การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ นายโมฮัมหมัด ปันนู มีอา คนขับรถลากชาวบังกลาเทศวัย 55 ปี ไม่มีอะไรเลยที่เป็นปกติ
โควิด-19 ทำให้ชาวมุสลิมจำต้องเปลี่ยนพิธีการศพ
การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ นายโมฮัมหมัด ปันนู มีอา คนขับรถลากชาวบังกลาเทศวัย 55 ปี ไม่มีอะไรเลยที่เป็นปกติ
หลังจากที่นายเอ็มดี ปาร์เวซ รีบนำตัวพ่อของเขาไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในกรุงธากา ในคืนวันที่ 30 มีนาคม เขาทำได้แต่เพียงยืนอยู่เบื้องหลังอย่างสิ้นหวัง ขณะที่พ่อของเขาจากโลกนี้ไป และร่างถูกนำไปฝัง
“เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่ได้นำศพพ่อมาให้เรา เพราะสงสัยว่าพ่ออาจตายด้วยไวรัสโคโรนา” ปาร์เวซ ช่างเชื่อมโลหะ วัย 21 ปี บอกแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์จากบ้านของเขา ในย่านนพาพคัญชะของกรุงธากา ขณะกักตัวเองอยู่ในบ้าน
บุคลากรการแพทย์สวดอธิษฐาน ให้แก่พ่อของเขาที่โรงพยาบาล และมีคนเพียงห้าหรือหกคนเท่านั้นภายในห้องนั้น” เขากล่าว
“ผู้ที่เข้าร่วมใน นามัซ-อี-จานาซา (การสวดศพของศาสนาอิสลาม) สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและหน้ากากครบชุด มีการสเปรย์ร่างของพ่อด้วยน้ำผสมน้ำยาฟอกขาว ก่อนที่จะห่อศพด้วยผ้าขาว จากนั้น ศพของพ่อถูกนำไปใส่ไว้ในกล่องใบหนึ่ง” ปาร์เวซกล่าว
วันต่อมา รถพยาบาลนำร่างของนายโมฮัมหมัดไปที่กุโบร์ ปาร์เวซได้รับอนุญาตให้ตามไปในรถพยาบาลอีกคันหนึ่ง
แต่คนอื่นในครอบครัวไม่ได้รับอนุญาตให้ไปด้วย
“พ่อของผมมีลูกสาวอีกสองคน แต่ทั้งสองไม่สามารถเห็นหน้าพ่อเป็นครั้งสุดท้ายได้ แม่ของผมไม่มีโอกาสแม้จะกล่าวคำอำลาครั้งสุดท้ายกับสามีของเธอ ผมเองก็ไม่สามารถแสดงความเคารพต่อพ่อเป็นครั้งสุดท้ายได้ นี่เป็นความล้มเหลวของผมด้วย” ปาร์เวซกล่าว
สมาชิกในครอบครัวของเหยื่อโควิด-19 ยืนดูด้วยความอาลัยอาวรณ์ ในระหว่างงานศพของผู้เสียชีวิตในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563
ตั้งแต่บังกลาเทศจนถึงฟิลิปปินส์ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นสองหรือสามเท่าตัว ชาวมุสลิมจำต้องสละพิธีกรรมในการอำลาผู้เสียชีวิต อันเป็นทุกข์ที่เพิ่มเติม นอกเหนือจากความสะเทือนใจ ความโศกเศร้า และมลทินจากการตกเป็นเหยื่อของไวรัสมรณะตัวนี้
การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้ชาวมุสลิมต้องเปลี่ยนพิธีการทางศาสนา นายบิน ลาเดน อะกา ข่าน ชารีฟ ชายชราชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่ง ในเมืองมาราวี ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าว
“จะอาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ศพไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์ “ในศาสนาอิสลาม ปกติแล้ว ต้องอาบน้ำหรือทำความสะอาดศพ เฉพาะซาฮีด หรือคนที่ตายจากการต่อสู้เพื่อศาสนาเท่านั้น ที่จะได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดนี้”
‘ทุกข์สองต่อ’
ในเมืองหลวงของบังกลาเทศ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแห่งนั้นได้โทรศัพท์ถึงปาร์เวซหลังจากนั้น เพื่อบอกให้ทราบว่าพ่อของเขาไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่เสียชีวิตจากภาวะปอดบวม
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า ภาวะปอดบวมเป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงของไวรัสโคโรนา
ผลการตรวจดังกล่าวไม่ได้ทำให้เพื่อนบ้านของเขา เชื่อว่าพ่อของเขาไม่ได้ตายจากโควิด-19 จริง ๆ ปาร์เวซ กล่าว
“ในเชิงสังคมแล้ว ครอบครัวเรากำลังเผชิญกับความลำบากใจอย่างหนึ่ง” เขากล่าว “จิตใจของเราเศร้าโศกเพราะการตายของพ่อ ขณะเดียวกันเราก็ไม่มีอาหารพอกินที่บ้าน นี่เป็นความทุกข์สองต่อ”
นายอานิส มาห์หมุด อธิบดีมูลนิธิอิสลาม กล่าวว่า ชาวมุสลิมที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ควรได้รับการตะยัมมุม (การลูบศพด้วยฝุ่น) เพื่อให้เป็นไปตามกฎของศาสนาอิสลาม ก่อนที่จะใช้น้ำยาฟอกขาวฉีดศพตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข
“มีคำสั่งให้ทำตามข้อกำหนดนี้ หลังจากที่ได้ปรึกษากับนักวิชาการผู้รอบรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์
ยอมรับได้
ในมาเลเซีย อีกประเทศหนึ่งที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อปลายเดือนมีนาคม กระทรวงสาธารณสุขได้ออกแนวทางการจัดการศพผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน หรือสงสัยว่าเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยกำหนดให้บุคลากรการแพทย์สวมหน้ากาก N95 กระจังกันใบหน้า ถุงมือ และแผ่นกันเปื้อน ทำการห่อศพด้วยผ้าลินินสีขาว และนำศพไปใส่ไว้ในถุงสองชั้น
แนวทางดังกล่าวระบุว่า สามารถใช้การ ตะยัมมุม แทนการอาบน้ำศพตามวิธีปกติของศาสนาอิสลามได้ การตะยัมมุม เป็นการทำความสะอาดศพเชิงสัญลักษณ์ โดยใช้ทรายหรือฝุ่นบริสุทธิ์ลูบที่ถุงห่อศพใบนอก
“ห้ามญาติของผู้เสียชีวิตสัมผัสศพโดยเด็ดขาด” กระทรวงสาธารณสุขกล่าว และเสริมว่า จะอนุญาตให้ญาติเพียงคนเดียวเท่านั้นเข้าไปดูศพเพื่อพิสูจน์บุคคล
“ตามพิธีการปกติ ผู้จัดการศพจะอาบน้ำให้ศพ จากนั้นจึงห่อศพในผ้าขาว ผู้จัดการศพจะลูบศพเพื่อให้แน่ใจว่าศพนั้นสะอาดพอ ก่อนที่จะ [ดำเนิน] ขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป และเตรียมศพสำหรับนำไปฝัง” นายซุลกิฟลิ โมฮัมหมัด อัล-บากรี รัฐมนตรีของมาเลเซียที่รับผิดชอบงานด้านศาสนาอิสลาม กล่าวเมื่อต้นเดือน
นายอาลีม ซาอัด อาเมต ประธานสมาคมอิหม่ามแห่งฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ชาวมุสลิมได้เรียนรู้ที่จะยอมรับการจัดการศพด้วยวิธีใหม่นี้แล้ว
ครอบครัวของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ศูนย์การแพทย์มินดาเนาเหนือ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ยินยอมสละธรรมเนียมอันเข้มงวดของศาสนาอิสลามในระหว่างการฝังศพ แต่ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ที่ให้เผาศพแทนการฝัง แต่ครอบครัวนี้ยอมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใส่ศพไว้ในถุงก่อนที่จะนำไปฝัง
“ชาวมุสลิมถือว่าการเผาศพเป็น ฮารอม (ข้อห้ามของศาสนาอิสลาม) แต่การใส่ศพไว้ในถุงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้” นายอาเมตกล่าว และกล่าวอีกว่า ครอบครัวนั้นโชคดีที่แพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งนั้นเข้าใจและเคารพธรรมเนียมการฝังศพของศาสนาอิสลาม
เจ้าหน้าที่นำศพชายผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่กุโบร์สรายอ ฝังที่กุโบร์บ้านสรายอ ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส วันที่ 27 มีนาคม 2563 [มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์]
อาบน้ำศพ แต่ไม่ถอดเสื้อผ้าออก
ในอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน สภาอูลามะแห่งอินโดนีเซีย (MUI) หน่วยงานสูงสุดทางศาสนาของอินโดนีเซีย กล่าวว่า ยังต้องทำการอาบน้ำศพร่างผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แต่ไม่จำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าออก
จากนั้น ควรใช้ผ้าห่อศพ ใส่ศพไว้ในถุงกันน้ำ และนำถุงศพไปใส่ในโลงศพที่อากาศเข้าออกไม่ได้ และนำโลงไปฝังโดยไม่นำถุงใส่ศพออกมาจากโลง สภาฯ กล่าว
ขณะเดียวกัน สภาดังกล่าวก็ออกมาบอกประชาชนว่า อย่ากลัวที่จะฝังร่างผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาใกล้ย่านอยู่อาศัยของตน หลังจากมีรายงานว่าบางชุมชนพยายามกีดกันงานศพของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19
“ประชาชนต้องยอมให้มีงานศพของเหยื่อไวรัสโคโรนาหรือการระบาดของโรคใดก็ตาม เพราะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูงเป็นผู้จัดการขั้นตอนเกี่ยวกับงานศพ ไม่ใช่ประชาชนธรรมดาทั่วไป” นายอันตัน ตาบาห์ ประธานคณะกรรมการด้านกฎหมายของ MUI กล่าว
เมื่อวันอาทิตย์ ราษฎรบางคนในจังหวัดโกวา สุลาเวสีใต้ ประท้วงการฝังศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และขับไล่รถพยาบาลคันหนึ่งที่ขนศพมา ภายหลัง ศพดังกล่าวได้รับการนำไปฝังในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง
ในประเทศไทย สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ประกาศให้ชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศ ปฏิบัติตามแนวทางและวิธีการชั่วคราวในพิธีการจัดการศพ จนกว่าจะมีการประกาศเพิ่มเติม
“ในกรณีของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ไม่อนุญาตให้ญาติและเพื่อนของผู้เสียชีวิตสัมผัสหรือจูบศพ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส” การจัดการกับศพจำเป็นต้องดำเนินไปตามหลักการแพทย์ทุกประการ และให้ทำตะยัมมุมแทนการอาบน้ำศพ” จุฬาราชมนตรีกล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง
การสวดและการเตรียมฝังศพต้องทำขึ้นที่โรงพยาบาลที่เสียชีวิต และควรใส่ศพในถุงที่อากาศเข้าออกไม่ได้และนำไปฝังโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แถลงการณ์นั้นกล่าว
ทางการของไทยกล่าวว่า จนถึงปัจจุบัน ในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย มีชาวมุสลิมอย่างน้อยห้าคนแล้วที่เสียชีวิตจากโควิด-19 บุคลากรของโรงพยาบาลเป็นผู้ทำการฝังศพเอง โดยห้ามไม่ให้ญาติมาไว้อาลัยที่สุสาน
นายอามิน ตะเลห์ พ่อค้ารายย่อย วัย 52 ปี ในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ครอบครัวของเขากลัวกันว่า ลุงของเขา ซึ่งป่วยหนักและสงสัยว่าอาจเป็นโควิด-19 อาจตายด้วยเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดติดต่ออย่างรวดเร็วชนิดนี้
“ครอบครัวจำต้องยอมรับความจริง ชาวมุสลิมต้องยอมรับโชคชะตา” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์
โนอาห์ ลี ในกรุงกัวลาลัมเปอร์, รอนนา นีร์มาลา ในกรุงจาการ์ตา และมารียัม อัฮหมัด ในจังหวัดปัตตานี ประเทศไทย ร่วมเขียนรายงาน
ที่มา: www.benarnews.org
- ตุรกีบังคับเคอร์ฟิว เฉพาะอายุต่ำกว่า 20 สั่งล๊อก 31 เมือง
- ไวรัสโควิด-19 สเปนช็อก! ตายวันเดียวกว่า 900 คน
- ซาอุฯ สั่งเลื่อนทำฮัจญ์-อุมเราะฮ์ ปีนี้
- กษัตริย์มาเลเซีย ไม่รับเงินประจำตำแหน่ง 6 เดือน ช่วยชาติ สู้ COVID-19
- COVID-19 มุสลิมพม่า เสนอมัสยิดเป็นที่กักตัว
- ยกเป็นฮีโร่! แพทย์ปากีสถาน เสียชีวิต 'COVID-19'
- ล้างมือ ป้องโควิด เป็นเรื่องยากในอินโดนีเซีย
- ไวรัสโคโรนา อินโดนีเซียยืนยัน 13 คน ติดเชื้อร่วมงานตับลีฆมาเลเซีย