ประมาณหลังเที่ยงคืนวันนี้ (4 มิถุนายน 2562) จนเกือบเช้า มีคนจำนวนมากโทรถามมาว่า จะให้ออกอีดตามจุฬาฬาราชมนตรีหรือจะตามซาอุดิอาระเบียดี ?
ทำไมผมจึงเลือกออกอีดิ้ลฟิฏรีตามจุฬาราชมนตรี
บทความโดย: อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ประมาณหลังเที่ยงคืนวันนี้ (4 มิถุนายน 2562) จนเกือบเช้า มีคนจำนวนมากโทรถามมาว่า จะให้ออกอีดตามจุฬาฬาราชมนตรีหรือจะตามซาอุดิอาระเบียดี ?
ผมตอบว่า เป็นสิทธิ์ของท่านที่จะเลือกตามใคร
แต่สำหรับผม ขอเลือกออกอีดตามคำประกาศของท่านจุฬาราชมนตรีครับ
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้เขียนเพื่อหักล้างความเชื่อของใคร และไม่ได้คัดค้านสิทธิ์ในการออกอีดตามซาอุฯของใคร
แต่เป็นเหตุผลส่วนตัวของผมที่ขอเลือกออกอีดตามประกาศของท่านจุฬาฯ (ซึ่งอาจแตกต่างกับเหตุผลของผู้ที่ออกอีดตามซาอุฯ)
เหตุผลที่ผมเลือกออกอีดตามประกาศสำนักจุฬาฯ ในวันพรุ่งนี้ มีดังนี้
1. เพราะไม่เชื่อ “ข่าว” การเห็นเดือนภายในประเทศไทย
2. เพราะการออกอีดตามประกาศผู้นำมุสลิมในประเทศ (คือท่านจุฬาราชมนตรี) สอดคล้องกับหลักฐานจากหะดีษในทุกมิติ
รายละเอียดของทั้ง 2 กรณี มีดังต่อไปนี้
(1) ผมไม่เชื่อ “ข่าว” การเห็นเดือนภายในประเทศไทยเมื่อคืน เช่นมีข่าวเห็นเดือนที่ภูเก็ต, ที่เชียงใหม่ และที่อื่นอีกบางแห่ง
เหตุผลที่ผมไม่เชื่อข่าวการเห็นเดือนในประเทศ เพราะ
ก. การอ้างเห็นเดือนเสี้ยวเมื่อคืน ขัดแย้งกับคำนวณดาราศาสตร์ “ทุกสำนัก” ในประเทศไทยที่รายงานตรงกันว่า เมื่อคืนประเทศไทยไม่สามารถเห็นเดือนเสี้ยวได้
ข. เพราะข่าวการเห็นเดือนนั้น ขาดความน่าเชื่อถือตามหลักการ
ขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงได้ยินคำว่า “วันชักก์” (يوم الشك หรือวันแห่งความสงสัย) อันเป็นวันที่ท่านศาสดาห้ามถือศีลอด
คำถามคือ “วันชักก์” คือวันอะไร ?
นักวิชาการได้ให้คำนิยามของคำว่าวันชักก์ (يوم الشك ) แตกต่างกัน แต่ที่ผมเห็นว่าน่าจะใกล้เคียงต่อความถูกต้องที่สุดก็คือ คำนิยามในหนังสือ “الباجورى” อันเป็นตำราฟิกฮ์มัษฮับชาฟิอีย์ มีข้อความว่า
“วันชักก์ (يوم الشك) ก็คือ วันที่ 30 เดือนชะอฺบาน เมื่อในคืนนั้นไม่มีการ(แจ้งข่าว)เห็นเดือนเสี้ยว ทั้งๆที่อากาศโปร่ง แต่ประชาชนมาวิพากษ์วิจารณ์กันว่า มีการเห็นเดือนเสี้ยว”
(ดูหนังสือ “อัล-บาญูรีย์” เล่มที่ 1 หน้า 295)
อย่างเมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ข่าวว่ามีผู้เห็นเดือนเสี้ยวที่ภูเก็ตบ้าง, ที่เชียงใหม่บ้าง, ที่จังหวัดอื่นๆบ้าง
ปัญหาก็คือ ผู้ที่อ้างว่าเห็นเดือนเสี้ยวนั้นคือใคร ?, เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง, เป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม, เป็นผู้มีคุณธรรมพอที่จะเชื่อถือคำพูดของเขาหรือไม่ ?, และเขาไปแจ้งยืนยันการเห็นเดือนของเขาต่อประธาน
กรรมการจังหวัดที่ตนเองอยู่หรือไม่ ?
ข้อสงสัยดังกล่าวนี้ ไม่ปรากฏมีคำตอบหรือข้อยืนยันจากผู้ใดเลย
ปรากฏการณ์ “ข่าวลือ” ดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในปลายเดือนรอมะฎอน จึงมีลักษณะคล้ายๆกับวันชักก์ของปลายเดือนชะอฺบานดังคำนิยามข้างต้น
คือไม่แน่นอน, ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือตามหลักการ
และนี่คือเหตุผลที่ผมไม่ยอมรับ “ข่าวลือ” เรื่องการเห็นเดือนเสี้ยวในประเทศเมื่อคืน
(2) เพราะผมถือว่า การออกอีดตามประกาศผู้นำมุสลิมในประเทศของเราเอง สอดคล้องกับหลักฐาน ทั้งจากหะดีษ, จากคำอธิบายของนักวิชาการหะดีษทั้งอดีตและปัจจุบันในทุกมิติ อาทิเช่น
1. ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองมดีนะฮ์ ปฏิเสธที่จะออกอีดตามการเห็นเดือนเสี้ยวของท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม ตามการเสนอแนะของท่านกุร็อยบ์
นักวิชาการผู้บันทึกหะดีษกุร็อยบ์เกือบทั้งหมด ไม่ว่าท่านมุสลิม, ท่านอัน-นซาอีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ เป็นต้น กล่าวสอดคล้องกันว่า หะดีษบทนี้คือหลักฐาน “อนุญาตให้แต่ละเมือง มีสิทธิ์ดูเดือนเสี้ยวของตนเองได้”
2. ท่านอัต-ติรฺมีซีย์กล่าวว่า มีการปฏิบัติกันตามหะดีษบทนี้(หะดีษกุร็อยบ์) สำหรับบรรดานักวิชาการ นั่นคือ สำหรับชาวเมืองใด ก็ให้พวกเขาดูเดือนของพวกเขาเอง (จบคำพูดของท่านอัต-ติรฺมีซีย์)
ท่านเจ้าของหนังสืออัล-มันฮัลฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า นี่คือ สิ่งที่เหมาะสมที่สุด เพราะประชาชนทุกๆกลุ่ม จะถูกสั่งให้เห็นเดือนเสี้ยวของพวกเขาเอง ดังนั้น ชาวอียิปต์ ก็ไม่จำเป็นต้องตามการเห็นเดือนของชาวมักกะฮ์, และชาวมอร็อคโค ก็ไม่จำเป็นต้องตามการเห็นเดือนของชาวอียิปต์ เป็นต้น”
3. ท่านมุสลิมกล่าวว่า “บทว่าด้วยการอธิบายว่า สำหรับแต่ละเมือง ก็ให้ชาวเมืองดูเดือน (เพื่อกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีด) ของตนเอง, และเมื่อพวกเขาเห็นเดือนเสี้ยว หุก่มการเห็นเดือนของพวกเขา (คือวาญิบถือศีลอดหรือวาญิบออกอีด) ก็จะเป็นที่กำหนดสำหรับเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลจากพวกเขาไม่ได้”
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ (สิ้นชีวิตปีฮ.ศ. 676)ได้กล่าวในการอธิบายการตั้งชื่อบทหะดีษของท่านมุสลิมข้างต้นว่า
“ในบทนี้ มี (กล่าวถึง) หะดีษของท่านกุร็อยบ์, จากท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ..ซึ่งหะดีษบทนี้ ชัดเจนในการสื่อความหมายของการตั้งชื่อบท”
(จากหนังสือ “ชัรฺหุมุสลิม” ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 7 หน้า 197)
4. ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เช่นกันว่า หะดีษกุร็อยบ์คือหลักฐานบ่งชี้เรื่องอนุญาตให้แต่ละเมือง มีสิทธิ์ดูเดือนเสี้ยวของตนเองได้
5. ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ได้กล่าวในหนังสือ “มัจญมุอฺ อัล-ฟะตาวีย์” เล่มที่ 25 หน้า 114 ของท่าน มีความหมายว่า การถือศีลอดและการออกอีดตามผู้นำในประเทศของตนเอง เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักฐานมากที่สุด
6. นักวิชาการระดับโลกในกลุ่มประเทศอาหรับยุคปัจจุบันทั้งหมด เช่นท่านเช็คบินบาส, ท่านเช็คอุษัยมีน, ท่านเช็คเฟาซาน, ท่านเช็คอัล-อัลบานีย์, ท่านเช็คมุนัจญิด เป็นต้น ให้คำฟัตวา “ตรงกัน” ว่า มุสลิมที่อยู่ในประเทศใด ให้ถือบวชและออกอีดตามผู้นำและพร้อมกับประชาชนในประเทศของตนเอง .. ไม่จำเป็นต้องไปตามการดูเดือนเสี้ยวของประเทศซาอุฯหรือประเทศอื่นใดทั้งสิ้น
7. พระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ในเรื่องการถือศีลอดที่มีความหมายว่า .. “พระองค์อัลลอฮ์ทรงประสงค์จะให้เกิดความสะดวกแก่พวกเจ้า และพระองค์ไม่พึงประสงค์จะให้เกิดความยากลำบากแก่พวกเจ้า”
ผมมองว่า การที่เราได้รับข่าวการดูจันทร์เสี้ยว (ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น) หลังจากพระอาทิตย์ตกดินไม่นาน นั่นคือ “ความสะดวก” ที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงมอบให้มุสลิมในการดูเดือน
ส่วนการนั่งถ่างตา คอยติดตามข่าวการดูเดือนจากประเทศนั้นประเทศนี้จากวิทยุหรืออินเตอร์เน็ตจนเลยเที่ยงคืนหรือเกือบรุ่ง - แถมสุดท้าย บางครั้งก็ไม่มีข่าวเห็นเดือนอีก - ผมว่า นั่นคือส่วนหนึ่งของ “ความยากลำบาก” ที่พระองค์อัลลอฮ์ไม่พึงประสงค์จะให้มีแก่พวกเราในการถือศีลอด ตามนัยยะของโองการข้างต้นนี้
ส่วนกรณีของญุมฮูรฺหรือนักวิชาการส่วนใหญ่ทั้ง 3 มัษฮับ (ได้แก่มัษฮับหะนะฟีย์, มัษฮับมาลิกีย์ และมัษฮับหัมบะลีย์) นั้น ผมตรวจสอบดูแล้ว พบว่า สำหรับพวกท่านในเรื่องการดูเดือนเสี้ยว จะมี 2 ประเด็นด้วยกันคือ
1. ทัศนะ
2. เงื่อนไข
“ทัศนะ” ของญุมฮูรฺก็คือ ที่ใดในโลกนี้เห็นเดือนเสี้ยว ก็ให้ประเทศอื่นๆ – ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล - จำเป็นจะต้องถือบวชออกบวชตามประเทศที่เห็นนั้น
ส่วน “เงื่อนไข” ของญุมฮูรฺเกี่ยวกับการตามการเห็นเดือนเสี้ยวของต่างประเทศก็คือ ต้องมีการแจ้งข่าวอย่าง “เป็นทางการ” (หมายถึงมีพยานที่มีคุณธรรม) จากประเทศที่เห็น มายังผู้นำประเทศที่ไม่เห็น และผู้นำอิสลามในประเทศที่ไม่เห็นยอมรับ แล้วประกาศให้ประชาชนในประเทศของตนปฏิบัติตาม
(ดูข้อมูลจากหนังสือ “ฟิกฮ์ 4 มัษฮับ” เล่มที่ 1 หน้า 500, หนังสือ “อัล-มันฮัลฯ” เล่มที่ 10 หน้า 51, และหนังสือ “อัล-ฟิกฮุ้ลอิสลามีย์” เล่มที่ 2 หนน้า 606)
แต่หากมีเพียงรับฟังการแจ้ง “ข่าว” (ไม่ว่าจากทางวิทยุ, อินเตอร์เน็ต หรือทางไหนก็ตาม) ว่า ประเทศนั้นประเทศนี้มีการเห็นเดือน ถือว่านั่นเป็นเพียง “ข่าว” ที่ไม่วายิบต้องปฏิบัติตาม
(ดูข้อมูลจากหนังสือ “อัล-ฟิกฮุ้ลอิสลามีย์” เล่มที่ 2 หนน้า 606)
สรุปว่า เรื่อง “ตามการเห็นเดือนต่างประเทศ” ตามทัศนะญุมฮูรฺนั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่มีนักวิชาการแม้แต่ท่านเดียวกล่าวว่าห้ามตามการเห็นเดือนต่างประเทศ
แต่ปัญหาก็คือ “วิธีการ” ตามการเห็นเดือนต่างประเทศนั้น ญุมฮูรฺกำหนดให้ตามการเห็นเดือนต่างประเทศอย่างไร ?
ตามได้ “โดยอิสระ” อย่างที่มีการปฏิบัติกันในประเทศไทย ?
หรือตามได้โดย “ต้องผ่านการยอมรับขององค์กรผู้นำอิสลามในประเทศของตนเอง” ?
คำตอบที่ถูกต้องก็คือ “ข้อหลัง” ดังข้อมูลที่ผ่านมาแล้ว
เพราะฉะนั้น การที่ผมไม่ตามการเห็นเดือนเสี้ยวจากต่างประเทศ ผมถือว่าผมทำถูกต้องตามเงื่อนไขของญุมฮูรฺแล้ว
เพราะที่ผ่านมาทุกครั้งและทุกปี เรื่องการเห็นเดือนจากต่างประเทศล้วนเป็นเพียง “ข่าว” จากอินเตอร์เน็ตเท่านั้น
ไม่เคยปรากฏมีผู้น่าเชื่อถือคนใดจากประเทศที่เห็นเดือนมาแจ้งข่าวการเห็นเดือนแก่ผู้นำมุสลิมของเราในประเทศไทย – ตามเงื่อนไขของญุมฮูรฺ - แม้แต่ครั้งเดียว
การที่ผมไม่ปฏิบัติตามการเห็นเดือนทางอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่ผมไม่เชื่อข่าวการเห็นเดือนจากอินเตอร์เน็ต
เหมือนอย่างที่ท่านอิบนุอับบาสปฏิเสธข้อเสนอของท่านกุร็อยบ์ ก็มิใช่เพราะท่านไม่เชื่อคำบอกเล่าของท่านกุร็อยบ์เรื่องการเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม
ท่านอิบนุอับบาส เชื่อคำบอกเล่าของท่านกุร็อยบ์สนิทใจครับ
แต่ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า การที่ท่านไม่ทำตามข้อเสนอแนะของท่านกุร็อยบ์ เพราะ “ท่านปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม”
และนี่จึงเป็นที่มาของวาทกรรมที่ว่า เรื่องการดูเดือน เป็นเรื่องประเทศใครประเทศมัน
ผมก็เห็นจะต้องกล่าวเช่นเดียวกันว่า ที่ผมไม่ตามข่าวการเห็นเดือนจากต่างประเทศทางอินเตอร์เน็ต เพราะผมปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ได้สั่งท่านอิบนุอับบาสไว้ ......
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมไหน ผมถือว่า การเริ่มถือบวชรอมะฎอนและออกอีดฟิฏรี่ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี เป็นสิ่งที่มีน้ำหนักแห่งความถูกต้องและสอดคล้องกับหะดีษทุกบทที่มีรายงานมาเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุดครับ
ขอเรียนอีกครั้งว่า ข้อมูลทั้งหมดข้างต้นผมไม่ได้นั่งเทียนเขียนเขียน แต่ล้วนเอามาจากอูละมาอฺทั้งสิ้น และข้อเขียนข้างต้นก็เป็นเหตุผลส่วนตัวของผม ไม่ได้พาดพิงถึงใครและไม่ได้หักล้างทัศนะหรือความเชื่อของใครทั้งสิ้น โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย
วัลลอฮุ อะอฺลัม
ปราโมทย์ ศรีอุทัย
4/6/62
- ประชาคมรามคำแหง ตะลึง!! มุสลิมร่วมละหมาดมัสยิดแทบแตก
- ทูตซาอุฯ ให้เกียรตินำละหมาดอิดิ้ลฟิตรี มุสลิมไทยเข้าร่วมล้นหลาม!
- เหตุใดมุสลิมออสเตรเลีย ยึดออกบวชตามประเทศอื่น แจ้งทางการ 5 มิ.ย.
- มุสลิมอังกฤษ เตรียมฉลองวันอีดในวันพรุ่งนี้!
- มัสยิดในเวลส์ รักษ์โลกเลิกใช้พลาสติกช่วงเดือนรอมฎอน
- ประเทศใดบ้างประกาศออกอีด (วันอิดิ้ลฟิตรี) 5 มิ.ย.
- ประเทศมาลี นำออกอีดฟิตริ ประเทศแรกในโลก
- ประกาศวันหยุดราชการ วันอีดิ้ลฟิตรี (รายอ ) หยุดทุกคน
- Ma Shaa Allah หนูน้อยวัย5ขวบ ท่องอัลกุรอานได้ทั้งเล่ม(30ญุซ)