นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับ นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรีด้านแผนงานและโครงการ พร้อมด้วยคณะกรรมการสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม
‘ชวน’ ต้อนรับผู้แทนจุฬาราชมนตรี ทิ้งท้ายหนุนให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง ตามพระบรมราโชวาท ร.9
วันที่ 28 ก.ย. 63 เวลา 11.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การต้อนรับ นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ ที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรีด้านแผนงานและโครงการ พร้อมด้วยคณะกรรมการสถาบันพัฒนาผู้นำศาสนาอิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรี คณะผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตร "การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำศาสนา ยุคใหม่" รุ่นที่ 4 ประจำปีงบประมาณ 2563 และหลักสูตร "พัฒนาศักยภาพอิหม่าม" รุ่นที่ 2 ประจำปี 2563 ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักจุฬาราชมนตรี ในโอกาสศึกษาดูงาน ณ รัฐสภา โดยมี คณะทำงานประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมต้อนรับ
ในการนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เกียรติบรรยายสรุป เรื่อง "วิวัฒนาการความก้าวหน้าประชาธิปไตยแบบไทย" ว่า ทุกคนต้องแสวงหาความรู้ เพื่อตามโลกและตามบ้านเมืองให้ทัน ความรู้ที่มีไม่สำคัญเท่ากับการนำไปปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ ศาสนาทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ให้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่น ศาสนาอิสลาม ก็สร้างบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ เช่น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นต้น
ทั้งนี้ นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมากว่า 88 ปี การเมืองไทยได้มีความก้าวหน้าไปมาก จากเริ่มแรกที่มีผู้แทนที่จบปริญญาเอกเพียง 2 ท่าน แต่ปัจจุบันหลายท่านได้ศึกษาปริญญาเอกกันมาก เป็นผลดีต่อการทำหน้าที่ เพราะทำให้เรามีสภาที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ และเข้าใจในปัญหา แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไป คือที่มาของนักการเมือง จากเมื่อก่อนไม่มีคำว่า “ซื้อเสียง” มีเพียงหัวคะแนน การปราศรัยหาเสียงก็ยังไม่มี ซึ่งตนเป็นผู้บุกเบิกใช้วิธีปราศรัย อีกทั้งสมัยนั้นไม่ได้ใช้เงินในการสมัครและหาเสียง สิ่งนี้ก็คือความเปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นว่า กว่าจะเป็นวันนี้ได้ บ้านเมืองพัฒนามาตามลำดับ ระบบการเมืองเองก็เช่นกัน ได้มีการเปลี่ยนแปลง มีนักการเมืองที่มีความรู้และมีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น
โดยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องการเน้นย้ำ คือ เรื่องการเมืองสุจริต หากมีการซื้อเสียงมาแล้วจะเข้ามาทำงานอย่างสุจริตหรือไม่ และการที่จะทำงานโดยไม่หาผลประโยชน์นั้นยาก เช่นเดียวกับตำแหน่งข้าราชการหากซื้อตำแหน่งมาก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่แสวงหาผลประโยชน์ ในส่วนของวิวัฒนาการทางการเมืองไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ และประชาธิปไตยนำมาซึ่งสิ่งดีงามในสังคม อาทิ โครงการนมโรงเรียน และโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ล้วนเกิดมาจากวิวัฒนาการของประชาธิปไตย ทั้งนี้ แม้วิวัฒนาการของการเมืองไทยจะดีขึ้นแต่มีจุดอ่อน คือ ความบกพร่องของนักการเมือง
ดังนั้น เราจึงควรส่งเสริม สนับสนุนให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2512 “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของบ้านเมืองเราคือ เป็นไปตามแนวความคิดของเพลโต (Plato) นักปราชญ์ชาวกรีก ที่ได้กล่าวไว้ว่า การปกครองที่ทำให้บ้านเมืองเป็นปกติเรียบร้อยต้องปกครองด้วยคนดี หรือ “ราชาแห่งปราชญ์ (Philosopher King)” แต่คุณสมบัติของคนเช่นว่านั้นหาได้ยาก ประกอบกับมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา กล่าวคือ เมื่อได้มองเห็นถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ตนจะได้รับ ก็อาจมีแนวความคิดและความประพฤติที่เปลี่ยนแปลงไปได้
ดังนั้น ในยุคหลังจึงเห็นว่าการปกครองที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยได้นั้น ต้องปกครองด้วยหลักกฎหมายหรือนิติรัฐดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ประเทศไทยของเราในปัจจุบันมีความต้องการทั้งสองประการ คือ การปกครองโดยคนดีและหลักกฎหมายที่ดี เพราะหากมีหลักกฎหมายที่ดี แต่คนปฏิบัติไม่ดี ก็ก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมา และมีการละเมิดหลักกฎหมายบ้านเมืองอย่างไม่เกรงกลัว ทำให้หลักกฎหมายที่ดีเสียไป เพราะฉะนั้นการสร้างหลักเกณฑ์ของบ้านเมืองที่ดีกับการสร้างคนดีเพื่อให้ปกครองบ้านเมืองจึงต้องควบคู่กันไป โดยระบอบประชาธิปไตยต้องอาศัยหลักที่ดีกับคนดีให้ไปด้วยกัน รวมทั้งยึดถือหลักของความซื่อสัตย์ สุจริต
ดังนั้น ในยุคหลังจึงเห็นว่าการปกครองที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยได้นั้น ต้องปกครองด้วยหลักกฎหมายหรือนิติรัฐ ในประเด็นนี้ตนเคยได้สนทนากับ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่าในช่วงปลายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านมองเรื่องคนดีเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งให้กับองคมนตรี เพื่อให้ทำภารกิจในเรื่องของการสร้างคนดีร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นจึงทำให้มีความคิดที่จะทำโครงการการเมืองสุจริต เพื่อสร้างการเมืองที่ดีและการเมืองสุจริตให้แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป