัสสาวะนั้น ไม่ทำให้เสียการถือศีลอดแต่อย่างใด (1)

อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี

อัพเดทล่าสุด