เครื่องแบบข้าราชการหญิงมุสลิม อยากให้หญิงมุสลิมทุกท่านได้ทราบและปฏิบติกันให้ถูกต้อง
เครื่องแบบข้าราชการหญิงมุสลิม
เครื่องแบบข้าราชการหญิงมุสลิม อยากให้หญิงมุสลิมทุกท่านได้ทราบและปฏิบติกันให้ถูกต้อง
กฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 94 (พ.ศ. 2553) ออกตามความในพระราชบัญญัติ เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478
กรณีใส่เครื่องแบบสีกากี
ข้อ 1 ความใหม่ตาม (1) วรรคสี่ กำหนดว่าข้าราชการหญิงมุสลิม หากจะใช้ผ้าคลุมศีรษะ ให้ใช้ผ้าคลุมศีรษะสีประเภทสีกากีหรือสีกลมกลืนกับเสื้อ กระโปรง หรือกางเกง โดยให้คลุมศีรษะทั้งหมด เว้นใบหน้า ชายผ้าคลุมศีรษะด้านข้างยาวถึงบ่า ด้านหน้ายาวถึงระดับหน้าอก ขอบผ้าคลุมเย็บเรียบ ในกรณีที่มี การสวมหมวกให้สวมหมวกทับผ้าคลุมศีรษะ
ข้อ 2 ความใหม่ตาม (4) วรรคท้าย กำหนดให้ข้าราชการหญิงมุสลิม หากจะใช้กระโปรง หรือ กระโปรงกางเกง จะให้ยาวคลุมข้อเท้าก็ได้
กรณีเครื่องแบบพิธีการ (ชุดสีขาว)
ข้อ 3 ความใหม่ตาม (1) วรรคสี่ กำหนดให้ข้าราชการหญิงมุสลิม หากจะใช้ผ้าคลุมศีรษะ ให้ใช้ผ้าคลุมศีรษะสีดำ โดยให้คลุมศีรษะทั้งหมดเว้นใบหน้า ชายผ้าคลุมศีรษะสอดไว้ปกเสื้อคอพับทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ในกรณีที่มีการสวมหมวกให้สวมหมวกทับผ้าคลุมศีรษะ
ข้อ 4 ความใหม่ตาม (4) วรรคท้าย กำหนดให้ข้าราชการหญิงใช้กระโปรงสีขาว ตีเกล็ดด้านหน้า 2 เกล็ด และด้านหลัง 2 เกล็ด ยาวปิดเข่า ปลายบานเล็กน้อยใช้กับแบบเสื้อคอแหลม หรือกระโปรงสีขาวยาวปิดเข่า ปลายบานเล็กน้อยใช้กับแบบเสื้อคอป้าน ข้าราชการหญิงมุสลิมสามารถใช้กระโปรงได้ทั้งสองแบบดังกล่าว โดยจะให้ยาวคลุมข้อเท้าก็ได้
จากตัวอย่างกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามดังกล่าว ข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีการให้เสรีภาพในการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามซึ่งสอดคล้องกับหลักการ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 31 ที่บัญญัติว่า
“บุคคลย่อมมีเสรีภาพ บริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติ หรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทย เป็นภาคี อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 18 กำหนดว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะประกาศศาสนาหรือความเชื่อของตน โดยการสอน การปฏิบัติ สักการบูชา และการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังตนเอง หรือประชาคมร่วมกับผู้อื่น และเป็นการสาธารณะหรือส่วนบุคคล”
และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 18 กำหนดว่า
“1) บุคคลย่อมมีสิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา สิทธินี้ย่อมรวมถึง เสรีภาพในการมีหรือนับถือศาสนา หรือมีความเชื่อตามคตินิยมของตน และเสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนา หรือความเชื่อของตนโดยการสักการบูชา การปฏิบัติ การประกอบพิธีกรรม และการสอน ไม่ว่าจะโดยลำพังตัวเอง หรือในชุมชนร่วมกับผู้อื่น และไม่ว่าต่อสาธารณชน หรือเป็นการส่วนตัว
2) บุคคลจะถูกบีบบังคับให้เสื่อมเสีย เสรีภาพในการมีหรือนับถือศาสนาหรือความเชื่อตามคตินิยมของตนมิได้
3) เสรีภาพในการแสดงออกทาง ศาสนา หรือความเชื่อของบุคคลอาจอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดเฉพาะที่บัญญัติโดยกฎหมาย และตามความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย สุขอนามัย หรือศีลธรรมของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลอื่น
และ 4) รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะเคารพเสรีภาพของบิดา มารดา หรืผู้ปกครองตามกฎหมาย ในการให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมแก่เด็กตามความเชื่อของตน”
ที่มา: Abdul Rahman Kopitak