ชาวปาเลสไตน์และชาวแคชเมียร์ประสบกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ
วันที่ 23 สิงหาคม 2562 มีการจัดการเสวนาทางวิชาการ สถานการณ์โลกปัจจุบันวิกฤติแคชเมียร์ ณ ศูนย์กลางอิสลาม รามคำแหง ซอย2 โดยมี อ.จรัญ มะลูลีม ,อ.สราวุฒิ อารีย์, อ.อานัส อมาตยกุล ร่วมเสวนา โดยมีเอกอัคราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย ร่วมด้วย มีผู้สนใจเข้าร่วมหลายร้อยคน
แคชเมียร์กำลังเผชิญชะตากรรมที่เลวร้ายเช่นเดียวกับปาเลสไตน์
ในปีค.ศ.1948 (พ.ศ. 2491) ยิวไซออนนิสม์ (Zionist) ได้ละเมิดสิทธิของชาวอาหรับปาเลสไตน์อย่างที่สุดด้วยการจัดตั้งรัฐอิสราเอลบนแผ่นดินของพวกเขา และในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพอินเดียได้เข้ายึดแคชเมียร์ในปีค.ศ. 1947 (พ.ศ.2490) ทั้งปาเลสไตน์และแคชเมียร์ต่างพึ่งได้รับอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษมาสดๆร้อนๆ
ชาวปาเลสไตน์ได้เผชิญเหตุการณ์ครั้งเลวร้าย หรือที่เรียกว่าอันนักบะ (al-Nakbah) ระหว่างปีค.ศ. 1947-1949 (พ.ศ. 2490-2492) การเข้ายึดดินแดนปาเลสไตน์มากกว่าร้อยละ 78 โดยกองกำลังยิวไซออนนิสม์เพื่อจัดตั้งรัฐอิสราเอล ได้ทำให้ชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 750,000 คนจากประชากร 1.9 ล้านคนต้องหนีตายจากบ้านเกิดของตนเอง นอกจากนี้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารราว 15,000 คน ซึ่งเป็นการสังหารหมู่มากกว่า 70 ครั้ง หมู่บ้านกว่า 530 หมู่บ้านถูกทำลาย โดยในปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ทั่วโลกกว่า 6 ล้านคน
กองทัพอินเดียได้เข้ายึดแคชเมียร์ในวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1947 ชาวแคชเมียร์เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าวันแบล็กเดย์ (Black Day) นับแต่นั้นเป็นต้นมา กองทัพอินเดียได้ตอบโต้การเรียกร้องอิสรภาพของชาวแคชเมียร์ด้วยการใช้ความรุนแรง มีการสังหารผู้บริสุทธิ์ที่ปราศจากอาวุธ ทำลายทรัพย์สินและการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอื่น ๆ สถิติบางส่วนของความรุนแรงในแคชเมียร์ตั้งแต่ปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ภายใต้การยึดครองของอินเดีย (อ้างอิงจาก South Asia Journal, 2562 )
- ชาวแคชเมียร์ถูกสังหารโดยกองทัพอินเดีย: 94,479 คน
- ชาวแคชเมียร์ถูกอุ้มหาย: 10,125 คน
- ผู้หญิงชาวแคชเมียร์ถูกข่มขืนและรุมโทรม: 10,283 คน
- หญิงม่ายชาวแคชเมียร์: 20,005 คน
- เด็กกำพร้าชาวแคชเมียร์: 20,080 คน
- อาคารบ้านเรือนของชาวแคชเมียร์ถูกทำลาย: 106,071 หลัง
ทั้งชาวปาเลสไตน์และชาวแคชเมียร์ประสบกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น การควบคุมตัวโดยพลการ การซ้อมทรมาน การทำลายทรัพย์สินและวิถีการดำรงชีวิต ในปัจจุบันชาวปาเลสไตน์ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ในฉนวนกาซ่าและเวสต์แบงค์ ส่วนชาวแคชเมียร์ถูกจำกัดอิสรภาพในแผ่นดินของตน
ประเทศต่างๆมีการประณามการกระทำของยิวไซออนนิสม์ต่อชาวปาเลสไตน์ผ่านมติสหประชาชาตินับร้อยฉบับ เช่นเดียวกับแคชเมียร์ที่มติสหประชาชาติหลายฉบับระบุสิทธิในกำหนดใจตนเอง (self-determination)
อย่างไรก็ตามทั้งสองถูกปฏิเสธความยุติธรรมเมื่อมติของสหประชาชาติที่ประณามผู้กระทำผิดไร้ผล เพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องนี้
การเพิกถอนมาตรา 370 และ 35A ของรัฐธรรมนูญอินเดีย ที่ให้สิทธิพิเศษแก่จัมมูและแคชเมียร์ มีความคล้ายกับการผ่านกฎหมายในปีค.ศ. 2018 (พ.ศ.2561) ว่าด้วยการกำหนดให้อิสราเอลเป็นประเทศของชาวยิว ลิดรอนสิทธิอันชอบธรรมของชาวอาหรับชาวปาเลสไตน์อีกครั้ง กฎหมายรัฐชาติยิวของอิสราเอลคือการสร้างความเหนือกว่าของชาวยิว (Jewish supremacy )และการใช้นโยบายการกีดกันเชื้อชาติ (apartheid)ต่อชาวปาเลสไตน์ ในขณะที่การยกเลิกมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดียคือการสร้างความเหนือกว่าของชาตินิยมฮินดู (Hindu nationalist supremacy)เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในจัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งเป็นรัฐเดียวในอินเดียที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่
กองกำลังความมั่นคงของอินเดียได้สร้างความกลัวแก่ชาวแคชเมียร์ทุกคน ด้วยการบุกค้นบ้านโดยพลการ มีการจับกุมประชาชนโดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงและการก่อการร้าย ในเหตุการณ์ครั้งนี้หนังสือพิมพ์ THE HINDU ของอินเดียฉบับวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2562 รายงานว่ามีการจับกุมชาวแคชเมียร์ประมาณ 4000 คน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มติดอาวุธเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักการเมือง อาจารย์ นักข่าวและประชาชนทั่วไป
มีรายงานว่าทหารอินเดียได้ขว้างก้อนหินใส่หน้าต่างบ้านของชาวแคชเมียร์ ราวกับเป็นการบอกให้ผู้อาศัยเก็บตัวอยู่ในบ้านของตน จากการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงในจัมมูและแคชเมียร์
ชาวแคชเมียร์กำลังเผชิญกับความเลวร้ายยิ่งกว่าชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่า ที่อย่างน้อยถูกห้อมล้อมจากข้างนอก ก่อนหน้านี้มีทหารประจำการในแคชเมียร์ประมาณ 700,000 นาย และในครั้งนี้ได้มีการเพิ่มกำลังทหารอีกหลายหมื่นนาย เรียกได้ว่าเป็นดินแดนที่มีทหารมากที่สุดในโลก มีการประมาณการว่ามีทหาร 1 นายต่อชาวแคชเมียร์ 7 คน
โลกได้เห็นการฉายเหตุการณ์อัลนักบะซ้ำแล้วซ้ำอีกในที่ต่าง ๆ ผ่านฉากที่โหดร้ายและป่าเถื่อนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อาวุธที่ทันสมัยโดยทหารของรัฐต่อประชาชนที่ปราศจากอาวุธ
ภารกิจการแก้ปัญหานี้อยู่ในมือของประชาคมโลก ตลอดเวลาที่ผ่านมาสหประชาชาติได้ล้มเหลวในแก้ไขความขัดแย้ง กล่าวคือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแทบไม่สามารถทำตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรได้เลย นั่นคือการรักษาสันติภาพโลก แต่กลับกลายเป็นเวทีของการเล่นกับชีวิตของคนนับล้าน หลายครั้งด้วยการใช้สิทธิ์คัดค้าน(veto)ของสมาชิกถาวรห้าประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน
แม้นายเแอนโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการสหประชาชาติจะแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในแคชเมียร์ แต่ยังไม่เพียงพอ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ที่หลังจากการประกาศเคอร์ฟิวในแคชเมียร์นานกว่าสองสัปดาห์ และมีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายว่าอาจจะมีการนองเลือดเกิดขึ้น สหประชาชาติยังไม่มีมาตรการใดๆที่เป็นรูปธรรม
สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำนักจุฬาราชมนตรีประกอบด้วยองค์กรภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ 35 องค์กร ร่วมกับมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งชาติประเทศไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศอินเดียกลับมาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 370 และ 35 A รวมทั้งคืนสถานะความเป็นรัฐให้กับจัมมูและแคชเมียร์ตามเดิมเพื่อเป็นการลดความตึงเครียดและสร้างสันติภาพในพื้นที่และภูมิภาคต่อไป โดยยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน และถอนกำลังทหารที่กำลังคุกคาม ประชาชนแคชเมียร์โดยทันที