เดือนรอมฎอน 2563 เริ่มถือศีลอด วันที่เท่าไหร่? ทั้งนี้รอฟังประกาศดูจันทร์จากสำนักจุฬาราชมนตรีอีกครั้ง
เดือนรอมฎอน 2563 เริ่มถือศีลอด วันที่เท่าไหร่?
เดือนรอมฎอน 2563 จากปฏิทินอิสลาม 2563 เริ่มถือศีลอด วันที่ 1 รอมฎอน 1441 ประมาณวันที่ 25 เมษายายน 2563
ทั้งนี้รอฟังประกาศดูจันทร์จากสำนักจุฬาราชมนตรีอีกครั้ง
การกําหนดเริ่มต้นเดือนรอมฎอน ต้องดูว่าเดือนชะอฺบานมี 29 หรือ 30 วัน โดย...
(ก) ให้ดูดวงจันทร์ตอนเย็นขณะดวงอาทิตย์เพิ่งลับขอบฟ้าของวันที่ 29 เดือนชะอบาน ถ้าเห็นดวงจันทร์ก็ถือว่าค่ำคืนนั้นเข้าสู่เดือนรอมฎอนแล้ว รุ่งขึ้นจึงต้องถือศีลอด
(ข) ถ้าไม่เห็นดวงจันทร์ ให้นับเดือนชะอบานให้ครบ 30 วัน หลังจากวันนั้น จึงเข้าสู่เดือนรอมฎอน
ความสำคัญของเดือนรอมฎอน
เดือนรอมฎอน คือ เดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง เนื่องจากชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติเพราะเป็นศาสนบัญญัติ ด้วยการงดอาหารทุกชนิด รวมถึงน้ำดื่ม ในช่วงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น-ดวงอาทิตย์ตกดิน รวมทั้งให้อดทนต่อสิ่งรอบตัว หยุดทำความชั่ว และออกห่างจากสิ่งหรือคนที่จะชักนำเราไปสู่การฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าไม่ว่าจะโดยมือ(ทำร้ายหรือขโมย) เท้า (เดินไปสู่สถานที่ต้องห้าม) ตา (ดูสิ่งลามก) หู (เช่นการฟังสิ่งไร้สาระ ,ฟังเรื่องชาวบ้านนินทากัน) ปาก (การนินทาว่าร้ายคนอื่น โกหก โป้ปด)
เดือนรอมฎอน เป็นเดือนที่จูงใจให้ผู้ศรัทธาทำความดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดือนอื่นๆ เน้นการบริจาคทาน หัวใจจะจดจ่ออยู่กับการแสดงความเคารพภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺและหันไปหาพระองค์มากขึ้น เรียกได้ว่า รอมฏอนเป็นเดือนแห่งการอบรมจิตใจ นั่นเอง เพราะจะไม่ทำสิ่งไร้สาระ จะทำอะไรต้องระมัดระวังทุกการกระทำและคำพูด มิเช่นนั้น ก็จะเป็นการถือศีลอดที่ได้แค่เพียง การอดอาหาร เท่านั้นเอง รวมทั้งจะได้รับรู้ความยากลำบากคนที่ยากไร้ด้วย
นอกจากถือศีลอด และทำทานแล้ว รอมฎอนยังเป็นเดือนสุดประเสริฐที่มีการประทานคัมภีร์อัล-กรุอาน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญชีวิตของมุสลิมทุกคน และเป็นเดือนแห่งความเมตตา ประตูสวรรค์ถูกเปิดและประตูนรกถูกปิด เดือนนี้จึงหมั่นทำความดีให้มากๆมุสลิมทุกคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อากิลบาเล็ฆ) มุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่า การเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป็นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง
เมื่อสิ้นเดือนรอมฎอนแล้ว จะมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 1 เดือนเชาวาล เรียกว่า อีดิ้ลฟิฏริหรือวันอีดเล็ก
การกำหนดวันที่ 1 ของเดือนการเริ่มต้นวันตามศาสนาอิสลามเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และการกำหนดเดือนเป็นระบบจันทรคติ ซึ่ง 1 เดือนจะมี 29 หรือ 30 วันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับเวลาที่ดวงจันทร์ใช้ในการหมุนรอบโลกครบ 1 รอบในเดือนนั้นๆ
ความจริงแล้วการกำหนดวันที่ 1 ของแต่ละเดือนนั้น ประเทศที่มีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่หรือประเทศมุสลิมจะมีการกำหนดไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีนักวิชาการหลากหลายครบทุกแขนง ซึ่งแน่นอนว่ารวมทั้งด้านดาราศาสตร์ด้วย ดังนั้นการกำหนดวันที่ 1 ของเดือนต่างๆ ด้วยการดูจันทร์เสี้ยว เมื่อผ่านพ้นวันที่ 29 ของแต่ละเดือนขณะที่ดวงอาทิตย์เริ่มตกลับขอบฟ้า ถ้าเห็นจันทร์เสี้ยวให้เริ่มนับจากคืนนั้นว่าเป็นวันที่ 1 ของเดือนใหม่ แต่ถ้าไม่ปรากฏว่ามีจันทร์เสี้ยว แสดงว่าดวงจันทร์ยังโคจรไม่ครบรอบ ให้นับเดือนนั้นว่า มี 30 วัน จึงเป็นไปตามหลักศาสนาและตรงตามสภาพความจริงบนฟ้าตามที่อัลลอฮฺ(ซบ.)ได้ทรงกำหนดไว้
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
การถือศีลอด เป็นหลักการข้อที่ 4 ของหลักการอิสลาม คือการงดเว้นการกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า บัญญัติใช้แก่ผู้ที่มีความสามารถทั้งชายและหญิง
อัลลอฮ์ได้ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 183 ว่า
ความว่า: “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกําหนดเหนือสูเจ้าทั้งหลาย เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกําหนดเหนือบรรดาปวงชนก่อนสูเจ้าทั้งหลายเพื่อว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้ยําเกรง”
ท่านร่อซูล ได้กล่าวไว้ มีความว่า:
“ผู้ใดละทิ้งการถือศีลอดในวันหนึ่งเดือนรอมฎอน โดยไม่ได้รับการผ่อนผันและมิได้เจ็บป่วย การถือศีลอดตลอด(ชีวิต)ของเขาก็ไม่อาจจะใช้ได้หมด ถึงแม้ว่าเขาจะถือศีลอดก็ตาม”
ผู้ที่จําเป็นต้องถือศีลอดของเดือนรอมฎอน
1) เป็นมุสลิม และมิได้เดินทาง
2) บรรลุศาสนภาวะ
3) มีสติสัมปชัญญะ ไม่วิกลจริต
4) มีร่างกายแข็งแรงสามารถถือศีลอดได้ตลอดทั้งวัน
5) ถ้าเป็นผู้หญิงต้องไม่มีประจําเดือน หรือมีเลือดออกมาจากการคลอดบุตรในขณะนั้น ซึ่งถูกห้ามไม่ให้ถือศีลอด แต่จะต้องชดใช้ตามวันที่ขาดไปในภายหลัง