กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน แจ้งจับผู้พิพากษาศาลปกครอง 8 คน กรณีไม่รับคำร้องคดีจุฬาราชมนตรี ออกระเบียบเก็บเงินฮาลาลโดยมิชอบ
หาเรื่องไม่หยุด! โร่แจ้งจับ8ผู้พิพากษา ไม่รับคำร้องจุฬาราชมนตรี เก็บเงินฮาลาลโดยมิชอบ(คลิป)
กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน แจ้งจับผู้พิพากษาศาลปกครอง 8 คน กรณีไม่รับคำร้องคดีจุฬาราชมนตรี ออกระเบียบเก็บเงินฮาลาลโดยมิชอบ...
- ชาวพุทธพลังแผ่นดิน ยื่นดีเอสไอยึด 'เงินฮาลาล' อีกแล้ว!
- ชาวเน็ตจวก 'กลุ่มคนต้านฮาลาล' ไม่เห็นด้วย-วอนตรวจสอบ
19 ก.ย. ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 11.00 น. นายจรูญ วรรณกสิณานนท์ และ ทนายพงศ์นรินทร์ อมรรัตนา พร้อมกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.รัถย์ศานต์ ประจิตร์ รอง สว.สอบสวน กก.3 บก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับผู้พิพากษาศาลปกครองจำนวน 8 คน โดยมีผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด 5 คน คือ 1. นายมนูญ ปุญญกริยากร 2. นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ 3. นายประวิตร บุญเทียม 4. นายสมชัย วัฒนการุณ และ 5. นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์
รวมทั้งผู้พิพากษาศาลปกครองกลาง 3 คน คือ 1. นายนิทัศน์ แช่มช้อย 2. นายสัมฤทธิ์ อ่อนคำ และ 3.นายคม บูรณวรศิลป์ ฐานร่วมกันปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฐานวินิจฉัยคดีโดยไร้ความสามารถ และในลักษณะช่วยเหลือผู้กระทำผิด
นายจรูญ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 ตนและกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดินได้ยื่นได้ฟ้องจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจำนวน 16 คน ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานผู้ใช้อำนาจทางการปกครองตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ได้ออกระเบียบเก็บเงินฮาลาลโดยมิชอบโดยไม่มีอำนาจ และเป็นการทุจริตโดยขอให้ศาลมีคำสั่งว่าตรารับรองฮาลาลเป็นสิ่งผิดกฎหมายขอให้เพิกถอนเครื่องหมายฮาลาลดังกล่าวออกจากสินค้าทั่วราชอาณาจักร
และขอให้เรียกเก็บคืนสินค้าฮาลาลทั้งหมดออกจากตลาดภายในเวลา 3 เดือน ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ผลิตสินค้าผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายตลอดระยะเวลาที่กระทำความผิดพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันมีการออกระเบียบโดยมิชอบและขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายฮาลาลจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
นายจรูญ กล่าวต่อว่า โดยศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง แต่เป็นคำสั่งทางศาสนา ตนจึงได้ยื่นฟ้องอุทธรณ์ต่อ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่ผู้ฟ้องไม่มีสิทธิฟ้องตามมาตรา 42 เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง จึงเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมาตรา 42 กำหนดว่าผู้ใดได้รับความเดือนร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
อันเนื่องมาจากกระทำของหน่วยงานทางปกครอง ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ ซึ่งตนเองเป็นผู้เสียหายโดยตรงที่เป็นผู้บริโภคสินค้าที่มีตราฮาลาล ที่ผู้ประกอบการได้รวมค่าธรรมเนียมตราฮาลาลในต้นทุนการผลิตแล้ว โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงถือได้ว่าการไม่รับคำร้องดังกล่าวเพื่อพิจารณา ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนคนไทยทุกคน และหน่วยงานรัฐกว่าหมื่นล้านบาท
ด้านพนักงานสอบสวนไม่รับเรื่องไว้ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์การรับคดีของกองปราบปราม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา นายจรูญ และกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน ได้แจ้งความกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมน ประกอบด้วย นักศึกษาสาวผู้วาดภาพ, ผอ.ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 จ.นครราชสีมา เจ้าของสถานที่, นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินชื่อดัง และ นายเดชา กิติวิทยานันท์ หรือทนายคลายทุกข์ ฐานดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ก่อนถูกนายเดชาขู่ว่าจะฟ้องกลับ จึงมีการถอนแจ้งความบุคคลดังกล่าวในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ กลุ่มดังกล่าวได้เคยออกมาปกป้องพระชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกตำรวจกองปราบปรามจับกุมในคดีเงินทอนวัด โดยแจ้งความดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) ในความผิด ม.157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีได้เข้าร้องทุกข์กล่าวหาพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูปมีส่วนเกี่ยวข้องการทุจริตเงินทอนวัด และแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผบก.ป.(ตำแหน่งขณะนั้น) ในความผิด ม.157 กรณีนำกำลังเจ้าหน้าที่จับกุมพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ที่มีส่วนเกี่ยวข้องการทุจริตเงินทอนวัดอีกด้วย
ที่มา: mgronline.com
คลิปจาก: นิวส์ทั่วไทย แชนแนล โดย สมาคมสื่อมวลชนประเทศไทย