พระราชหฤทัยสู่ใจไทยมุสลิม
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรมุสลิมเสมอมา นับแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงใยราษฎรในจังหวัดชายแดนใต้ และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการสืบสานตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี โดยได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนพสกนิกรในจังหวัดชายแดนใต้อยู่เป็นนิจ ทรงพบว่า ราษฎรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภคและการทำเกษตรกรรมในช่วงหน้าแล้ง และเกิดน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือโดยเร่งด่วน เพื่อให้ได้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีรวมทั้งปรับปรุงสภาพดิน จัดหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงดูแลด้านการศึกษา สาธารณสุข คมนาคม และทรงติดตามความก้าวหน้าอย่างใกล้ชิด โดยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้คนไทยทุกเชื้อชาติศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนผืนแผ่นดินไทย
พระราชกรณียกิจวันที่ 1 กันยายน 2545 อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
ชีวิตใหม่ที่บ้านกูแบสีรา
บ้านกูแบสีรา ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีประชากรเพียง 555 คน 95 หลังคาเรือน เป็นชาวไทยมุสลิมทั้งหมด เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าราษฎรหมู่บ้านนี้ได้รับความทุกข์ยากแร้นแค้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยคุณภาพ ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายเนื่องจากฤดูฝนน้ำจะท่วมขังเรือกสวนไร่นาเพราะสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ถนนหนทางถูกตัดขาด ซ้ำร้ายฤดูแล้งไม่สามารถหาน้ำกินน้ำใช้ได้ น้ำในบ่อตื้นเขินเป็นสนิม ส่งผลต่อสุขภาพเริ่มเสื่อมโทรม จึงได้มีกระแสพระราชดำรัสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ โดย...
“ให้แก้ปัญหาเรื่องเร่งด่วนก่อนพร้อมทั้งศึกษาในภาพรวม เมื่อได้ศึกษาภาพรวมทั้งระบบแล้ว ให้ดูว่าส่วนใดจะแก้ไขอย่างไร และให้แก้ไขไปทีละส่วน เป็นขั้นเป็นตอน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้”
ไม่นานนักเหมือนหยาดฝนโปรยปรายลงบนพื้นดินที่แห้งผาก ทุกชีวิตที่เคยทุกข์ร้อนแร้นแค้นกลับเหมือนได้ชีวิตใหม่ มีการขุดลอกคลองระบายน้ำ 3 สายเพื่อระบายน้ำในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังและมีน้ำเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งและสามารถส่งไปในพื้นที่การเกษตรเพื่อให้ทำการเพาะปลูกหาเลี้ยงชีพได้อย่างต่อเนื่อง
มีการจัดทำผังฟาร์มเพื่อทำการเกษตรผสมผสานปรับปรุงดินด้วยอินทรีวัตถุ เพื่อเพิ่มผลผลิต มีการอบรมเรื่องการปลูกพืชต่าง ๆ และแปรรูปผลผลิต เลี้ยงโค เลี้ยงแพะ และสัตว์ปีก จัดตั้งศูนย์พัฒนาอาชีพรวมกลุ่มแม่บ้านร่วมกันทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ มีถนนลาดยางให้สัญจรไปมาสะดวก มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ลานกีฬาเอนกประสงค์ เริ่มมีระบบประปาหมู่บ้านเพื่ออุปโภค บริโภค แก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร ปรับปรุงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้สะอาดตามหลักสุขาภิบาล มีการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย คนพิการและเด็กในครอบครัวยากจน ส่งเสริมให้ได้เรียนหนังสือโดยปรับปรุงระบบการเรียนใหม่และสนับสนุนค่าพาหนะในการนำนักเรียนไปโรงเรียนในระดับสูงขึ้นในหมู่บ้านอื่น
และในวันที่ 28 กันยายน 2546 เป็นวันที่ราษฎรบ้านกูแบราสี มีความปลาบปลื้มปิติยิ่งนัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จ พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน สร้างความอบอุ่นใจในน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใย แม้จะอยู่ในที่ห่างไกลและแทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกก็ตาม
พระราชหฤทัยสู่ใจไทยมุสลิม
- ตอนที่๑ ชีวิตใหม่ที่บ้านกูแบสีรา
- ตอนที่๒ ร่มเย็นในบ้านร่มเย็น
- ตอนที่๓ ภัยใต้จุดประกายพระมหากรุณาธิคุณ
- ตอนที่๔ ดั่งหยาดทิพย์ชโลมใจ
- ตอนที่๕ ยังไง เราก็ต้องมา
news.muslimthaipost.com