ภาพเก่า ต้อนรับเทศกาลฮัจย์ประจำปี กับการเดินทางสู่นครมักกะห์ ของฮุจยาจไทยเมื่อ 50-60 ปีก่อน ด้วยทางเรือ
ภาพเก่า ฮัจย์ไทยเดินทางไปมักกะห์ด้วยเรือ เมื่อ 60 ปีก่อน
ต้อนรับเทศกาลฮัจย์ประจำปี กับการเดินทางสู่นครมักกะห์ ของฮุจยาจไทยเมื่อ 50-60 ปีก่อน ด้วยทางเรือ
บทความนี้จะนำท่านสู่การเดินทางสู่นครมักกะห์ ด้วยเรือศรีเทพ และเรือฮอยยิง การเดินทางครั้งสำคัญในชีวิตหนึ่งของชาวมุสลิม ซึ่งถูกถ่ายทอดให้ข้อมูลโดยอดีตลูกเรือศรีเทพ และลูกเรือฮอยยิง ที่เดินทางพร้อมคณะฮุจยาจ (ผู้แสวงบุญ) ในครั้งนั้น
การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ในอดีตนั้นการโดยสารด้วยเครื่องบินราคาสูงมาก และยังไม่เป็นที่นิยม ชาวมุสลิมยังคงเดินทางด้วยทางเรือเป็นหลัก ซึ่งมีเรือหลายลำ หลายชื่อ ที่ใช้รับส่งผู้แสวงบุญ (ฮุจยาจ) ชาวไทยไปทุกๆ ปี โดยเรือที่ใช้นำส่งฮุจยาจ (ผู้แสวงบุญ) ในอดีตนั้น
เป็นเรือสินค้า ต่อมาถูกดัดแปลงกึ่งโดยสารเพื่อนำพี่น้องมุสลิมไทยไปทำฮัจย์ ใช้เรือยนต์ที่นำกลุ่มฮุจยาจ(ผู้แสวงบุญ) มุสลิมในประเทศไทย เดินทางจากท่าเรือธนาคารกรุงเทพ บางประกอก สู่ท่าเรือเมืองเจดดาห์(ญิดดะห์) หรือท่ายูดะห์ที่คนไทยมักเรียกกันในตอนนั้น
เรือที่ใช้รับส่งฮุจยาจ(ผู้แสวงบุญ) มีหลายลำ หลายชื่อ ทั้งเรือมักกะห์นาวา เรือมุยอัน สองลำนี้มาจากจีน ต่อมาทางซาอุดิอาระเบียส่งเรือโดยสาร คิงส์อับดุลอะซีซ มารับผู้แสวงบุญชาวไทยอยู่สอง-สามปี เรือคิงส์อับดุลอะซีซ มีฮุจยาจกว่า1,200คน ที่เดินทางในปีนั้น
หลังจากนั้นเป็นเรือจากบริษัทไทยเดินเรือ นั้นคือเรือศรีเทพ เรือนครธน เรือนครไทย เรือกาวีนา (สัญชาติอินโด) และเรือฮอยยิง (สัญชาติฮ่องกง) ที่คนส่วนใหญ่มักคุ้นชิน
ซึ่งเรือทั้งหมดเหล่านี้ปลายทางเพื่อไปส่งสินค้าที่ทวีปอัฟริกาและยุโรป โดยผ่านเส้นทางทะเลแดง และแวะเมืองญิดดะห์ (เจดดาห์) ของซาอุดีอารเบีย จึงสามารถใช้รับส่งกลุ่มผู้แสวงบุญฮัจย์ได้อีกด้วย
อดีตลูกเรือศรีเทพให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ ปี2500 เป็นต้นมา เรือศรีเทพ เป็นเรือบรรทุกสินค้าที่ถูกดัดแปลงใช้เป็นที่พักพิงของผู้เดินทาง ส่วนเรือฮอยยิงเป็นเรือรับผู้โดยสารและบรรทุกสินค้า
ปี 2510 เกิดสงครามอาหรับกับอิสราเอล (สงคราม6วัน) อียิปต์ได้ปิดคลองสุเอซ ประเทศมุสลิมอาหรับส่งทหารไปร่วมรบในดินแดนที่อิสราเอลยึดครองบนพื้นที่ปาเลสไตน์ ส่วนทางทะแดงถูกปิดเช่นกัน บรรดาเรือขนส่งสินค้าต่างๆ รวมทั้งเรือโดยสารไม่สามารถเข้าไปได้ สงครามในครั้งนั้นทำให้ฮุจยาจ(ผู้แสวงบุญ)ชาวไทยติดค้างอยู่ที่นครมักกะห์กว่า1ปี
ปี 2513 เรือศรีเทพได้นำคณะฮุจยาจ (ผู้แสวงบุญ) เดินทางไปนครมักกะห์ ใช้ท่าเรือบางปะกอก รับฮุจยาจจากกรุงเทพ สู่ท่าเรือเมืองเจดดาห์
มีอยู่ครั้งหนึ่งเรือศรีเทพได้ทอดสมอรองรับฮุจยาจ(ผู้แสวงบุญ)ที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส จากนั้นเรือได้ล่องผ่านสิงคโปร์ ขึ้นทางช่องแคบมะละกา และตัดกลางมหาสมุทรอินเดีย มุ่งหน้าไปยังเมืองเอเดน ของประเทศเยเมน ก่อนเข้าสู่ทะเลแดง ของประเทศซาอุดีอารเบีย และ
เข้าเทียบท่าที่เมืองญิดดะห์ (เจดดาห์) ประตูสู่นครมักกะห์ อัลมุกัรรอมะห์ แผ่นดินฮะรอม อันประเสริฐ
เรือศรีเทพใช้เวลาเดินทาง 20 วัน 20 คืน ที่อยู่ในทะเล หากรวมไปกับรวมระยะเวลากลับด้วยอยู่ที่ 40 วัน 40 คืน
สิ่งที่พี่น้องมุสลิมบนเรือต้องการมากที่สุดคือน้ำจืด เพื่อใช้อาบน้ำละหมาดและชำระร่างกาย อดีตลูกเรือกล่าวว่า เขาได้แอบตุนน้ำจืดไว้เพื่อให้คณะฮุจยาจบนเรือหลายร้อยคนได้ใช้และปฎิบัติศาสนกิจได้อย่างสะดวกสบาย เป็นการแบ่งปันที่มีความสุข
ห้องครัวในเรือจะมีทั้งอาหารสดและอาหารแห้งตุนแยกไว้เฉพาะตลอดการเดินทาง รวมทั้งอาหารว่าง ชา โรตี กาแฟ น้ำอัดลม ก็มีบริการขาย
นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์และพยาบาลที่เป็นมุสลิม ร่วมเดินทางไปในคณะนี้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือฮุจยาจเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
มหาสมุทรอินเดียไม่ค่อยมีคลื่นลมแรง นานๆถึงจะเจอหางพายุบ้าง เพราะเรือมีระบบเรดาร์ที่ตรวจสอบอยู่แล้ว กัปตันมักจะเดินเรืออ้อมหนีพายุ
มีคนถามว่า เมื่อฮุจยาจ (ผู้แสวงบุญ) เสียชีวิตลงจะทำอย่างไร
ตำตอบคือให้ทำญานาซะห์ เหมือนศพปกติทั่วไป อาบน้ำให้ศพ กะฝั่นห่อศพ และละหมาดศพ แต่เมื่อไม่มีผืนดินให้ฝังร่าง ก็ต้องหย่นมัยยิต(ศพ)ลงทะเลเท่านั้น
โดยใช้เหล็ก หรืออุปกรณ์ของเรือที่เสียแล้ว เช่นน๊อตนำมามัดรวมกัน หรือหิน แล้วผูกขามัยยิต จากนั้นใช้ถาดรองร่างมัยยิต (ศพ) แล้วค่อยๆหย่นลงทะเลในท่าที่ยืน เพื่อให้ร่างจมดึ่งลงในมหาสมุทร ใช้เวลาหลายนาทีที่ร่างผู้เสียชีวิตจะลงสู่ทะเลอันกว้างไกล จากนั้นกัปตันเรือก็สต๊าทเดินเรือต่อไปสู่จุดหมายปลายทาง
และที่เป็นประวัติศาสตร์ที่พูดถึงในหมู่ชาวมุสลิมไทยที่เดินทางไปฮัจย์จนปัจจุบัน คือเรือฮอยยิง สัญชาติฮ่องกง ซึ่งรับกลุ่มมุสลิมกรุงเทพฯ ทั้งภาคกลางและมุสลิมภาคอื่นๆ ไปทำฮัจย์ โดยขึ้นที่ท่าเรือธนาคารกรุงเทพ บางปะกอก ท่าเรือเอเชียทีค หรือที่เรียกว่าโกบี (หน้ามัสยิดบางอุทิศ เจริญกรุง)โกดัง 1-8 ต่อมาเปลี่ยนเป็นขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย โดยบรรทุกผู้โดยสารได้ 800 คน
เรือฮอยยิงเป็นเรือที่รับส่งผู้เดินทางไปทำฮัจย์ หลายปี โดยเรือฮอยยิง จะแวะรับมุสลิมในภาคใต้อีกครั้ง
ที่ท่าเรือ จ.ปัตตานี และนราธิวาส ใช้เวลาเดินทางไป 15 วัน และกลับอีก 15 วัน รวมทั้งหมด 30 วัน
บรรยากาศการไปส่งผู้แสวบุญจึงเต็มไปด้วยความสุขและเศร้า มีสองความรู้สึกในเหตุการณ์เดียวไม่ว่าคนไป หรือญาติที่มาส่ง อารมณ์นึงภาคภูมิใจ ดีใจกับผู้ที่ได้เดินทางไปทำฮัจย์ อีกอารมณ์ก็เศร้า เพราะเป็นการเจอครั้งสุดท้ายของคนในครอบครัว และไม่รู้ว่าจะได้เจอกันอีกหรือไม่
พอเรือส่งสัญญานใกล้ออกเดินทาง เจ้าหน้าที่มุสลิม จะทำการอาซาน (เสียงเรียกร้องสู่การละหมาด) หรือเสียงบัง ซึ่งเป็นธรรมเนียมในการส่งผู้แสวบุญในอดีตดังขึ้น เสียงหวูดส่งสัญญานลากยาวสามครั้ง บรรดาญาติๆก็พากันร่ำไห้กันเป็นแถว
จะเห็นได้ถึงความพยายามสุดความสามารถของคนในอดีตที่ต้องการไปประกอบพิธีฮัจย์ให้ได้ หากมีความพร้อมทั้งร่างกาย ทรัพย์สิน ถึงแม้การเดินทางยังไม่สะดวกก็ตาม การทำฮัจย์จึงป็นการเสียสละอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่เงินทอง แต่เป็นการยอมสละทุกอย่าง และไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะที่ไปคือความศรัทธาล้วนๆและมอบหมาย (ตะวักกัล) ต่อพระเจ้า เพื่อหวังในความโปรดปราณของอัลลอฮ์และให้ได้ฮัจย์ที่มับรูร (ฮัจย์ที่ถูกตอบรับ)
ผู้แสวบุญ (ฮุจยาจ) ในอดีต จึงมีการสั่งเสีย แบ่งมรดก ทรัพย์สิน ที่ดิน ทุกอย่าง เพราะหลายคนไปแล้วไม่ได้กลับ บางคนเสียชีวิตระหว่างไป โดยที่ไม่ได้ทำฮัจย์ บางคนเสียชีวิตที่เมืองมักกะห์ บางคนได้ฮัจย์แล้ว แต่เสียชีวิตขณะเดินทางกลับ ยังไม่ถึงบ้าน คุณค่าของฮัจย์ที่มับรูรของคนสมัยนั้นจึงแตกต่างกับคุณค่าฮัจย์ที่มับรูรสมัยนี้
ปัจจุบันการเดินทางไปทำฮัจย์มีความสะดวกสบาย ใช้เวลาเดินทางโดยเครื่องบิน 8-9 ชั่วโมง บินตรงจากกรุงเทพฯ หาดใหญ่ นราธิวาส กระบี่ และภูเก็ต ถึงสนามบินคิงส์อับดุลอะซีซ เมืองญิดดะห์ (เจดดาห์) และที่สนามบินอะมีรมุฮัมมัด นครมาดีนะห์
ฉะนั้นใครมีความสามารถก็จงไปทำฮัจย์เถิด หากยังไม่พร้อมอย่างน้อยไปอุมเราะห์ เพื่อเตรียมตัวสู่เป้าหมายสำคัญของชีวิต
อ่านเรื่องร่าวต่อได้ในรูปภาพต่างๆ
ใครที่เคยเดินทางไปทำฮัจย์ทางเรือ หรือเคยไปร่วมส่งครอบครัวญาติพี่น้องมาร่วมแบ่งปันกับแอดมินในบทความนี้ได้เลย
ขอบคุณ รูปภาพจากคุณ Danai Rodp คุณ Yindee Preeda Toomboon
ผู้ให้ข้อมูลคุณ Yindee Toomboom คุณSanit Sanguanklian อดีตลูกเรือศรีเทพและเรือฮอยยิง
ข้อมูลรวมทั้งรูปภาพทั้งหมดของเรือ ได้รับอนุญาตจากเจ้าของให้เผยแพร่ได้ในเพจนี้
ที่มา: รู้จักมุสลิมรู้จักอิสลาม