ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของมูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรังและเก่งกิจ กิติเรียงลาภ เกี่ยวกับกรณี “ซากีย์ พิทักษ์คุมพล” หนึ่งใน 250 สวที่โหวตเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ
ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ปัญหาศาสนากับประชาธิปไตย
- แจงแล้ว! ลูกชายจุฬาราชมนตรี กระแสค้านเป็นส.ว.
- เปิดรายชื่อ ส.ส.มุสลิม 2562 ตบเท้าเข้าสภา (ทั้งหมด)
- แอบปลื้ม! ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ คาดมุสลิมติดโผ 2 ท่าน
- ว่าที่ ส.ส.มุสลิม พรรคภูมิใจไทย 3 ท่าน
บทความโดย: สุรพศ ทวีศักดิ์
ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของมูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรังและเก่งกิจ กิติเรียงลาภ เกี่ยวกับกรณี “ซากีย์ พิทักษ์คุมพล” หนึ่งใน 250 สว.ที่โหวตเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ
มีสองประเด็นหลักๆ ที่อยากแลกเปลี่ยน คือประเด็นจุดยืนของผู้ที่ยืนยันเสรีนิยมประชาธิปไตย กับประเด็นศาสนากับประชาธิปไตย ประเด็นหลังนี้ขยายให้เห็นปัญหาแบบเดียวกันของพุทธศาสนาไทยด้วย
ประเด็นแรก ผมเห็นด้วยกับเก่งกิจว่า ซากีย์ขาดความกล้าหาญทางศีลธรรม (moral courage) ในการยืนยันหลักการที่ถูกต้องที่ตนเองนำเสนอสู่สังคม และผมขอเสริมว่า หากคุณเป็นนักวิชาการที่นำเสนอหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยต่อสาธารณะสม่ำเสมอจริง คุณย่อมปฏิเสธตั้งแต่แรกที่ถูกเสนอชื่อเป็น สว.ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแล้ว
แต่ถ้าคุณยืนยันว่า คุณไม่สามารถปฏิเสธมติองค์กรศาสนาของตนเองได้ตั้งแต่แรก และเมื่อเป็น สว.ในฐานะตัวแทนองค์กรศาสนานั้นคุณก็ไม่สามารถเลือกลงมติอย่างอิสระตามเจตจำนงของตนเองได้ ก็แปลว่า การนำเสนอหลักการเสรีนิยมสม่ำเสมอของคุณก็ย่อมไร้ความหมายในทางปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง หากในทางศาสนาแล้วคุณไม่สามารถจะมีสถานะของ “ปัจเจกบุคคล” ที่เป็นเจ้าของสิทธิและเสรีภาพในการเลือกตามเจตจำนงของตนเองได้เลย
ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
แต่ในบทสัมภาษณ์ของมูฮัมหมัดอิลยาสยืนยันว่า องค์กรศาสนาอิสลามจำเป็นต้องมีตัวแทนไปนั่งในสภาโดยตำแหน่ง ความจำเป็นนี้มาจากสองเหตุผลคือ อำนาจรัฐกำหนดให้องค์กรศาสนาอิสลามเลือกตัวแทนมาเพราะมีปัญหาภาคใต้ และความจำเป็นหนึ่งมาจากอิสลามมี “ลักษณะพิเศษ” แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมี “ผู้รู้หลักอิสลาม” ไปนั่งในสภาเพื่อจะให้ความเห็นได้ถูกต้องเวลาจะบัญญัติกฎหมายที่กระทบต่อหลักอิสลาม ดังคำให้สัมภาษณ์ของเขาที่ว่า
“โดยประเพณีปฏิบัติเวลาจะกลั่นกรองกฏหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วมายังวุฒิสภา เมื่อมายังวุฒิสภาจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ซึ่งถ้ามันไม่มีมุสลิมเลยนี่ ก็ไม่มีใครสามารถให้ความเห็นชอบ อาจเกิดความลักลั่นขึ้นมาได้ ฉะนั้นมันต้องมีมุสลิมอยู่แล้ว ถามว่ามันจำเป็นไหม ถ้าถามผม ผมว่าด้วยระบบแบบนี้มันจำเป็น เพราะว่ามันไม่มีตัวกรองกฎหมาย”
จากความเห็นนี้แสดงว่ามูฮัมหมัดอิลยาสยืนยัน ความชอบธรรมของการมี “อภิสิทธิ์” ทางศาสนาในตำแหน่งสาธารณะของรัฐ เพื่อปกป้องหลักศาสนาของตน ประเด็นของความมีอภิสิทธิ์นี้ไม่เพียงอยู่ที่ว่า ต่อให้ระบบมันไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยคุณก็ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีตำแหน่ง สว. แต่มันมีประเด็นพื้นฐานกว่านั้นมาก นั่นคือ ต้องมีตำแหน่ง สว.สำหรับดูแลการกรองกฎหมายให้เป็นไปตามหลักอิสลามโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ยืนยันอภิสิทธิ์จากจุดยืนทางศาสนา
การมีอภิสิทธิ์เป็น สว.โดยตำแหน่งในฐานะตัวแทนความเชื่อทางศาสนาเช่นนี้ ไม่เพียงแต่มีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่นๆ ที่ไม่มีตำแหน่งเป็นตัวแทนทางศาสนาของตนโดยเฉพาะเท่านั้น ยังเป็นอภิสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรมต่อคนไม่มีศาสนาอีกด้วย เพราะคุณมีตำแหน่งสาธารณะ รับเงินเดือนจากภาษีของคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนา และใช้อำนาจสาธารณะในการออกกฎหมายบนจุดยืนทางศาสนาของตนเองอันเป็นความเชื่อเฉพาะของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ขณะที่คุณยืนยัน “ความไม่มีอิสระ” ที่จะเลือกไม่โหวตสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ คุณก็ยืนยัน “ความมีอิสระ” ที่จะเลือกโหวตปกป้องหลักศาสนาของคุณไปพร้อมๆ กัน ตกลงคุณมีอิสระหรือไม่มีอิสระในการโหวตกันแน่ หรือมันแปลว่าอะไรล่ะ หากไม่แปลว่าคุณยอมรับความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนแบบ “ยื่นหมู ยื่นแมว” กับเผด็จการ คือคุณยอมสนับสนุนเผด็จการเพื่อที่จะได้ “อภิสิทธิ์” ในการปกป้องหลักศาสนาของตนเอง
มันไม่มีหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงใดๆ ยืนยันได้เลยว่า หากไม่มีตำแหน่งตัวแทนองค์กรศาสนาอิสลามในสภาแล้วจะส่งผลเสียหายต่อ “เสรีภาพทางศาสนา” ของชาวมุสลิมในไทยที่ต้องมีได้ในแบบเดียวกับคนศาสนาอื่นๆ
ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวไม่ได้อย่างสมเหตุสมผลว่า ระบบไม่เป็นประชาธิปไตยบังคับให้คุณไม่มีทางเลือก เพราะที่จริงคุณเองก็เลือกจากจุดยืนทางศาสนาตามที่คุณยกมาอ้าง และถ้าจุดยืนของคุณคือความจำเป็นทางศาสนาดังกล่าว ก็แปลว่า ถึงจะเป็นระบอบประชาธิปไตย คุณก็ยังหาทางที่จะไปมีตำแหน่งในสภาเพื่อ “ใช้อำนาจสาธารณะ” ปกป้องหลักศาสนาอันเป็นความเชื่อส่วนตัวของกลุ่มตนอยู่นั่นเอง โดยไม่สนใจว่าการมีอภิสิทธิ์ทางศาสนาแบบนั้นขัดหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือไม่ ยิ่งการยืนยัน “อินโดนีเซียโมเดล” ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่การยืนยันหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย
นี่เป็นปัญหาของทุกองค์กรศาสนา หรือกลุ่มบุคคลทางศาสนาที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองบน “จุดยืนทางศาสนา” ของตนเองเป็นสิ่งสำคัญมาก่อน (priority) ดังที่เราเห็นกลุ่มชาวพุทธออกมาผลักดันให้รัฐบาลจากรัฐประหารบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ แม้ไม่สำเร็จ แต่ก็สำเร็จในเรื่องที่ให้ระบุใน รธน.ให้รัฐส่งเสริมพุทธศาสนานิกายเถรวาทดังที่ทราบกัน
ผมเคารพเพื่อนชาวมุสลิม, ชาวพุทธ หรือศาสนิกของศาสนาใดก็แล้วแต่ที่รักศาสนาของตัวเองและต้องการทำสิ่งที่ดีเพื่อศาสนาของตน แต่มัน “ไม่ยุติธรรม” โดยสิ้นเชิงกับผมและประชาชนทุกคนที่ยืนยันเสรีภาพและประชาธิปไตย ที่กลุ่มบุคคลใดๆ จะอ้าง “อภิสิทธิ์” เรื่องทำเพื่อศาสนาของตนเองด้วยการไปเพิ่มน้ำหนักให้กับอำนาจที่เหยียบสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของผมและประชาชนทุกคน
กรณีซากีย์ แม้ผมจะเข้าใจสถานะ เงื่อนไข ความจำเป็นต่างๆ นานาตามที่มูฮัมหมัดอิลยาสพยายามอธิบาย แต่คำอธิบายเหล่านั้นไม่สามารถลบล้างสถานะ อำนาจ การทำหน้าที่ และการรับเงินเดือนจากภาษีประชาชนของซากีย์ ซึ่งถือเป็น “อภิสิทธิ์” ที่ขัดกับความชอบธรรมตามหลักการเสรีประชาธิปไตยที่คุณเสนอ แน่นอนว่าบรรดานักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ และนักอื่นๆ ใน 250 สว.ย่อมขัดกับความชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน
ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
ประเด็นต่อมาคือ “ปัญหาศาสนากับประชาธิปไตย” ถ้ายืนยันว่า จำเป็นต้องมีตัวแทนขององค์กรอิสลามไปเป็น สว.ในฐานะเป็นปากเสียงแทนชาวมุสลิม แบบนี้จะต่างอะไรกับการยืนยันว่า “ผบ.เหล่าทัพต้องเป็น สว.โดยตำแหน่ง” การยืนยันเช่นนี้คือการยืนยัน “อภิสิทธิ์” บนจุดยืนทางศาสนาที่ขัดกับหลักการเสรีประชาธิปไตยชัดเจน
เพราะตามหลักการเสรีประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ ชาวมุสลิม หรือศาสนาใดๆ จะใช้อภิสิทธิ์ไปมีตำแหน่งสาธารณะ กินเงินเดือนจากภาษีสาธารณะ ใช้อำนาจสาธารณะออกกฎหมายเพื่อปกป้องหลักศาสนาอันเป็นความเชื่อเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ ต่อให้คนกลุ่มนั้นเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมก็ตาม
ดังนั้น การอ้างความจำเป็นทางศาสนาเพื่อเข้าไปมีตำแหน่งในโครงสร้างอำนาจรัฐแบบนี้ ไม่ใช่การอ้าง “สิทธิ” ที่จะมาเรียกร้องให้คนศาสนาอื่นๆ และคนไม่มีศาสนา “เข้าใจ,ยอมรับ และเคารพ” ได้เลย เพราะมันคือการอ้าง “อภิสิทธิ์” อย่างชัดแจ้ง ไม่ต่างจากการอ้างเรื่องบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติด้วยเหตุผลว่าเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่เลย เพราะตามหลักการเสรีประชาธิปไตยไม่ว่าศาสนาของคนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อยก็ต้องไม่มีอภิสิทธิ์
คำถามต่อองค์กรทางศาสนา กลุ่มบุคคลทางศาสนา หรือบุคคลทางศาสนาก็คือ การที่คุณสนับสนุนเผด็จการขัดกับหลักศาสนาของคุณไหม? หรือการที่คุณยอมสนับสนุนเผด็จการเพื่อจะมีอภิสิทธิ์ไปมีตำแหน่งสาธารณะ ใช้ภาษีสาธารณะ และใช้อำนาจสาธารณะปกป้องศาสนาของตนขัดกับหลักศาสนาของคุณไหม? ถ้าคำตอบคือ “ขัด” แต่คุณยังทำ ก็แปลว่า การกระทำของคุณขัดทั้งหลักการประชาธิปไตยและหลักศาสนาของตนเอง
แต่ถ้าคุณยืนยันว่า การสนับสนุนเผด็จการเพื่อให้ตนมีอภิสิทธิ์ใช้ตำแหน่งและอำนาจสาธารณะปกป้องศาสนาของตน ไม่ขัดหลักศาสนาของคุณเลย ก็แปลว่า หลักศาสนาของคุณไปกันได้ดีกับเผด็จการ มากกว่าที่จะไปกันได้กับการปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย หรือหลักศาสนาที่ขัดต่อหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยนั่นเองที่ให้ความชอบธรรมกับการสนับสนุนเผด็จการของคุณ
ผมเข้าใจหากชาวมุสลิมไม่พอใจถ้ารัฐจะยกพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ หรือให้อภิสิทธิ์แก่พุทธศาสนามากกว่าศาสนาอิสลามและศาสนาอื่นๆ ผมเห็นด้วยว่าชาวมุสลิมและคนศาสนาอื่นๆ ควรต่อต้านการกระทำเช่นนั้น แต่ขณะเดียวกันชาวมุสลิมก็ต้องไม่พยายามที่จะมีอภิสิทธิ์ต่างๆ โดยอ้าง “ลักษณะพิเศษ” ของศาสนาตัวเอง เพราะทุกศาสนาล้วนมีลักษณะพิเศษทั้งนั้น รัฐในฐานะตัวแทนอำนาจประชาชน และต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนเสมอกัน มีหน้าที่ตอบสนองลักษณะพิเศษของศาสนาใดๆ ด้วยหรือ
ถ้าเราอ้างเรื่อง “ลักษณะพิเศษ” ของแต่ละศาสนามาพูดคุยกัน ปัญหาไม่จบ เช่น คนที่ยืนยันการสวมฮิญาบเข้าไปในโรงเรียนวัดก็จะอ้างว่าต้องทำ เพราะการแต่งกายแบบนี้เป็นความเชื่อทางศาสนาตนเอง อีกฝ่ายก็จะอ้างว่าเข้ามาในบริเวณวัดต้องเคารพต่อสถานที่ เช่น ถอดหมวก เอาผ้าคลุมศีรษะออก หรืออื่นๆ เพื่อปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของเจ้าที่ เถียงกันไปชั่วกัลปาวสานก็ไม่จบ เพราะต่างคนต่างถูกตามความเชื่อของตน แต่ผิดตามความเชื่อของคนอื่น
แต่ถ้าทุกฝ่ายยึด “กติกากลาง” ในการสนทนากัน คือยึดหลักสิทธิและเสรีภาพ ก็ย่อมหาข้อสรุปร่วมกันได้ว่า การแต่งกายแบบไหนก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล สวมฮิญาบเข้าไปในวัดถ้าไม่ไปทำลายทรัพย์สินวัด หรือทำร้ายพระ ก็ย่อมไม่ผิด เพราะไม่ได้ละเมิดสิทธิใคร
ในเรื่องที่รัฐจะออกฎหมายต่างๆ ก็เหมือนกัน ไม่ควรมีศาสนิกของศาสนาใดอ้างอภิสิทธิ์ไปมีตำแหน่งในสภาเพื่อพิจารณากฎหมายนั้นๆ ได้ ในเมื่อคุณลงสมัคร ส.ส.ให้ประชาชนเลือกได้อยู่แล้ว และคุณยังสามารถแสดงออกผ่านสื่อ ภาคประชาชน และช่องทางอื่นๆ ได้อยู่แล้วหากเห็นว่าการออกกฎหมายนั้นๆ ละเมิดเสรีภาพทางศาสนาของคุณ และรัฐเองก็มีหน้าที่เพียงว่าจะออกฎหมายแบบไหนที่ไม่ไปละเมิดเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ออกกฎหมายให้ถูกตามหลักคำสอนของศาสนาใดๆ หรือเพื่อสิทธิพิเศษและผลประโยชน์ของศาสนาใดๆ
ส่วนที่มูฮัมหมัดอิลยาสบอกว่า “ไม่อยากให้มองการเมืองเป็นสองขั้วขาวดำ หรือแยกฝ่ายเทพฝ่ายมาร” ผมคิดว่าจะเป็นปัญหามาก ถ้าหากกว่าทศวรรษมานี้เราไม่ตระหนักต่อ “ความจริงที่ชัดแจ้ง” ว่าการเมืองที่เราเผชิญอยู่คือการเมืองแบบ “กลับขาวเป็นดำ กลับดำเป็นขาว” ผมคงไม่ต้องยกหลักฐานมาแจกแจงนะครับ เชื่อว่าเราต่างรู้กันอยู่แล้ว
การมีเสรีภาพและประชาธิปไตยต่างหากที่รองรับ “การเมืองสีเทา” ได้จริง เพราะมันเปิดกว้างมากกว่าที่จะให้ฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะมีความคิดความเชื่อ อุดมการณ์ ศาสนา หรือภาพลักษณ์แบบไหนเข้ามาต่อสู้ต่อรองภายใต้หลักสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียม และเป็นการต่อสู้ที่ “แฟร์” มากกว่า เนื่องจากไม่ใช่การต่อสู้บนจุดยืนทางศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ แต่เป็นจุดยืนของ “พลเมือง” ที่ต้องการปกป้องเสรีภาพทางศาสนาเสมอไปพร้อมๆ กับไม่ให้อภิสิทธิ์แก่ศาสนาใดๆ เพื่อที่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาจะมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมในการเลือกสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตและเข้าถึงผลประโยชน์พื้นฐานอื่นๆ เช่น การศึกษา อาชีพ รายได้ สุขภาพ การบริการสาธารณะและสวัสดิการอื่นๆ อย่างเป็นธรรมในฐานะคนเท่ากันอย่างแท้จริง
แต่ทว่าการมีเสรีภาพและประชาธิปไตยจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา คำถามต่อเพื่อนชาวมุสลิมและชาวพุทธที่มีเพียงสองศาสนาซึ่งนำเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองก็คือว่า แล้วจุดยืนทางศาสนาของคุณอยู่ตรงไหนในกระบวนการต่อสู้นี้
ไม่สู้ไม่ว่ากัน แต่ถ้าไม่สู้แล้วกลับไป “เพิ่มน้ำหนัก” ให้กับอำนาจที่กดทับเสรีภาพและประชาธิปไตยจนบ่าของประชาชนที่ลุกขึ้นสู้ทรุดเซ และหลายคนกลายเป็นศพเห็นๆ ย่อมเป็นการกระทำที่น่าละอาย และไม่น่าที่จะมีหลักศาสนาใดๆ ให้ความชอบธรรมกับการกระทำที่น่าละอายเช่นนี้
- รองเลขาฯ จุฬาราชมนตรีแจงมุสลิมใต้ไม่รับร่าง รธน.เหตุ ม.67 เลือกปฏิบัติ-หนุนพุทธเถรวาท
- UNHCR-จุฬาราชมนตรี จัด รอมฎอนนี้ เพื่อพี่น้อง ปี2
- ชูวิทย์ ชี้ อภิสิทธิ์ เดินหมากผิดตาเดียว ล้มทั้งกระดาน ปชป.ถูกตีแตกแทบสูญพันธุ์
ที่มา: prachatai.com