สืบเชื้อสายสุลต่าน เปิดประวัติ 'อาศิส พิทักษ์คุมพล' จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ของเมืองไทย
สืบเชื้อสายสุลต่าน เปิดประวัติ 'อาศิส พิทักษ์คุมพล' จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ของเมืองไทย
ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2566 สำนักจุฬาราชมนตรี ประกาศการถึงแก่อนิจกรรมของ อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของเมืองไทยด้วยอายุ 76 ปี เปิดประวัติ จุฬาราชมนตรีคนแรกจากภาคใต้ สืบเชื้อสายมาจากสุลต่าน
เปิดประวัติ "อาศิส พิทักษ์คุมพล" จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ของประเทศไทย ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เตรียมจัดพิธีละหมาดญะนาชะห์ 23 ตุลาคม 2566 ณ มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา
ภายหลังจาก "สำนักจุฬาราชมนตรี" ได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์ (ถึงแก่อนิจกรรม) แล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566 เวลา 10.32 น. และจะจัดพิธีละหมาดญะนาชะห์ (ละหมาดขอพร) ในวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา เลขที่ 352 ถนน ลพบุรีราเมศวร์ ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ประวัติ อาศิส พิทักษ์คุมพล
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ของประเทศไทย เกิดวันที่ 6 มีนาคม 2490 อายุ 76 ปี สถานที่เกิด ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยสืบเชื้อสายมาจาก สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นบุตรของนายมะแอ (ฮัจญีอิสมาแอล) กับนางน๊ะ (อามีนะห์) เบ็ญสะอีด และสมรสกับนางรอปีอ๊ะ พิทักษ์คุมพล มีบุตรธิดารวม 4 คน
จบการศึกษาจาก อัลมัดรอซะฮ์อัลนัซซอบีย๊ะฮ์ ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา และ อัลมัดรอซะฮ์อัลอัดรีซียะฮ์ ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีความสามารถทางภาษาอาหรับ, ยาวี, บาฮาซอ มาเลเซีย, บรูไน, อินโดนีเซีย
เส้นทางจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของไทย
หลังจาก นายประเสริฐ มะหะหมัด ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจุฬาราชมนตรี ได้เสนอชื่อนายอาศิสเพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้มอบหมายให้ดูแลงานวิชาการร่วมกับนายวินัย สะมะอุน
ต่อมาในปี พ.ศ.2530 ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้ถึงแก่กรรม คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ท่านเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้มาโดยตลอด และเมื่อพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ได้ประกาศใช้ โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยกรรมการผู้ที่เป็นผู้แทนของแต่ละจังหวัด
ซึ่งนายอาศิสก็ได้รับการเลือกให้เป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ และรองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในชุดที่มีนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ อดีตจุฬาราชมนตรี เป็นประธานกรรมการ
ในปี พ.ศ. 2539 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสัดส่วนผู้นำศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นแล้วยังเป็นที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อใช้ในสถานศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงนาย ทักษิณ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาตใต้และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพระบรมราโชวาท
วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ได้รับลงคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งนับโดยเป็นคนที่ 2 ต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553
วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 14 (ปัจจุบันคือ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมด้วยคณะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพระบรมราโชวาท
วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ท่านได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งนี้ในภายหลังโดยให้เหตุผลว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำศาสนาอิสลามในไทยไม่สมควรรับตำแหน่งใดๆทางการเมือง ท่านลาออกในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 5 วัน
คำปรารภเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
“ท่านที่เคารพรักทั้งหลาย บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของพวกท่าน และไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะดีที่สุดไปกว่าพวกท่าน ดังนั้นหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง แล้ว ขอให้ท่าน ทั้งหลายได้โปรดให้ความช่วยเหลือแก่ข้าพเจ้าด้วย และหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องขอให้ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันแก้ไข ให้ข้าพเจ้าได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ......ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ก็ขอให้ท่านโปรดเชื่อฟังข้าพเจ้า และหากข้าพเจ้าไม่เชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ ดังนั้น พวกท่านก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเชื่อฟังข้าพเจ้า”
บทบาทก่อนรับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
- สมาชิกวุฒิสภา
- รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนที่ 1
- รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนที่ 1
- ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา (พ.ศ. 2530–ปัจจุบัน)
- ประธานชมรมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้
- สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานคณะกรรมการยุติธรรม ความเสมอภาค และความมั่นคง ในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ ในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- กรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
- ประธานคณะทำงานปรับปรุง ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามหลักการอิสลาม
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
- กรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
- กรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ
- กรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ตากใบ
- ประธานคณะทำงานปรับปรุงยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามหลักการอิสลาม
- กรรมการจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
- กรรมการจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา สมาคมคุรุสัมพันธ์
- กรรมการส่งเสริม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
- กรรมการส่งเสริม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
- กรรมการส่งเสริม วิทยาลัยอิสลามยะลา
ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา ปีพ.ศ. 2539 – 2543
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2557 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
- พ.ศ. 2533 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)