ประมวลภาพการจัดงานมุสลิมไทยแฟร์ ครั้งที่ 7 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย 65” ณ ลานพลาซ่า อินดอร์สเตเดี้ยมหัวหมาก กรุงเทพฯ
ประมวลภาพการจัดงานมุสลิมไทยแฟร์ ครั้งที่ 7 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย 65” ณ ลานพลาซ่า อินดอร์สเตเดี้ยมหัวหมาก กรุงเทพฯ วันที่ 7-9 ตุลาคม 2565
แนวคิดของการจัดงาน
ด้วยสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ร่วมกับ มุสลิมไทยโพสต์ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม (TMTA) กลุ่มนักธุรกิจมุสลิม Muslim Business Matching (MBM) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานครั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรเครือข่าย สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี องค์กรพัฒนาเอกชนด้านผู้ลี้ภัย ด้านการกุศลต่างๆเพื่อเผยแพร่และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ ความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้ลี้ภัยในประเทศไทย และเผยแพร่ภารกิจการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี อีกทั้งเป็นการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนได้มีความตระหนักถึงการเป็นผู้ให้และการมีจิตสาธารณะในการช่วยเหลือสังคมและเพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกเชื้อชาติและศาสนา อันเป็นการตอบสนองความต้องการของชาติที่มุ่งหวังจะเห็นความเอื้ออาทร ระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกัน ตลอดจนเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีในสังคมพหุวัฒนธรรม อันจะส่งผลให้สังคมและประเทศชาติเกิดความสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไป
การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความตระหนักรู้ในมิติต่าง ๆ แล้วยังเห็นถึงความสำคัญถึงความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ในการจัดกิจกรรมด้านการกุศลอื่นๆ เพื่อให้การจัดงานในครั้งมีความหลากหลายและมีกิจกรรมที่สามารถสร้างความรัก ความสามัคคี และเป็นที่ชื่นชอบของสังคมทั่วไป เพื่อระดมทุนบริจาคซับน้ำตาผู้ลี้ภัย โดย สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี
สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในไทย
ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยราว 97,000 คน (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565) โดยผู้ลี้ภัยจำนวน 91,166 คนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดนในประเทศไทย ประกอบด้วย ผู้ที่อยู่ในทะเบียน UNHCR จำนวน 44,419 คน และไม่ได้อยู่ในทะเบียน UNHCR จำนวน 46,747 คน ดังนี้
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน 4 แห่ง ได้แก่ บ้านใหม่นายสอย บ้านแม่สุรินทร์ บ้านแม่ละอูน และบ้านแม่ลามาหลวง จำนวน 28,795 คน
- จังหวัดตาก 3 แห่ง ได้แก่ บ้านแม่หละ บ้านอุ้ยเปี้ยน และบ้านนุโพ จำนวน 54,200 คน
- จังหวัดราชบุรี 1 แห่ง ได้แก่ บ้านต้นยาง จำนวน 2,437 คน
- จังหวัดกาญจนบุรี 1 แห่ง ได้แก่ บ้านถ้ำหิน จำนวน 5,734 คน
นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยที่ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คน จาก 51 ประเทศทั่วโลก กระจายอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และแถบชานเมือง โดยส่วนมากเป็นผู้ที่ลี้ภัยมาจาก ปากีสถาน เวียดนาม ปาเลสไตน์ ซีเรีย โซมาเลีย อิรัก อิหร่าน จีน และอัฟกานิสถาน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องอาศัยอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ที่ไม่ได้คุ้มครองผู้ลี้ภัย ทำให้ต้องอาศัยอยู่อย่างหวาดกลัว แม้จะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ก็ถือว่าเป็นผู้ละเมิดพรบ.คนเข้าเมือง อาจถูกจับกุม ควบคุมตัว หรือถูกส่งออกนอกประเทศได้ และไม่สามารถทำงานอย่างถูกกฎหมายได้
ผู้ลี้ภัยภายใต้การดูแลของสภาเครือข่าย ฯ
สภาเครือข่ายฯได้ให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ปี 2561 โดยข้อมูลล่าสุดปี 2565 มีผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือจากสภาเครือข่าย จำนวน 1,257 ครอบครัว จาก 17 ประเทศ ได้แก่
- ปากีสถาน จำนวน 590 ครอบครัว
- เวียดนาม จำนวน 326 ครอบครัว
- โซมาเลีย จำนวน 87 ครอบครัว
- กัมพูชา จำนวน 83 ครอบครัว
- ปาเลสไตน์ จำนวน 53 ครอบครัว
- ซีเรีย จำนวน 13 ครอบครัว
- อัฟกานิสถาน จำนวน 38 ครอบครัว
- ศรีลังกา จำนวน 34 ครอบครัว
- อิรัก จำนวน 13 ครอบครัว
- อิหร่าน จำนวน 5 ครอบครัว
- จอร์แดน จำนวน 5 ครอบครัว
- เอธิโอเปีย จำนวน 5 ครอบครัว
- เอริเทรีย จำนวน 1 ครอบครัว
- อินเดีย จำนวน 1 ครอบครัว
- ไนจีเรีย จำนวน 1 ครอบครัว
- เติร์กเมนิสถาน จำนวน 1 ครอบครัว
- ลาว จำนวน 1 ครอบครัว
ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยในทะเบียนสภาเครือข่ายดังกล่าว นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 527 ครอบครัว คิดเป็น 41.93% ของจำนวนทั้งหมด
สภาเครือข่ายฯตระหนักเป็นอย่างดีว่า ภารกิจการช่วยเหลือลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นเป็นภารกิจที่อาจดำเนินการแต่เพียงลำพงได้ จึงได้ประสานกับองค์ภาคเอกชนต่าง ๆเพื่อผนึกกำลังกันเพื่อแบ่งเบาภาระของภาคราชการ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนกว่าวิกฤตผู้ลี้ภัยจะผ่อนคลายและผู้เดือดร้อนเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
ดังนั้นสภาเครือข่ายจึงได้จัดงานเพื่อระทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในปีนี้ในระหว่างวันที่ 7 -9 ตุลาคม 2565 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก รามคำแหง กรุงเทพฯ
วัตถุประสงค์หลัก
- เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและสภาพการณ์ที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยและการ แสวงหาที่พักพิง
- เพื่อเผยแพร่สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ให้เกิดความเข้าใจในสถานะความเป็นอยู่ ความทุกข์ ความเดือดร้อนของผู้ลี้ภัย
- เพื่อให้เกิดความร่วมมือในประเทศในระดับองค์กรและบุคคลในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เพิ่มมากขึ้น ให้ผู้ลี้ภัยสามารถลี้ภัยไปดำเนินชีวิตได้อย่างถูกกฎหมายและมีความปลอดภัยในประเทศต่าง ๆ
- เพื่อเป็นการระดมทุน จากการรับบริจาค การขายบัตรน้ำชา การจัดเลี้ยงโต๊ะจีน การจัดแข่งขันฟุตบอลการกุศล การร่องเรือการกุศล และกิจกรรมการกุศลอื่นๆ เพื่อนำรายได้ดังกล่าวไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยภาย ผู้เดือดร้อนจากภัยพิบัติต่าง ๆ ในประเทศ และสนับสนุนการบริหารกิจการสภาเครือข่ายฯ
วัตถุประสงค์รอง
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรัก ความสามัคคี ของคนทุกหมู่เหล่าโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ และศาสนา
- เพื่อส่งเสริมพันธกิจของสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
- เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของการจัดงานให้มีคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติ
- เพื่อส่งเสริมให้สื่อเป็นตัวกลางในการสร้างข่าวสารที่มีคุณค่าสู่สังคม
- เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการจัดงานให้เป็นมาตรฐานและมีภาพลักษณ์ที่ดี
- เพื่อส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่ดีต่อร่างกายและสุขภาพ จัดให้มีการแข่งขันฟุตซอลและอื่นตามความเหมาะสม
- เพื่อสร้างเสริมคนรุ่นใหม่ให้มีจิตใจดีงามที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
กรอบค่าใช้จ่ายรายปี ประกอบด้วย
- ช่วยค่าที่พักอาศัย
ช่วยเหลือครอบครัวผู้ลี้ภัยที่รอได้สิทธิ์เดินทางไปนอกประเทศ เฉลี่ยคนละ 1,000 บาท ต่อคน ช่วยเหลือ 1,200 คนต่อปี ใช้งบ 1,200,000 บาทต่อปี
- ช่วยค่ารักษาพยาบาล
ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉินแก่ผู้ที่รอสิทธิ์การลี้ภัยและส่วนที่เกินกว่าสิทธิที่เบิกได้ เฉลี่ยคนละ 3,000 บาทต่อคนช่วย 120 คนต่อปี ใช้งบ 360,000 บาทต่อปี
- ช่วยเหลือค่าสนับสนุนการศึกษา
ช่วยเหลือการเดินทางไปเรียนและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ เฉลี่ยคนละ 1,500 บาทต่อคน ช่วยเหลือ 10 คนต่อเดือน ใช้งบเฉลี่ยปีละ 180,000 บาทต่อปี
- ช่วยค่าปรับที่อยู่เกินกำหนด (ค่าปรับ Overstay) และค่าประกันตัวผู้ลี้ภัย
ผู้ได้สิทธิ์ลี้ภัยหรือผู้ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศหรือเดินทางไปประเทศที่สาม มีค่าปรับที่ต้องจ่ายคนละ 20,000 บาท ช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาทต่อครอบครัว โดยช่วยเหลือ 60 ครอบครัวต่อปี ใช้งบ 900,000 บาทต่อปี
- จัดเลี้ยงอาหารละศีลอดให้ผู้ลี้ภัยในเมืองและห้องกัก
จัดเลี้ยงอาหารละศีลอดเพื่อผู้ลี้ภัยในเมืองและผู้ต้องกัก ทุกภูมิภาคตลอดเดือนรอมฎอน ใช้งบเฉลี่ยปีละ 210,000 บาท
- จัดถุงยังชีพเพื่อบรรเทาทุกข์
จัดทำถุงยังชีพเพื่อบรรเทาทุกข์ แก่ผู้ลี้ภัยในเมือง ปีละ 1,500 ถุง ถุงละ 300 บาท ใช้งบประมาณปีละ 450,000 บาท
- โครงการกุรบ่านนี้เพื่อผู้ลี้ภัย
แจกจ่ายเนื้อกุรบ่านเพื่อผู้ลี้ภัย โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 150,000 บาท
- โครงการอาหารฮาลาลเพื่อผู้ต้องกักในห้องกัก และค่ายผู้ลี้ภัย
จัดอาหารฮาลาลเพื่อผู้ต้องกักในห้องกัก และค่ายผู้ลี้ภัยทั่วทุกภูมิภาค ใช้งบประมาณ 120,000 บาทต่อปี
- การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ
- เยี่ยมเยียนผู้ต้องกักในห้องกัก และค่ายผู้ลี้ภัย เพื่อเยียวยาจิตใจผู้ต้องกัก ใช้งบ 150,000 บาท ต่อปี
- ดำเนินการรับส่งเสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง ของใช้ และอาหารบริจาคให้ผู้ลี้ภัย ใช้งบ 120,000 บาท ต่อปี
- ค่าดำเนินการ-ค่าใช้จ่ายสำนักงานเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ใช้งบ 360,000 บาทต่อปี
รวมทั้งสิ้น 4,200,000 บาทต่อปี
เป้าหมาย
- ได้รับการบริจาคและระดมทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ปีละ 4 ล้าน ให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
- เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีแก่ครอบครัวของผู้ลี้ภัยที่ได้รับการช่วยเหลือ
- ประชาชนทั่วไปเข้าใจและรับรู้เรื่องราวของผู้ลี้ภัยและได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมและเพื่อนมนุษย์
- ประชาสัมพันธ์ภารกิจของสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี
- สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น
- กระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
- เกิดความรัก ความสามัคคี ของคนทุกหมู่เหล่าโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา
ผู้ประกอบการร้านค้าสามารถขายสินค้าได้ อันส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม
ประมวลภาพการจัดงานมุสลิมไทยแฟร์ ครั้งที่ 7 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย 65”
รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีเปิดงานมุสลิมไทยแฟร์ ครั้งที่ 7 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย 65”
นิทรรศการ งานมุสลิมไทยแฟร์ "รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย 65"