
ปลุกไฟนักสืบทอด! Family Business Thailand รุ่นที่ 4 สุราษฎร์ธานี
ปลุกไฟนักสืบทอด! Family Business Thailand รุ่นที่ 4 สุราษฎร์ธานี
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดการอบรมหลักสูตร Family Business Thailand รุ่นที่ 4 เมื่อวันอังคารที่ 23 เมษายน 2568 ณ แก้วสมุย รีสอร์ท จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ของการทำธุรกิจครอบครัว การสร้างกลยุทธ์การบริหารธุรกิจครอบครัว รวมถึงเคล็ดลับ และโอกาสสร้างจุดแข็งของธุรกิจครอบครัวให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก คุณเกษียร ไลยโฆษิต ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต้อนรับและเปิดการอบรม
เสวนาถอดบทเรียนไก่ย่างจีระพันธ์ ไก่ย่างในตำนานกว่า 80 ปี โดย คุณบัญญัติ ทิพย์หมัด ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีระพันธ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผู้แทนพิเศษสมาคม-ด้านการพัฒนาโอกาสธุรกิจ สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม (TMTA)
“ไก่ย่างจีระพันธ์” ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2485 จากร้านไก่ย่างบนรถซูบารุเล็ก ๆ เดินสายขายในงานเทศกาลใหญ่ ๆ โดยเฉพาะงานวัดประจำจังหวัด จนได้ฉายาว่า “ไก่ย่างงานวัด” ถือเป็นแบรนด์มุสลิมยืนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างดีในแวดวงชาวมุสลิม รวมทั้งถูกปากผู้คนทุกกลุ่มที่ได้ลิ้มชิมรส เกือบ 80 ปีที่เปิดดำเนินงานมา “ไก่ย่างจีระพันธ์” ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤติมาเยอะ กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้
คุณบัญญัติ ทิพย์หมัด มีฐานะเป็นสามีของ ดร.อังคณา อาดำ ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ก่อตั้งไก่ย่างจีระพันธ์ หรือกล่าวได้ว่าคุณบัญญัติเป็นเขยของไก่ย่างจีระพันธ์ เส้นทางการพิสูจน์ตัวตนของคุณบัญญัติ เริ่มต้นจากการบริหารร้านไก่ย่างจีระพันธ์สาขาพระราม 9 โดยในช่วงเริ่มต้นจากเคยขายได้ยอดวันละ 6,000 บาท คุณบัญญัติบริหารกิจการมาจนสามารถสร้างยอดขายสูงสุดได้ถึงวันละ 120,000 บาท ด้วยผลลัพท์ที่สำเร็จเป็นที่ประจักษ์นี้ส่งผลให้คนในครอบครัวคนอื่นๆ เริ่มมีความเชื่อมั่นในตัวคุณบัญญัติ และเปิดใจยอมรับคุณบัญญติเข้ามาให้เป็นผู้บริหารธุรกิจไก่ย่างจีระพันธ์
อย่างไรก็ตาม การบริหารงานที่ต้องทำร่วมกับพี่น้องไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้เขาจะมีความเชื่อมันในตัวเรามีความศรัทธาในแบรนด์ก็ตาม เวลาเราทำงานร่วมกับพนักงาน ถ้าเขาไม่ทำงาน เราตักเตือนเขาได้ เราไล่ออกได้ แต่เมื่อเป็นพี่น้องกัน เราทำแบบนั้นไม่ได้ วิธีการแก้ไขปัญหาของคุณบัญญัติ เมื่อเกิดความคิดที่ขัดแย้งกันกับพี่น้อง จะเลือกใช้วิธีให้คนอื่นเป็นคนพูดแทน โดยการซื้อคอร์สอบรมต่าง ๆ ให้คนในครอบครัว เพื่อให้การอบรมนั้นเป็นโอกาสในการเปิดรับข้อมูลอะไรใหม่ ๆ และสร้างทัศนคติที่มีความกว้างมากขึ้นได้
หลักสำคัญอีกประการในการบริหารธุรกิจของคุณบัญญัติคือ เรื่อง Branding คุณบัญญัติเน้นย้ำตลอดช่วงการเสวนาในวันนี้ว่า เรื่องการสร้างโลโก้ การจดเครื่องหมายการค้า การจดทะเบียนชื่อร้าน การทำแบรนดิ้ง เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก รวมถึงเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงของครอบครัวในอนาคต หากธุรกิจประสบความสำเร็จ และผู้คนเกิดความโลภขึ้นมา
คุณบัญญัติได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อีกว่า ไก่ย่างจีระพันธ์วางแผนในอนาคตไว้ โดยพยายามสร้างความศรัทธา ซึ่งศรัทธาที่สร้างขึ้นไม่ใช่เพื่อให้แค่คนในครอบครัวเท่านั้น แต่เราพยายามสร้างศรัทธานั้นให้ส่งต่อได้ไปถึงพนักงานและครอบครัวของพนักงาน การดูแล การให้สวัสดิการต่าง ๆ ที่เหมาะสม การให้ทุนการศึกษากับพนักงาน รวมถึงบุตรของพนักงาน โดยเรามีความคาดหวังว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เรามอบให้ด้วยใจและความหวังดีนั้น จะสร้างความภักดีต่อแบรนด์ และอาจจะสามารถต่อยอดจนกระทั่งเราได้รับทรัพยากรบุคคลเหล่านั้น กลับมาทำงานร่วมกับแบรนด์ได้
หลักการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างสร้างสรรค์ โดย รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล รองอธิบดีอาวุโสสายงานธุรกิจองค์กร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
5 Innovative Tools เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างสร้างสรรค์
Tool 1 - การลบออก (Substraction)
เทคนิคการลบออก หรือ ยิ่งน้อยยิ่งดี สามารถใช้ได้กับทุกเรื่องโดยเริ่มจากการที่จะต้องแจกแจงองค์ประกอบให้ได้เสียก่อน แล้วเลือกองค์ประกอบที่สำคัญ หลังจากนั้นต้องลองลบองค์ประกอบที่สำคัญออกดู และทำการพิจารณาดูว่าการลบองค์ประกอบนั้นสามารถสร้างประโยชน์หรือคุณค่าใหม่ได้หรือไม่
Tool 2 - การแยกส่วน (Division)
เทคนิคการแยกส่วน หรือ แบ่งแยกแล้วพิชิต เป็นเทคนิคที่จะต้องลองพิจารณาแยกส่วนประกอบต่างๆ โดยการแยกส่วนแล้วเอามาประกอบใหม่ โดยสามารถแบ่งเป็นการแยกหน้าที่ การแยกชิ้นส่วน การแบ่งแยกส่วนงานต่างๆเป็นส่วนที่เล็กลง ผลของการแยกส่วนนั้นจำเป็นจะต้องสร้างประโยชน์หรือคุณค่าใหม่ได้
Tool 3 - การเพิ่มจำนวน (Multiplication)
เทคนิคการเพิ่มจำนวน หรือ มากแล้วดีขึ้น คือการคัดลอกองค์ประกอบ ไม่ใช่คุณสมบัติ การเพิ่มขึ้นนั้นคือการเพิ่มขึ้นขององค์ประกอบโดยเพิ่มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำการคัดเลือก โดยที่การคัดลอกและการเพิ่มขึ้นมานั้นจะต้องสร้างประโยชน์ หรือคุณค่าใหม่
Tool 4 - การรวมหน้าที่ (Task Univfication)
เทคนิคการรวมหน้าที่ หรือ ทำหนึ่งได้สอง คือการแยกองค์ประกอบ หรือกระบวนการ ดำเนินการโดยการเลือกองค์ประกอบหนึ่งอย่าง และทำการมอบหมายหน้าที่ใหม่ให้เพิ่มเติมเข้าไป โดยการกระทำนั้นจะเรียกว่าการรวมหน้าที่ ซึ่งการรวมหน้าที่นั้นจะต้องสร้างประโยชน์ หรือคุณค่าใหม่
Tool 5 - การเชื่อมโยง (Attribute Dependency)
เทคนิคการเชื่อมโยง หรือ นำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน มาเชื่อมกัน คือการรู้จักและสามารถแจกแจงคุณลักษณะต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และดำเนินการสำรวจความเชื่อมโยงของคุณลักษณะนั้นๆ กับสิ่งอื่นๆ เมื่อมองเห็นและสามารถเชื่อมโยงสิ่งนั้นได้ จะสร้างให้เกิดประโยชน์ และคุณค่าใหม่ขึ้น
แนวทางการพัฒนาธรรมนูญครอบครัวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดย ดร.สิริรัฐ บุญรักษา อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
การพัฒนาธรรมนูญครอบครัว
ธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution หรือ Family Charter) คือ ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการดูแล และกรอบการตัดสินใจร่วมกันของคนในครอบครัว โดยครอบคลุมประเด็นต่างๆ อันได้แก่ เจตนารมณ์หรือค่านิยมของคนในครอบครัว การจัดการความขัดแย้ง การแบ่งบทบาทความรับผิดชอบ การกำหนดขอบเขตระหว่างครอบครัว-ความเป็นเจ้าของ-ธุรกิจ ช่องทางการสื่อสารและกลไกการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้ว่า ธรรมนูญครอบครัวไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายโดยตรง แต่ควรสอดคล้องกับเอกสารกฎหมายอื่นๆ เช่น สัญญาผู้ถือหุ้น พินัยกรรม ข้อบังคับบริษัท เป็นต้น
องค์ประกอบของธรรมนูญครอบครัว
1 วัตถุประสงค์ ค่านิยม และเจตนารมณ์
ตัวอย่างคำถาม: การจัดทำธรรมนูญครอบครัวครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร / อะไรคือคุณค่าหลักที่เราทุกคนในครอบครัวยึดมั่นร่วมกันและใช้เป็นรากฐานในการดำรงอยู่ของครอบครัวและธุรกิจ / อะไรคือเป้าหมายสูงสุดของธุรกิจนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
2. ข้อกำหนดด้านครอบครัว
ตัวอย่างคำถาม: ท่านคิดว่าใครบ้านงที่ควรได้รับสิทธิ์และต้องปฏิบัติตามธรรมนูญฉบับนี้ / ท่านคิดว่ากฎเหล็กของบ้านเราคืออะไรบ้าง / หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นใครควรเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
3. ข้อกำหนดด้านธุรกิจและการสืบทอด
ตัวอย่างคำถาม: ท่านคิดว่าอะไรทำให้เราทำงานร่วมกันได้อย่างมืออาชีพ / ท่านคิดว่าเราควรเตรียมความพร้อมเพื่อทายาทของเราอย่างไรบ้าง / ท่านคิดว่าผู้นำธุรกิจในอนาคตควรเป็นสมาชิกครอบครัวหรือมืออาชีพ
4) ข้อกำหนดด้านความเป็นเจ้าของ
ตัวอย่างคำถาม: ท่านคิดว่าอะไรเป็นทรัพย์สินกองกลางของบ้านเรา / ท่านคิดว่าหุ้นของบริษัทเราสามารถขายให้บุคคลภายนอกได้หรือไม่
5) ข้อกำหนดด้านกรรมการครอบครัว
ตัวอย่างคำถาม: ท่านคิดว่ากรรมการครอบครัวควรมีบทบาทหน้าที่อย่างไรบ้าง / ท่านคิดว่ากรรมการครอบครัวควรยึดหลักอะไรในการตัดสินใจ
ธรรมนูญครอบครัวควรเป็นกฎ กติกา ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ดังนั้นการจัดทำธรรมนูญครอบครัวจึงต้องมาจากการจัดทำร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว บนพื้นฐานของความเข้าใจถึงความต้องการของสมาชิกครอบครัวแต่ละคน โดยในกระบวนการจัดทำอาจมีที่ปรึกษาเข้าร่วมวางแนวทางและจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติ (workshop) ร่วมกัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแสดงความเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ระยะเวลาในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวจะอยู่ที่ประมาณ 6-12 เดือน