ตามที่จุฬาราชมนตรีประกาศ การกําหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล (วันอีดิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1440 จึงประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ใน
วันอีดิ้ลฟิตรี (วันฮารีรายอ) 2563 ตรงกับวันที่เท่าไหร่
ตามที่จุฬาราชมนตรีประกาศ การกําหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล (วันอีดิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1440 จึงประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ใน วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
หากเห็นดวงจันทร์ วันอีดิ้ลฟิตรี (วันฮารีรายอ) 2563 จะตรงกับ วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม หากไม่เห็นดวงจันทร์ วันอีดิ้ลฟิตรี (วันฮารีรายอ) จะตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2563
รอรายงานผลการดูดวงจันทร์ดังกล่าวจากสำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อได้ทราบโดยทั่วกันต่อไป
วันอีดิ้ลฟิตรี คือวันอะไร ทำไมมุสลิมจึงร่าเริงกันมาก
วันอีดิ้ลฟิตรี (eid al fitr) เทศกาลแห่งความสุขหลังเดือนรอมฎอน เมื่อเสร็จสิ้นการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนแล้ว จะมีการเฉลิมฉลองกันในวันที่ 1 ของเดือนเชาวาล เรียกว่า “วันตรุษวันอีดิ้ลฟิตรี” หรือ “วันออกบวช” หรือ “วันอีดเล็ก” ส่วนใน 3 จังหวัดภาคใต้ของไทย นิยมเรียกว่า “วันฮารีรายอ”
มุสลิมทุกคนจะฉลองกันอย่างสนุกสนาน หลังจากที่ถือศีลอดมานาน 1 เดือนเต็ม พิธีการทางศาสนาที่สำคัญในวันอีดิ้ลฟิตรี คือ การละหมาดวันอีด ซึ่งเป็นการละหมาดในช่วงเช้า เพื่อขอพรให้พระองค์อัลลอฮฺประทานความจำเริญแก่ชีวิต พร้อมทั้งขออภัยโทษในความผิดบาปต่างๆ
ภาพละหมาดอีดิ้ลฟิตรี (วันฮารีรายอ) :จากอินเทอร์เน็ต
ซึ่งมุสลิมส่วนใหญ่มักจะนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อเฉลิมฉลองวันอีดิ้ลฟิตรี ร่วมกับครอบครัวและญาติพี่น้อง เพื่อมะอัฟขออภัยซึ่งกันและกัน และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ หรือที่สะอาดสวยงาม
วันอีดิ้ลฟิตรี ถือเป็นวันรวมญาติครั้งยิ่งใหญ่ของพี่น้องมุสลิม โดยหลังจากละหมาดอีดในช่วงเช้าแล้ว จะมีการเลี้ยงอาหารเพื่อสังสรรค์กันในครอบครัว หรือเลี้ยงอาหารแก่บุคคลทั่วไป รวมทั้งมอบของขวัญ ของกำนัลแก่กันด้วย ทั้งในรูปของขนม สิ่งของต่างๆ และเงิน(ซะกาต/บริจาค) นอกจากนี้ก็ยังนิยมเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หรือไปเยี่ยมญาติตามต่างจังหวัด เพื่อแสดงความรักความห่วงใยที่มีต่อกัน และกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น
ภาพสลามขอมาอัฟกันหลังละหมาดอีดิ้ลฟิตรี :จากอินเทอร์เน็ต
บางประเทศได้ประกาศให้ “วันอีดิ้ลฟิตรี” เป็นวันหยุดราชการพร้อมกันทั้งประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งมีผู้นับถือศาสนาอิสลามกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ได้ประกาศให้ “วันอีด” เป็นวันหยุดราชการเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส เท่านั้น
และอีกสิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในเทศกาลแห่งความสุขหลังเดือนรอมฎอน คือ คำอวยพร โดยนิยมอวยพรซึ่งกันและกัน ดังนี้ “ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วามินกุม” เป็นภาษาอาหรับแปลว่า “ขออัลลอฮฺทรงตอบรับการงานที่ดีจากเราและจากท่าน” พร้อมทั้งมีการขออภัยในความผิดที่ได้กระทำต่อกันแล้วๆ มาด้วยคำว่า “ขอมาอัฟ” ซึ่งเป็นภาษามลายูแปลว่า “ขอโทษ” ส่วนคำว่า “อีดมุบาร็อก” นั้นมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า “สุขสันต์วันอีด” เช่นเดียวกับคำว่า “สลามัต ฮารีรายา / สลามัต ฮารีรายอ” ในภาษามลายู