อิสราเอลพึ่งสหรัฐ หวังเชื่อมสัมพันธ์อาหรับ


วอชิงตัน – เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นางฮิลารี่ คลินตั้น รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เร่งเร้าให้ชาติอาหรับส่งสัญญาณความพร้อม ที่จะเชื่อมสัมพันธ์ในระดับปกติกับอิสราเอล

อย่างไรก็ดี ในสุนทรพจน์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ คลินตั้นไม่ได้กล่าวย้ำให้อิสราเอลยุติขยายการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งจะเป็นการกดดันอิสราเอลในเรื่องดังกล่าว  แต่กลับพูดถึงการตระหนักว่า เป็นการเผชิญความท้าทายทางการเมืองของสหรัฐ ทุกครั้งที่คาดหมายปฏิกิริยาจากฝ่ายอิสราเอล

อิสราเอลพึ่งสหรัฐ หวังเชื่อมสัมพันธ์อาหรับ

โดยคลินตั้นกล่าวว่า กำลังร่วมมือกับอิสราเอลเพื่อจัดการกับประเด็นการตั้งถิ่นฐาน เพื่อปรับให้ความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ดีขึ้น และกำลังสร้างบรรยากาศของการนำไปสู่การก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่มั่นคง

ซึ่งน้ำหนักของสุนทรพจน์ที่มีผลต่อฝ่ายอิสราเอลครั้งนี้ อ่อนลงมากกว่าที่เธอเคยพูดเมื่อเดือนพฤษภาคม  แต่แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ที่จริงแล้วคลินตั้นไม่ได้เปลี่ยนท่าทีในเรื่องการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งจะเห็นว่าเธอได้กำหนดท่าทีของฝ่ายต่างๆ ไว้ในการดำเนินงานด้วย

คลินตั้นระบุว่า ความก้าวหน้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับสหรัฐ และอิสราเอลเท่านั้น แต่ปาเลสไตน์ต้องพัฒนาความมั่นคง และดำเนินการไม่ให้มีการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงกับอิสราเอล รวมทั้งรัฐอาหรับต้องรับผิดชอบในการสนับสนุนความชอบธรรมของปาเลสไตน์ ทั้งคำพูดและการกระทำให้เห็นจริง โดยการดำเนินขั้นตอนในการพัฒนาความสัมพันธ์กับอิสราเอล รวมทั้งตระเตรียมประชาคมให้พร้อมในการโอบอุ้มสันติภาพ และยอมรับความมีอยู่ของอิสราเอลในดินแดนนี้

เธอสรรเสริญความพยายามของซาอุดี้เมื่อปี 2002 ที่เรียกร้องให้รัฐอาหรับปรับความสัมพันธ์ขั้นปกติกับอิสราเอล เพื่อแลกกับการที่อิสราเอลจะคืนดินแดนที่ยึดครองไว้อย่างผิดกฎหมายในปี 1967 และการสนับสนุนก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ รวมทั้งการที่อียิปต์ กับจอร์แดนทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล เท่ากับเป็นการก้าวข้ามจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ซึ่งจะแผ้วถางทางไปสู่การตกลงสันติภาพ
แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ยังกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐไม่ได้กำลังหันไปเร่งเร้าให้รัฐอาหรับเป็นฝ่ายริเริ่มก่อน โดยทั้ง คลินตั้น และจอร์จ มิทเชลล์ (ผู้แทนพิเศษสหรัฐในตะวันออกกลาง) เห็นพ้องว่า ทุกฝ่ายควรริเริ่มพร้อมๆ กัน

ฝ่ายปาเลสไตน์ระบุว่า จะไม่ร่วมประชุมกับเนทันยาฮู จนกว่าอิสราเอลจะยุติขยายการตั้งถิ่นฐาน ปัจจุบันมีชาวอิสราเอล 280,000 คนในนิคมใหม่กว่า 100 แห่งทั่วเขตเวสต์ แบ๊งค์ และอีกกว่า 200,000 คนในเขตยึดครองเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับความพยายามริเริ่มสันติภาพ

ประชาคมโลกมีความเห็นว่า การตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลในเขตทั้งสอง ที่อิสราเอลยึดไว้หลังสงคราม 6 วันเมื่อปี 1967 เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายสากล เพราะเขตแดนทั้งสองไม่ได้เป็นของอิสราเอลมาแต่เดิม

อัพเดทล่าสุด