เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่และทรงพระวิริยะอุตสาหะมากล้น
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับสายใยความผูกพันต่อมุสลิมไทย
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่และทรงพระวิริยะอุตสาหะมากล้น ในการสืบสานดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำพาประโยชน์สุขมาสู่ประชาชนชาวไทยอย่างครอบคลุม
ทั้งในด้านการศาสนูปถัมภ์ การสาธารณสุข การสังคมสงเคราะห์ การสร้างอาชีพและส่งเสริมรายได้ การศึกษา การรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างขวัญและกำลังใจ และที่สำคัญทรงมุ่งเน้นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนชาวไทยในทั่วทุกภาคพื้นที่ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นทุรกันดารและห่างไกลความเจริญ ดังเป็นที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องและยาวนานหลายทศวรรษ
พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ ได้แผ่ปกคลุมไปยังประชาชนชาวไทยทุกเชื้อชาติและศาสนาอย่างเสมอกัน ซึ่งรวมถึงประชาชนชาวไทยเชื้อสายต่างๆ ที่เป็นมุสลิมหรือนับถือศาสนาอิสลามด้วย
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงอุปถัมภ์บำรุงในกิจต่างๆ ทางศาสนาอิสลามอยู่เป็นนิจ
เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานเมาลิดกลาง
โดยในระหว่าง พ.ศ.2506 ถึง พ.ศ.2515 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานเมาลิดกลาง (คือ งานเฉลิมฉลองวันประสูติของท่านศาสดานบีมูฮัมมัด ซ.ล. ปัจจุบันเรียกว่า งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย)
และเมื่อ พ.ศ. 2518 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานเมาลิดกลาง และได้พระราชทานพระบรมราโชวาทอันมีค่ายิ่งเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
และภายหลังจากนั้น ในทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดทางศาสนาพุทธแล้ว ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังมัสยิดทางศาสนาอิสลามด้วย ทรงพบปะและมีพระราชปฏิสันถารด้วยความห่วงใยกับผู้นำทางศาสนาอิสลามในพื้นที่นั้นๆ ทั้งยังทรงให้การสนับสนุนบูรณะมัสยิดหลายแห่งและทรงติดตามดูแลอย่างสม่ำเสมอ อาทิ มัสยิดที่บ้านคลอแระ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น
นอกจากนี้ ในช่วงการถือศีลอดทางศาสนาอิสลาม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์นำผลอินทผาลัมไปพระราชทานแจกจ่ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เป็นประจำสม่ำเสมอทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้แถบจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่มีฐานะความเป็นอยู่ยากลำบาก
ในแต่ละครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไป จะทรงประทับพักแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากจะได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ห่างไกลอย่างทั่วถึง ทรงใส่พระราชหฤทัยห่วงใยดูแลการเจ็บไข้ได้ป่วยและพระราชทานความช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลทันที ทำให้ทรงมีคนไข้ที่เป็นมุสลิมจากพื้นที่ภาคใต้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญทรงอุทิศพระวรกายและทรงงานอย่างหนักในการแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นบนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยให้สอดรับกับขนบธรรมเนียมประเพณี และสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม และในขณะเดียวกันก็ให้เป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าด้วย
ดังจะเห็นได้จากภายหลังการก่อตั้ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พ.ศ.2519 ทรงทุ่มเทให้การส่งเสริมและสนับสนุนหัตถกรรมพื้นบ้านในพื้นที่ภาคใต้แถบจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งได้แก่ งานจักสาน (กระจูด ใบลาน ปาหนัน และย่านลิเภา) งานผ้าปักและทอผ้าฝ้าย รวมถึงงานแกะสลักไม้ และงานเครื่องปั้นเซรามิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานจักสานย่านลิเภา จนกลายเป็นผลงานที่มีความประณีตงดงาม สร้างรายได้ และนำพาชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติในเวลาไม่นาน
นอกจากนี้ในช่วง พ.ศ. 2521 และพ.ศ. 2527 ทรงสร้างศาลารวมใจในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและปัตตานี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้หรือห้องสมุดให้กับประชาชน ทั้งที่เป็นมุสลิมและพุทธได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองทั้งในระดับบุคคลและสร้างการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน รวมตลอดถึงได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษามุสลิมที่เรียนดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
และนับตั้งแต่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบกับปัญหาความไม่สงบใน พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชนทั้งที่เป็นมุสลิมและพุทธ ภิกษุสงฆ์ และผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่ รวมตลอดถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เกี่ยวข้อง โดยทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนในการดำรงชีพ อันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดการขึ้น
ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หลายแห่งในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เพื่อเป็นแหล่งจ้างงานที่ปลอดภัยให้กับประชาชนทั้งที่เป็นมุสลิมและพุทธ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริและหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บ้านรอตันบาตู อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เพื่อช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมั่นคง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพ.ศ. 2548 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนทั้งที่เป็นมุสลิมและพุทธ รวมทั้งผู้นำศาสนาอิสลามและภิกษุสงฆ์เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ณ บ้านโคกไร่ใหญ่ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
ความตามที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีถึงน้ำพระราชหฤทัยอันเต็มเปี่ยม ด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่อประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าโดยไม่แบ่งแยก
ซึ่งไม่เพียงเป็นบ่อเกิดพลังแห่งความรักและความสามัคคีในท่ามกลางการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทยเท่านั้น
หากแต่ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนชาวไทยมุสลิมสัมผัสได้ถึงพระมหากรุณาธิคุณโดยตรง ทำให้ต่างล้วนมีความภาคภูมิใจ ซาบซึ้งปีติยินดี จนเกิดความสำนึกและพร้อมใจถวายความจงรักภักดี อันส่งผลทอดยาวให้เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่มีรากฐานเหนียวแน่นและกลายเป็นสายใยแห่งความผูกพันตลอดไป
บทความโดย: ดลยา เทียนทอง / www.naewna.com
- ในหลวง ร.9 กับคัมภีร์อัลกุรอานแปลไทย
- ภาพประทับใจ ในหลวงกับชาวไทยมุสลิม หาดูยาก!
- วาเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายแห่งสายบุรี
- ในหลวงกับเรื่องการคลุมฮิญาบรับปริญญา
- ฝากสลามไปให้ในหลวงด้วย...ถ้าวันนั้นไฟฟ้ามาก่อนพวกเราคงแย่แน่ๆ!!
- พระผู้ให้โดยไม่แบ่งแยก เรื่องเล่ามัสยิดในพระบรมราชูปถัมภ์
- อย่าเข้าใจผิด! ชี้แจงดราม่า 2 แข้งโต๊ะเล็กไม่ก้มกราบส่ง 'ในหลวง ร.๙'