ซูดานกำลังอยู่ภายใต้วิกฤตการเมืองหลังจากที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุม
ในซูดานมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารต่อเนื่องมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลทหารกับประชาชนฝ่ายต่อต้านก็เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากการที่ฝ่ายทหารเริ่มใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมดอย่างน้อย 118 ราย มีคนถูกข่มขืน 70 ราย และอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บ มีสื่อของอิหร่านรายงานว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปเปิดฉากยิงประชาชนถึงในสถานพยาบาลและมีการนำร่างของผู้เสียชีวิตบางส่วนไปทิ้งในแม่น้ำไนล์
ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ตัวแทนฝ่ายผู้ประท้วงได้เจรจาหารือกับฝ่ายกองทัพซูดานว่าใครควรจะได้ปกครองซูดานหลังจากที่มีการโค่นล้มประธานาธิบดี โอมาร์ อัลบาชีร์ (Omar al-Bashir)ผู้เคยปกครองซูดานมายาวนาน แต่หลังจากการปราบปรามผู้ชุมนุม ฝ่ายกองทัพก็กล่าวว่าพวกเขาได้ยกเลิกข้อตกลงทั้งหมดกับฝ่ายต่อต้าน และจะสั่งให้มีการเลือกตั้งภายใน 9 เดือนนี้ แต่ฝ่ายผู้ประท้วงยืนยันว่าควรจะมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม
หลังจากที่กองทัพใช้กำลังสังหารผู้ชุมนุม ประเทศซูดานโดยส่วนใหญ่ก็หยุดชะงักเพราะฝ่ายต่อต้านโต้ตอบด้วยการเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานอย่างไม่มีกำหนด ท่ามกลางภาวะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็มีการรับตัวแทนจากเอธิโอเปียเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางและการเจรจาระหว่างสองฝ่ายก็มีโอกาสเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในเร็วๆ นี้
เรื่องราวความขัดแย้งล่าสุดมีที่มายาวนานตั้งแต่ในช่วงเดือน ธ.ค.2561 เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชีร์ออกมาตรการรัดเข็มขัดฉุกเฉินในการพยายามสกัดกั้นปัญหาเศรษฐกิจล่มจม มีการตัดงบประมาณอุดหนุนด้านขนมปังกับเชื้อเพลิงส่งผลให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นและเกิดภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิง สิ่งที่กระทบมาตรฐานคุณภาพชีวิตนี้เองกลายเป็นชนวนให้มีการประท้วงในภาคตะวันออกของประเทศ และความไม่พอใจก็แผ่ขยายมาถึงคาร์ทูมในเวลาต่อมา หลังจากนั้นการประท้วงก็ยกระดับวัตถุประสงค์กลายเป็นการประท้วงขับไล่บาชีร์และรัฐบาลของเขาที่อยู่ในอำนาจมา 30 ปี
BBC ระบุว่าการประท้วงมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ประท้วงที่ลานหน้าศูนย์บัญชาการกองทัพเรียกร้องให้กองทัพโค่นล้มบาชีร์ และในอีก 5 วันถัดมากองทัพก็ทำตามที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง
สื่อ CNN ระบุว่า "มรดกตกทอดของบาชีร์คือหน้าหนึ่งของความโหดร้ายและความเจ็บปวดของมนุษย์" บาชีร์ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลเดิมของซูดานในปี 2532 และถึงแม้ว่าบาชีร์จะได้รับเลือกเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกหลายครั้ง แต่กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนก็เปิดเผยว่าการเลือกตั้งในซูดานไม่เป็นประชาธิปไตย
ทั้งนี้ บาชีร์ยังมีประวัติในการหนุนหลังกลุ่มติดอาวุธจันจาวีด (Janjaweed) สังหารผู้คนไปมากกว่า 15,000 ในดาร์ฟูร์ (Darfur) ช่วงปี 2546-2547 ทำให้มีคนพลัดถิ่นจำนวนมาก และมีกรณีที่กลุ่มติดอาวุธข่มขืนผู้หญิง รวมถึงมีข้อกล่าวหาเรื่องรัฐบาลบาชีร์ใช้อาวุธเคมีกับชุมชนในดาร์ฟูร์ ศาลอาญาระหว่างประเทศเคยออกหมายจับบาชีร์ในปี 2552 ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมสงครามจากเหตุการณ์ในดาร์ฟูร์ ศาลอาญาระหว่างประเทศพยายามออกหมายจับเขาอีก 2 ครั้งในปีถัดๆ มาแต่ก็ต้องระงับการดำเนินคดีเพราะขาดการสนับสนุนจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
จากรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่มอื่นๆ ระบุว่าในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อช่วงปลายปี 2561 เองก็มีการใช้กำลังรุนแรงจากฝ่ายรัฐบาลปราบปรามผู้ชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย
หลังจากการประท้วงเป็นเวลาหลายเดือน ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาบาชีร์ก็ถูกจับกุมและโค่นล้มจากอำนาจ จากการรัฐประหารโดยกองทัพ ในตอนนั้นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของซูดาน อาวัด อิบน์ อูฟ (Awad Mohamed Ahmed Ibn Auf) ประกาศว่าสภากองทัพ (TMC) จะเป็นผู้ควบคุมปกครองประเทศในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ อย่างไรก็ตาม BBC รายงานว่ากองทัพซูดานไม่ได้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันหมด ยังคงกลุ่มกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ และกองกำลังติดอาวุธเคร่งอิสลามที่ทรงอิทธิพล
ในส่วนของผู้ชุมนุมนั้นหลังจากที่มีการเฉลิมฉลองการโค่นล้มบาชีร์ได้ไม่นานพวกเขาก็ปักหลักประท้วงต่อเพื่อเรียกร้องให้สภาเปลี่ยนผ่านของกองทัพจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่เป็นพลเรือนและให้มีการเลือกตั้ง CNN ระบุว่าสำหรับผู้ประท้วงแล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่ต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนในการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย
โอมาร์ อัลนีล (Omar al-Neel) นักกิจกรรมในซูดานกล่าวว่าชาวซูดานประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการโค่นล้มระบอบและไม่ให้เกิดวังวนอำนาจย้อนกลับมาในแบบเดิม และพวกเขาจะหยุดประท้วงก็ต่อเมื่อผู้นำทหารถ่ายโอนอำนาจให้กับรัฐบาลเปลี่ยนผ่านที่เป็นพลเรือน
กลุ่มผู้ประท้วงหลักๆ นำโดยสมาคมวิชาชีพของซูดาน ( The Sudanese Professionals Association (SPA) ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานสาธารณสุขและทนายความ แต่ด้วยปัญหาเศรษฐกิจทำให้ชาวซูดานจากทุกชนชั้นของสังคมออกมาประท้วงตามท้องถนน BBC ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นเยาว์ แต่ก็มีผู้ประท้วงจากทุกช่วงวัยในที่ชุมนุม ทั้งนี้ผู้หญิงยังเป็นแกนนำสำคัญของการประท้วงในครั้งนี้ เคยมีวิดีโอการประท้วงที่เป็นไวรัลคือหญิงผู้ชุมนุมรายหนึ่งแต่งกายเป็น "กันดากา(Kandaka)" หรือ "ราชินีนูเบีย(Nubian queen)"
ถึงแม้ว่าตัวแทนฝ่ายผู้ประท้วงกับฝ่ายทหารจะเจรจากันได้ถึงจุดหนึ่งเช่นในเรื่องโครงสร้างรัฐบาลใหม่ มีการตกลงกันได้เกี่ยวกับการใช้เวลาเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในช่วงเวลา 3 ปี แต่ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาการเจรจาก็แตกหักจากการที่ฝ่ายทหารยกเลิกข้อตกลงทั้งหมด จนนำมาสู่กรณีที่รัฐบาลทหารใช้กำลังสังหารประชาชนในวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา เรื่องนี้ทำให้ประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ประณามว่าเป็น "การโจมตีอย่างโหดเหี้ยม" ต่อผู้ชุมนุม และทางการสหราชอาณาจักรก็บอกว่าสภากองทัพซูดานต้องรับผิดชอบในกรณีนี้อย่างเต็มที่ ขณะที่ฝ่ายสภาทหารแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์และอ้างว่าปฏิบัติการของพวกเขามุ่งเป้าจัดการกับ "คนก่อปัญหาและอาชญากรเล็กๆ น้อยๆ"
ความรุนแรงในครั้งนี้ทำให้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ว่าเพิกเฉยและปล่อยให้ซูดานจมลงสู่ความไร้เสถียรภาพ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติกล่าวว่าสิทธิมนุษยชนในซูดานจมลงสู่ระดับก้นเหวรวมถึงเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนในกรณีการสังหารที่เกิดขึ้น ส่วนผู้ประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยในซูดานประกาศว่าพวกเขาตัดสัมพันธ์กับสภากองทัพทั้งหมด ผู้ประท้วงประกาศเรียกร้องให้มีการต่อต้าน "อารยะขัดขืนเต็มรูปแบบ" และให้มีการนัดหยุดงานประท้วง
นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์จากยูเอ็นประเทศตะวันตกและประเทศในแอฟริกันส่วนใหญ่แสดงจุดยืนสนับสนุนฝ่ายผู้ประท้วง โดยสหภาพแอฟริกัน (AU) ระงับสมาชิกภาพของซูดานจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนเป็นรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ยูเอ็นถอนคณะทำงานที่ไม่ได้อยู่ในความจำเป็นออกจากซูดานแต่จีนและรัสเซียก็โหวตบล็อกมาตรการคว่ำบาตร
ทางด้านซาอุดิอาระเบียแถลงท่าทีว่าควรจะมีการเจรจาหารือระหว่างกันทั้งสองฝ่ายแต่ก็ไม่ได้ประณามความรุนแรงจากกองทัพอย่างตรงไปตรงมาเช่นเดียวกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอียิปส์ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ว่าพวกเขากลัวว่าจะเกิดการประท้วงในแบบเดียวกันในบ้านตัวเอง รองประธานของสภากองทัพ โมอัมเหม็ด อัมดาน ดาโกโล เคยไปเยือนซาอุฯ เมื่อเดือนที่แล้วเพื่อเข้าพบกับเจ้าฟ้าชายซัลมานโดยให้สัญญาว่าจะช่วยปกป้องซาอุฯ และจะส่งกองกำลังซูดานไปช่วยกลุ่มพันธมิตรของซาอุฯ ในสงครามเยเมน
ถึงแม้จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ จะกล่าวประณามความรุนแรงในซูดาน แต่ เฟอร์กัล คีน บรรณาธิการ BBC แอฟริกาก็กล่าวว่าถ้าสหรัฐฯ จะทำอย่างที่พูดจริงๆ พวกเขาต้องเรียกร้องให้พันธมิตรในภูมิภาคอย่าง อียิปต์, ซาอุฯ และ UAE เพิ่มการกดดันกองทัพซูดานด้วย
ทั้งนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายจะกลับคืนมา เนื่องจากหลังการเจรจาครั้งล่าสุดล้มเหลว นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย อะบีย์ อาห์หมัด ก็เดินทางไปซูดานเพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างสองฝ่าย ผู้แทนพิเศษของเอธิโอเปีย มาห์มูด ดีรีร์ ประกาศว่าฝ่ายผู้ประท้วงยอมยกเลิกการนัดหยุดงานประท้วงใหญ่และจะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา ขณะที่ฝ่ายทหารก็ตอบรับด้วยการยอมปล่อยตัวนักโทษการเมือง อย่างไรก็ตามยังไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอนในการเจรจา และฝ่ายผู้ประท้วงก็ยืนยันว่าควรจะมีการสืบสวนสอบสวนอย่างอิสระในกรณีการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมก่อนที่จะมีการเจรจาหารืออีกครั้ง
เรียบเรียงจาก :
What's going on in Sudan and what the US is doing about it -- explained, CNN, 13-06-2019
https://edition.cnn.com/2019/06/13/africa/sudan-crisis-overview-trnd/index.html
Sudan crisis: What you need to know, BBC, 13-06-2019
https://www.bbc.com/news/world-africa-48511226
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : https://en.wikipedia.org/
ที่มา ประชาไทย