สัมพันธภาพที่เหินห่างส่งผลให้ไทยกับซาอุดิอาระเบีย ห่างเหินกันมาเป็นเวลาเนิ่นนานเกือบสามสิบปี แม้จะมีความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กันในมิติต่าง ๆ แต่ก็ไร้วี่แววที่ความแนบแน่นดังเช่นในอดีตจะกลับคืนมา
ฮาลาลสมานสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ
สัมพันธภาพที่เหินห่างส่งผลให้ไทยกับซาอุดิอาระเบีย ห่างเหินกันมาเป็นเวลาเนิ่นนานเกือบสามสิบปี แม้จะมีความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กันในมิติต่าง ๆ แต่ก็ไร้วี่แววที่ความแนบแน่นดังเช่นในอดีตจะกลับคืนมา แต่ทว่าเมื่อไม่นานมานี้มีสัญญาณที่พอจะส่อเค้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อมีผู้ประกอบการที่ประเทศซาอุฯ แจ้งมาว่าขณะนี้การส่งออกของไทยได้รับไฟเขียวขณะเดียวกันมีการให้ไฟเขียวกับนักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย ที่เดินทางมาไทย ซึ่งพอจะตั้งข้อสังเกตได้ว่าสัญญาณนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ดร.อับดุลเราะฮ์มาน บิน อับดุลเลาะฮ์ อัล-ซาอิด เดินทางมาร่วมงาน Thailand Halal Assembly 2018 เมื่อปลายปี 2561 ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยร่วมกันจัดขึ้น เป็นการประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลร่วมกับงานแสดงสินค้าฮาลาลจากทั่วโลก (EXPO) โดยจะจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี
ในงานมีการเชิญองค์กรฮาลาลจากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรด้านควบคุมมาตรฐาน ฮาลาลของกลุ่มประเทศมุสลิม (OIC) ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยภายใต้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้เข้าไปเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ยังมีองค์กรสันนิบาตโลกมุสลิม (Muslim World Legue-MWL) หรือ อัล-รอบิเฏาะฮ์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซาอุฯได้ส่งผู้แทน ดร.อับดุลเราะฮ์มาน บิน อับดุลเลาะฮ์ อัล-ซาอิด (Dr.Abdul Rahman bin Abdullah Al Zaid) มาร่วมเป็นเกียรติในงานในนามของ MBS (มกุฏราชกุมาร บินซัลมาน)
“ผมยอมรับเลยว่า ตอนนั้นไม่ทราบว่าท่านมีความสำคัญระดับไหน เพราะเราไม่อาจตรวจสอบได้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สถานทูตราชอาณาจักรซาอุดี้ฯ ได้แจ้งให้ทราบ ในพิธีเปิดงาน THA 2018 ท่านประกาศว่ารัฐบาลซาอุฯ จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องของฮาลาล โดยการตั้งองค์กร “มักกะฮ์ อัล-มุกัรรอมะฮ์ ฮาลาล” ดำเนินการโดยมุสลิมเวิร์ลลีกหรือ อัล-รอบิเฏาะฮ์ และต่อไปการส่งออกผลิตภัณฑ์เข้าประเทศซาอุฯ จะผ่านองค์กรนี้ซึ่งจะดูแลเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่จะส่งเข้าไป ต่อไปประเทศไทยสามารถส่งสินค้าตรงเข้าซาอุฯ ได้โดยไม่ต้องผ่านประเทศอื่นแล้ว และเขาอนุมัติให้ผู้ประกอบการของเขา นักการทูตและบุคคลอีก 6 กลุ่มที่จะเข้ามาประเทศไทยได้อย่างสะดวกและอิสระ ถือว่าเรื่องของความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มนับ 1 แล้ว” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวด้วยความปลื้มปิติ
“ในระหว่างที่ ดร.อับดุลเราะฮ์มาน อยู่ในประเทศไทย ท่านได้เดินทางมาที่ศูนย์วิทย์ฯ เข้าชมห้อง Lab และพูดคุยกับนักวิทย์ฯ ของเรา ท่านถามผมด้วยคำถามที่แสดงความสนใจและประหลาดใจในเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เห็นทั้งหมดซึ่งเป็นแบบระดับมาตรฐานโลก แปลกใจที่ว่าเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจที่แตกต่างกันแต่มารวมกันได้ในที่เดียว คือเรื่องของฮาลาลไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงแค่อาหาร แต่แล็ปอาหาร แล็ปเภสัชกรรม แล็ปคอสเมติก นาโนและพวกเสื้อผ้าซึ่งมีเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสารเคมีที่ต่างกัน แต่ที่ ศวฮ.มีเครื่องมือที่แตกต่างกันครบครันรวมอยู่ในที่เดียวกัน ท่านถามผมว่า เครื่องไม้เครื่องมือนี่ใครเป็นผู้จัดหาให้ ผมตอบว่ารัฐบาลไทยให้การสนับสนุน ท่านถามกลับมาว่า รัฐบาลไทยที่ไม่ได้เป็นมุสลิมนั่นหรือ ผมจึงเริ่มอธิบายว่าเราได้รับการสนับสนุนมาโดยตลอด ประเทศเราไม่มีเรื่องของการแบ่งแยก ถ้าเราเกิดในประเทศนี้เรามีโอกาสที่จะก้าวขึ้นไปทำงานในตำแหน่งระดับประเทศได้ ผมยกตัวอย่างความขัดแย้งใน 3 จังหวัดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเลย เรามีศูนย์วิทย์ฯ สาขาปัตตานีด้วย คนของเราก็ทำงานที่นั่นได้ไม่มีปัญหา ก็ได้อธิบายให้เขาฟังว่าประเทศไทยดูแลมุสลิมอย่างไร เรื่องธนาคาร เรื่องศูนย์วิทย์ฯ ที่เราทำงานมาจนได้รับการยอมรับว่าเป็นที่หนึ่งของโลก” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าว
ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนซึ่งสนับสนุนว่าฮาลาลจะสมานสัมพันธภาพและมีทีท่าว่าจะยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นไปอีก นั่นก็คือการจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ซาอุฯ
“ดร.อับดุลเราะฮ์มาน ได้พูดกับผมว่า ในเรื่องของการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ซาอุฯ อาจจะต้องอาศัยศูนย์วิทย์ฯ ในการเริ่มต้น ซึ่งท่านอาจจะส่งคนมาดู หรือจัดให้ทางเราไปสนับสนุนโดยตรง” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวเสริม
การที่ประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งถือว่าเป็นประเทศมุสลิมที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 การขยับตัวครั้งนี้ไม่ต่างอะไรกับยักษ์ขยับ การประกาศว่าจะทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและฮาลาล แน่นอนที่สุด ซาอุฯ จะเป็นฮาลาลอันดับ 1 และที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งคือ ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง มักกะฮ์ อัล-มุกัรรอมะฮ์ กับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เคยริบหรี่เริ่มที่จะมีแสงเรืองรองขึ้นแล้ว และหากความสัมพันธ์นี้ได้รับการฟื้นฟูให้อยู่ในระดับปกติ โอกาสของประเทศไทยทั้งในด้านการส่งออกสินค้า แรงงาน การเกษตรฯลฯ จะกลับมาสดใสอีกครั้งดังเดิม อินชาอัลเลาะฮ์
- THA2018 เชื่อมสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย แสนอบอุ่น!!!
- Thailand Halal Assembly 2018…ยกระดับฮาลาลไทยสู่ยุคสมัยฮาลาลแม่นยำ
- งาน THA 2018 อีกหนึ่งสัญญาณฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ
- งานใหญ่แห่งปีที่รอคอย Thailand Halal Assembly 2018
- เปิดห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
- ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กับงาน Thailand Halal Assembly