MUI อินโดนีเซีย ออกฟัตวา การเทรดคริปโตเคอเรนซี่ เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม เพราะไม่มีความแน่นอน เป็นการพนัน อีกทั้งยังอันตรายอีกด้วย
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ : MUI อินโดนีเซีย ฟัตวา เงินคริปโตต้องห้ามสำหรับมุสลิม
MUI อินโดนีเซีย ออกฟัตวา การเทรดคริปโตเคอเรนซี่ เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม เพราะไม่มีความแน่นอน เป็นการพนัน อีกทั้งยังอันตรายอีกด้วย
นายอัสโรรัน นียัม โชเลฮ์ ประธานฝ่ายฟัตวา สภาอูละมะอฺแห่งชาติของอินโดนีเซีย (MUI) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการปฏิบัติตามกฎหมายชาริอะฮ์ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ว่าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิมในการใช้ บิทคอยน์ "bitcoin" หรือ สกุลเงินคริปโตอื่น ๆ เนื่องจากมีความไม่แน่นอน อาจเกี่ยวข้องกับการพนัน และเป็นอันตราย
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่สภา ฯ จัดให้มีการประชุมพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหากสกุลเงินดิจิทัล หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ถูกต้องตามหลักชาริอะฮ์ และสามารถแสดงให้เห็นถึงประโยชน์อย่างชัดเจน ก็จะสามารถทำการซื้อ-ขายได้
แม้คำฟัตวาจะไม่ได้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ และ สภานิติบัญญัติอินโดนีเซีย ไม่ได้สั่งห้ามการใช้สกุลเงินคริปโต แต่ฟัตวานี้อาจส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อความรู้สึกของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสกุลเงินนี้ เพราะผู้ออกฟัตวาเป็นผู้รู้ทางศาสนา
ในปี 2018 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศว่า "สกุลเงินคริปโต ไม่ใช่เครื่องมือในการชำระเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย" แต่รับรองการซื้อ-ขาย บิทคอยน์ (bitcoin) และ สกุลเงินคริปโต เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019
เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา หน่วยกำกับดูแลการซื้อขายล่วงหน้าของอินโดนีเซีย (Bappebti) เปิดเผยว่า อินโดนีเซียมีนักลงทุนสกุลเงินดิจิทัลราว 4.45 ล้านคนทั่วประเทศ โดยมีสกุลเงินดิจิทัล 229 สกุล ที่ซื้อ-ขายกันอย่างถูกกฎหมายใน 13 แพลตฟอร์มและการแลกเปลี่ยนเงินที่จดทะเบียนถูกต้อง ซึ่งจำนวนนักลงทุนคริปโตมีมากกว่าจำนวนนักลงทุนในหุ้น ซึ่งน่าจะมีราว 2 ล้านคน
นาย Oham Dunggio ประธานสมาคมบล็อกเชนของอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม ว่า การที่ประชาชนจำนวนมากสนใจในสกุลเงินคริปโต มาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความง่ายในการดำเนินการ การประมวลผลธุรกรรม การฝาก-ถอน ที่รวดเร็ว เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้น ตลาดเงินคริปโตดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง “นี่คือสาเหตุที่ ทำไมนักลงทุนหนุ่ม-สาว จึงเลือกที่จะลงทุนในสกุลเงินคริปโต มากกว่าการลงทุนในแบบอื่น ๆ“
ที่ผ่านมา Bitcoin เผชิญความท้าทายด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ในขณะที่บางประเทศมีจุดยืนที่เข้มงวดเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยกล่าวว่า ง่ายต่อการหลอกลวง และเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม อีกหลายประเทศยอมรับว่า สกุลเงินดิจิทัลสามารถป้องกันความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อ เปลี่ยนบริการโอนเงิน และลดการพึ่งพาเงินดอลล่าร์สหรัฐ ฯ ในการเป็นสกุลเงินสำรอง
ที่มา: www.independent.co.uk