พิธีเปิดงานการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 43 จัดโดยสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมมอบรางวัลสัตวแพทย์ตัวอย่างประจำปี 2561
รมว.เกษตร นายกฤษฎา บุญราช เปิดงานการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 43 จัดโดยสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมมอบรางวัลสัตวแพทย์ตัวอย่างประจำปี 2561 คาดมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 700 คน
การประชุมวิชาการฯ ของสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ นำเสนอความก้าวหน้าด้านวิชาการของสัตวแพทย์ไทย ภายใต้แนวคิด “ 70 ปี สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์: การเฉลิมฉลองแห่งความสำเร็จ” และมอบรางวัลสัตวแพทย์ตัวอย่าง ประจำปี 2561 จำนวน 5 ราย สายงานวิชาการ ศ.นสพ.ดร.อลงกร อมรศิลป์, สายงานธุรกิจ นสพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์, สายงานเผยแพร่วิชาชีพและบริการสังคม รศ.นสพ.ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์, สายงานสัตวแพทย์รุ่นใหม่ นสพ.เพชร นันทวิสัย และรางวัลสัตวแพทย์ตัวอย่างกิตติมศักดิ์ นสพ. มล.พิพัฒนฉัตร ดิศกุล
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 43 “The International Conference on Veterinary Science 2019 (ICVS 2019)” ว่า การที่สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 43 เป็นที่น่าสนใจของหลายประเทศ และเข้าร่วมการประชุมทั้งภาคภาษาไทย ภาคภาษาอังกฤษ ในปัจจุบันนี้สัตวแพทย์ไทยมีความก้าวหน้าและเป็นผู้นำด้านสัตวแพทย์ในระดับภูมิภาค จึงเป็นที่น่ายินดีที่วงการสัตวแพทย์ไทยมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสัตวแพทย์โดยความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยที่ทันสมัยในระดับนานาชาติ ในช่วงที่ผ่านมา บทบาทของวิชาชีพสัตวแพทย์มีความสำคัญต่อสังคมไทยอย่างชัดเจน เช่น การควบคุมโรคระบาดสัตว์มิให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ และส่งกระทบต่อระบบสาธารณสุขและอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของประเทศ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการผลิตปศุสัตว์ให้มีมาตรฐานสู่อาหารปลอดภัยในระดับโลก จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่สำคัญในภูมิภาค ทั้งนี้ ปัจจุบันโลกมีความต้องการอาหารโปรตีนจากสัตว์เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อบทบาทของสัตวแพทย์ในการควบคุมระบบการผลิตให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันสินค้าปศุสัตว์ไทยก็ได้สร้างมูลค่าจากการส่งออกปีละกว่า 240,000 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่มาจากความทุ่มเทและรับผิดชอบของบุคลากรในวิชาชีพสัตวแพทย์
นายกฤษฎา กล่าวว่า “ขอให้สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยยืนหยัดอย่างเข้มแข็งควบคู่ไปกับกรมปศุสัตว์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติ ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดการประชุมนานาชาติครั้งนี้ให้มีความสมบูรณ์แบบ และขอบคุณท่านผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ให้เกียรติมาถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งนับเป็นการประสานความร่วมมือในระดับชาติและมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อวิชาชีพสัตวแพทย์ไทย และขอแสดงความยินดีกับสัตวแพทย์ตัวอย่างประจำปี 2561 ทั้ง 5 ท่าน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นต่อการพัฒนาวิชาชีพสัตวแพทย์”
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในฐานะที่ปรึกษาสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า “ที่ผ่านสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯและกรมปศุสัตว์ ร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนางานด้านสัตวแพทย์และวิชาชีพสัตวแพทย์ ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นงานทางวิชาการ และการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ผมขอแสดงความยินดีกับสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ในโอกาสครบรอบ 70 ปี ในปี 2562 นี้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นสมาคมวิชาชีพทางสัตวแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในการส่งเสริมสามัคคีธรรมและจริยธรรม ยกระดับมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการให้แก่สมาชิกและสังคม ส่งเสริมการสงเคราะห์สัตว์และช่วยเหลืองานสาธารณกุศล นอกจากนี้ ยังช่วยเผยแพร่ประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นในยุคโซเชียล โดยได้จัดการแถลงข่าวและชี้แจงผ่านการแถลงข่าว เว็บไซต์ และสื่อต่าง ๆ อีกทั้งการประชุมสัมมนาเป็นการให้ความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ภาคประชาชนและผู้บริโภค เช่น งานสัมมนาหลักสูตร“มุ่งมั่นรวมใจ สินค้าปศุสัตว์ไทย ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ เมื่อปี 2561 กิจกรรมสำคัญอีกอย่างคือกรมปศุสัตว์ ร่วมกับสัตวแพทย์สมาคมฯกับภาคีเครือข่ายสัตวแพทย์ในภูมิภาคต่างๆ ร่วมจัดกิจกรรม ทำหมันสุนัข แมวเพื่อลดประชากรสุนัข แมว และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัขแมว มีผลให้โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยลดลง สามารถควบคุมได้
สำหรับการให้ความรู้แก่เด็กรุ่นใหม่ ให้ได้มีแนวทางในการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ มีการส่งเสริมและให้ความรู้จากนักวิชาการต่างประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯได้มีส่วนในการพัฒนาการปศุสัตว์ของไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมวิชาการทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ผมขอขอบคุณ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพต่างๆ การให้ความร่วมมือในกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์สู่สังคมในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ การควบคุมป้องกันโรคสัตว์ และความปลอดภัยด้านอาหารและความร่วมมือในงานสาธารณกุศล”
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ นายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดประชุมวิชาการฯของสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ จัดขึ้นเพื่อเป็นช่องทางนำเสนอความก้าวหน้าด้านวิชาการของสัตวแพทย์ไทย ต่อเพื่อนสมาชิกสัตวแพทย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้ ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ 70 ปี สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์: การเฉลิมฉลองแห่งความสำเร็จ”
ทั้งนี้ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทำการก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 จนถึงปัจจุบัน สมาคมฯสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสำเร็จราบรื่น ลุล่วงมาด้วยดีตามภารกิจหน้าที่ โดยเฉพาะบทบาทของสัตวแพทย์ไทย ในการประสานความร่วมมือและสนับสนุนเครือข่ายสัตวแพทย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันของประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการแก้ปัญหาต่างๆที่ต้องเผชิญร่วมกัน เช่นการควบคุมโรคระบาดสัตว์ผ่านแดน โรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ ในสัตว์ทุกชนิด ในการดำเนินการจัดประชุมครั้งนี้ สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ และภาคธุรกิจในวงการปศุสัตว์จำนวน 19 แห่ง ทำให้การเตรียมการสำเร็จราบรื่นด้วยดี
การประชุมครั้งนี้ ศาสตรจารย์ นสพ.ดร.เผด็จ ธรรมรักษ์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการจัดการประชุมฯ มีการนำเสนอผลงานรวม 85 เรื่อง หัวข้อสัมมนา 3 เรื่อง โดยวิทยากรรับเชิญซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ( OIE) มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมและร่วมสังเกตุการณ์ จำนวนมากกว่า 700 คน การประชุมในครั้งนี้ทำให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ยกระดับนักวิชาการและสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างสัตวแพทย์ไทยกับสัตวแพทย์ต่างประเทศ
ทั้งนี้กิจกรรมมีขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 8 มีนาคม 2562 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ สุดท้ายนี้ผมขอแสดงความยินดีกับสัตวแพทย์ตัวอย่าง ปี 2561 ทั้ง 5 ท่าน เพราะกว่าจะมีวันนี้ได้ทุกท่านได้เพียร พยายามอดทน ได้ประกอบสัมมาวิชาชีพ สร้างศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เป็นที่ยอมรับของทุกหมู่ชนทั่วโลก ผมขอยกย่องสัตวแพทย์ที่มีผลงานเป็นเลิศ เป็นสัตวแพทย์ตัวอย่าง ปี 2561 และขอเป็นกำลังใจให้ท่านอื่นๆ สร้างผลงานในโอกาสต่อไปภายภาคหน้า”