เปิดยิ่งใหญ่ งานมุสลิมไทยแฟร์ ครั้งที่ 6 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย” ณ บริเวณลานพลาซ่า อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก ถนนรามคำแหง การกีฬาแห่งประเทศไทย
มุสลิมไทยแฟร์ ครั้งที่ 6 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย” ประจำปี 2563
เปิดยิ่งใหญ่ งานมุสลิมไทยแฟร์ ครั้งที่ 6 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย” ณ บริเวณลานพลาซ่า อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก ถนนรามคำแหง การกีฬาแห่งประเทศไทย
วันที่ 30 ตุลาคม 2563 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงานมุสลิมไทยแฟร์ ครั้งที่ 6 ดร.มนัส นานา ประธานมูลนิธิอิสลามเพื่อการศรัทธาและพัฒนาสังคม ในอุปถัมภ์ของจุฬาราชมนตรี กล่าวแสดงความยินดี นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน รองประธานสภาเครือข่าย ฯ กล่าวต้อนรับ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ประธานสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวรายงาน โดยมีนายบัญญัติ ทิพย์หมัด ประธานอำนวยการจัดงาน นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวขอพร และมอบโล่รางวัล เพชรมือบน ให้แก่องค์กรและบุคคลดีเด่นที่เป็นผู้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
งานมุสลิมไทยแฟร์ ครั้งที่ 6 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2563 ณ บริเวณลานพลาซ่า อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก ถนนรามคำแหง การกีฬาแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์หลักของการจัดงาน เพื่อหารายได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ทุกหมู่เหล่า โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ และศาสนา
ดร.วิสุทธ์ บิลล่าเต๊ะ ประธานสภาเครือข่าย ฯ กล่าวว่า สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ก่อตั้งขึ้นตามดำริของท่านจุฬาราชมนตรี เมื่อปี 2557 เป็นองค์กรประสานงานกลางในการให้ช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่เพื่อนมนุษย์ผู้ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนโดยไม่แบ่งเชื้อชาติและศาสนา ที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย และการสร้างที่พักพิงให้แก่ผู้ยากไร้ ตลอดจนบรรดาผู้ลี้ภัยที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นในแผ่นดินไทยใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ว่าผู้ลี้ภัยบางกลุ่มจะอยู่อย่างผิดกฎหมายหรือหลบหนีเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องก็ตาม
นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2488 โลกของเราก็เผชิญกับปัญหาผู้ลี้ภัย ครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 2558 เท่าที่มีการเก็บข้อมูลของสหประชาชาติพบว่า ปลายปี 2562 มีผู้คนจำนวนกว่า 79.5 ล้านคนที่ถูกบังคับให้ต้องพลัดพรากจากบ้านของพวกเขาด้วยเหตุแห่งความขัดแย้ง การถูกประหัตประหาร ความรุนแรงที่ทำในวงกว้าง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) ระบุว่า ปัจจุบันโลกเรามีผู้ลี้ภัยถึง 26 ล้านคน และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้หญิงเป็นเด็กอายุต่ำกว่า18 ปี ซึ่งมีความเปราะบางมากกว่า ผู้ลี้ภัยอื่น ๆ 57% ของผู้ลี้ภัยทั่วโลกมาจาก 5 ประเทศหลัก คือ 1. ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศซีเรีย 2. ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศอัฟกานิสถานมี 3. ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศซูดานใต้มีจำนวน 4. ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศพม่า 5. ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศโซมาเลีย
ในประเทศไทยเองมีผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งแสนคนอาศัยอยู่ในค่ายพักพิง 9 แห่งในจังหวัดชายแดน ระหว่างไทยและพม่า โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยที่หนีการสู้รบมาจากประเทศพม่า นอกจากนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยในเขตเมืองที่พักพิงอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกกว่า 5,000 คน ทั้งที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และที่ยังรอกระบวนการขอสถานะอยู่ และยังมีผู้ลี้ภัยอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยและไม่ได้รับการรับรองสถานะจากUNHCR ซึ่งทั้งหมดประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 30 ประเทศ”
ดร.มนัส นานา ประธานมูลนิธิอิสลามเพื่อการศรัทธาและพัฒนาสังคม ในอุปถัมภ์ของจุฬาราชมนตรี กล่าวแสดงความยินดี
จึงมีการจัดงานดังกล่าวขึ้นเพื่อตั้งกองทุนซับน้ำตาผู้ลี้ภัย มีวัตถุประสงค์ คือ 1.เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและสภาพการณ์ที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยและการแสวงหาที่พักพิง 2.เพื่อเผยแพร่สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ให้เกิดความเข้าใจในสถานะความเป็นอยู่ และความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้ลี้ภัย 3.เพื่อให้เกิดความร่วมมือในประเทศ ทั้งในระดับองค์กรและบุคคลในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถลี้ภัยไปดำเนินชีวิตได้อย่างถูกกฎหมายและมีความปลอดภัยในประเทศต่าง ๆ และ 4.เพื่อเป็นการระดมทุนในการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ผู้ลี้ภัย
ด้าน นายอนุสรณ์ ศรีอดุลย์พันธุ์ เลขาธิการสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ระบุว่า การจัดงานรวมพลังซับน้ำตาผู้ลี้ภัยปีนี้ ต้องการระดมทุนในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ลี้ภัยที่พำนักอยู่ในประเทศ ประกอบ 5 ด้าน 1.ค่าปรับที่อยู่เกินกำหนดและค่าประกันตัว 2.ด้านการศึกษา 3.ด้านอาหาร 4.ค่ารักษาพยาบาล และ 5.ค่าเดินทางและอื่ๆ โดยตั้งเป้าหมายไว้ ที่ 4 ล้านบาท จำนวนผู้ลี้ภัยที่ทางสภาเครือข่ายฯจะให้การช่วยเหลือ จำนวน 1 พันคน
นายบัญญัติ ทิพย์หมัด มอบคอตอาหรับ ชื่อของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายบัญญัติ ทิพย์หมัด ประธานอำนวยการจัดงาน และนายกสมาคมสื่อมุสลิมไทย เผยถึงแนวคิดการจัดงานในครั้งนี้ว่า “ด้วยคณะกรรมการจัดงานมุสลิมไทยแฟร์ นำโดย สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย สมาคมมิตรภาพ ไทย-ปากีสตาน ร่วมกับ องค์กรชั้นนำในสังคมมุสลิม อาทิ สมาคม ชมรม มูลนิธิ โรงเรียน รวมตัวกันจัดให้มีงานนี้ขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี การจัดงานเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในมิติต่าง ๆ ทางด้านข่าวสาร การศึกษา ศาสนา สังคม และวัฒนธรรม โดยมีหน้าที่เผยแผ่ความรู้ ความเข้าใจในสังคมยุคปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน บุคลากร ในมิติต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างและมุ้งเน้น ความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ในส่วนของภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ”
การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความตะหนักรู้ในมิติต่าง ๆ แล้ว ยังเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพ และการออกกำลังกาย เพื่อให้การจัดงานในครั้งมีความหลากหลายและมีกิจกรรมที่สามารถสร้างความรัก ความสามัคคี และเป็นที่ชื่นชอบของสังคมทั่วไป จึงจัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลมิตรภาพสัมพันธ์การกุศล เพื่อภารกิจจิตอาสา รวม 48 ทีม ณ เดอะ แฮตทริค พระรามเก้า กรุงเทพ ฯ (หลังโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์) ในส่วนกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการแนะนำสภาเครือข่าย ฯ นิทรรศการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย มอบรางวัลเพชรมือบนสำหรับบุคคลและองค์กร น้ำชาการกุศลเพื่อผู้ลี้ภัย เลี้ยงอาหารการโต๊ะจีนการกุศลตลอด 3 วัน ๆ ละ 50 โต๊ะ การเสวนาวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ การขับร้องลำนำ จำหน่ายสินค้า อาหาร เสื้อผ้า และอื่น ๆ