สงครามยูเครน ทำให้มุสลิมในหลายประเทศ ต้องจ่ายเงินซื้ออาหารแพงขึ้นในช่วงรอมฎอน
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: สงครามยูเครน มุสลิมเผชิญอาหารแพงขึ้นช่วงรอมฎอน
ปฏิบัติการณ์ทางทหารของรัสเซียในยูเครน ก่อให้เกิดความวิบัติแก่ราคาอาหารในบางส่วนของทวีปแอฟริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งกำลังมีการเตรียมการสำหรับเดือนรอมฎอน
จากเลบานอน ถึง ตูนีเซีย และโซมาเลีย มุสลิมที่มักจะละศีลอดในครอบครัวด้วยอาหารที่หรูหรา จะต้องหันมาพึงพาเมนูอาหารท้องถิ่นที่แสนจะธรรมดา อันเนื่องจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันที่พุ่งสูง
ซาบาฮ์ ฟาทูม ชาวบ้านในเขตปิดล้อมฉนวนกาซ่า กล่าวว่า ราคาข้าวของที่แพงขึ้นส่งผลกระทบและทำลายบรรยากาศแห่งจิตวิญญาณของเดือนรอมฎอน ทางการปาเลสไตน์ยืนยันว่า ขณะนี้สินค้าบริโภคในฉนวนกาซ่าสูงขึ้นกว่าเดิม 11% และคาดว่าจะสูงมากขึ้นอีก
รัสเซียและยูเครน เป็นภูมิภาคที่ปลูกธัญพืชจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหลักในการใช้ทำขนมปังทั่วโลก สินค้าโภคภัณฑ์จากภูมิภาคนี้ เช่น ข้าวสาลี น้ำมันพืช และข้าวโพด คิดเป็นส่วนแบ่งขนาดใหญ่ของการส่งออกไปในส่วนต่าง ๆ ของโลก การหยุดชะงักการส่งออกเนื่องจากการสู้รบ และการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ได้กระตุ้นให้เกิดความห่วงใยในวิกฤตความหิวโหยทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลางและแอฟริกา
ที่เห็นได้ชัดคือในเยเมนที่เป็นประเทศอาหรับที่ยากจนที่สุด มีการสู้รบกันตั้งแต่ปี 2014 ในขณะที่ราคาอาหารพุ่งขึ้นเป็น 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2021 ยูเครนส่งข้าวสาลีให้กับเยเมน คิดเป็น 1 ใน 3 ของการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งในตอนนี้ชาวเยเมนที่ยากจนก็ไม่สามารถจะซื้อหาได้
ในซีเรีย ซึ่งเพิ่งยุติการสู้รบที่มีมาตั้งแต่ปี 2011 ประชาชนร้อยละ 60 ของที่นั่นปราศจากความมั่นคงในด้านอาหาร ราคาน้ำมั้นพืชพุ่งสูงขึ้นกว่า 2 เท่านับตั้งแต่เกิดการสู้รบในยูเครน อีกทั้งยังมีการจำกัดการขาย
แม้ซีเรียจะเป็นพันธมิตรของรัสเซีย แต่ก็มีการปันส่วนสินค้าที่มาจากรัสเซีย เช่น ข้าวสาลี น้ำตาล และข้าวสาร ซึ่งขณะนี้ประชาชนแทบจะต้องกินอาหารเพียงชนิดเดียวในแต่ละมื้อเท่านั้น
ในตูนีเซีย ซึ่งมักจะมีการบริจาคอาหารเป็นธรรมเนียมประจำในเดือนรอมฎอน แต่ในปีนี้การบริจาคได้ลดน้อยลง เนื่องจากผู้ที่เคยมีพอเพียงสำหรับบริจาค กลับต้องหาให้พอสำหรับครอบครัวของตัวเองเสียก่อน เช่นเดียวกับในเลบานอน ที่เครือข่ายการกุศลต้องกลายเป็นวิกฤต เพราะแรงกดดันจากการสู้รบในยูเครน บูจาร์ ฮ็อคฮา ผู้อำนวยการองค์กรการกุศล Care International ในเลบานอน กล่าวว่า
“ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแข็งแกร่งซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในเดือนรอมฎอน จะได้รับการทดสอบอย่างมากในปีนี้”
อียิปต์เป็นประเทศในแอฟริกาเหนือที่ต้องพึ่งพาข้าวสาลีจากยูเครน หลังเกิดเหตุการณ์ต่อสู้สกุลเงินอียิปต์ตกต่ำลง 17% ทำให้ผู้คนต้องรูดซิปกระเป๋าอย่างระมัดระวัง
โซมาเลีย ซึ่งกำลังมีศึกกลางเมืองกับกลุ่มอิสลามสุดโต่ง และต้องต่อสู้กับความแห้งแล้วที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปี พวกเขากำลังรอรับเดือนรอมฎอนที่น่าหวั่นเกรง เพราะราคาสินค้าที่พุ่งสูงโดยเฉพาะอาหารและน้ำมัน ทำให้กำลังซื้อของผู้คนลดต่ำลง
แม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยเช่นซาอุดิอาระเบีย ก็ยังได้รับผลกระทบ เนื่องจากทุกอย่างแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม กาตาร์ กลายเป็นข้อยกเว้นในเรื่องนี้ เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งประกาศลดราคาโภคภัณฑ์มากกว่า 800 รายการ ก่อนที่เดือนรอมฎอนจะมาถึง โดยกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมประสานงานกับร้านค้ารายใหญ่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา
ที่มา: www.dailytimes.com.pk