ทีมนักปั่นชาวเคนยา 4 คน ได้ปั่นจักรยานเป็นเวลา 45 วัน จากกรุงไนโรบี จนถึงนครมักกะฮ์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ด้วยจุดประสงค์หลัก 2 ประการ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: ทีมนักปั่นฮัจญ์ เล่าประสบการณ์ หลังเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
ทีมนักปั่นชาวเคนยา 4 คน ได้ปั่นจักรยานเป็นเวลา 45 วัน จากกรุงไนโรบี จนถึงนครมักกะฮ์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ด้วยจุดประสงค์หลัก 2 ประการ คือ เพื่อรวบรวมเงินบริจาคให้กับ สถาบันฝึกอบรมอัล-ฟูรอกอน (Al Furaqan Training Institute) ในนาแมนก้า, คาเจียโด้ และเพื่อปฏิบัติให้ครบตามหลักการของศาสนาอิสลาม
โครงการของพวกเขามีชื่อว่า ‘Pedal to Hajj’ พวกเขาปั่นได้ประมาณวันละ 100 กิโลเมตร โดยระยะทางทั้งหมดอยู่ที่ 3,500 กิโลเมตร และรวบรวมเงินบริจาคได้ไม่ถึง 4 หมื่นดอลล่าร์ ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่คิดว่าน่าจะมีผู้ใจบุญบริจาคเพิ่มให้อีก
- คู่รักอินโดนีเซียปั่นจักรยานไปมักกะฮ์ นี่คือการเดินทางสุดวิเศษ 304 วัน
- เปิดใจ ชาวโมร็อกโกวัย 58 ปี “ปั่นสู่ฮัจย์”
กลุ่มจักรยานของเขาเริ่มด้วยสมาชิก 15 คน โดยมีการจัดปั่นรอบเมืองไนโรบี หลังจากนั้นสมาชิกลดเหลือ 8 คน และเหลือ 4 คนในที่สุด ได้แก่ โมฮัมเหม็ด นาซีร (หัวหน้าทีม) ออสมาน อิดริสซ่า อันวาร์ มันซูร และโมฮัมเหม็ด ซาเล็ม ทั้งหมดเริ่มเดินทางเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา
การเดินทางกลับเริ่มเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยใช้เส้นทางเรือจาก เจดดะฮ์ ไปยังท่าเรือซูอาคิน ในซูดาน หลังจากนั้น พวกเขาเดินทางโดยรถยนต์ผ่านเข้าเขตประเทศเอธิโอเปีย เพื่อไปข้ามพรมแดนเข้าสู่เคนยา ที่เมืองโมยาเล่ ตลอดเส้นทางขาไป มีทีมสนับสนุน 2 คน คือ ซาฮีร ทาช ญะกู๊บ และซากิร คิลาน ขับรถประกบไปตลอดทาง และพวกเขาใช้รถยนต์นี้ในการเดินทางกลับในเส้นทางที่ระบุดังกล่าว
ซาลิม กล่าวว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ครอบครัวเห็นด้วยกับการเดินทาง โดยมีทีมสื่อที่เขาต้องติดต่อ และทีมนี้จะคอยรายงานกลับไปให้ครอบครัวทราบ แต่เครือข่ายการติดต่อเกิดปัญหาบ้างในขณะที่อยู่ในเอธิโอเปีย เนื่องจากมีความไม่สงบทางการเมือง
ส่วนการข้ามพรมแดนไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากพวกเขาได้เตรียมการด้านเอกสาร และมีการติดป้ายที่รถจักรยาน รถยนต์ และเสื้อยืดที่สวมใส่ โดยทำทั้งภาษาอาหรับ และภาษา Amharic (ภาษาที่เป็นรากฐานของภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ทวีปแอฟริกา) รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตราชอาณาจักรซาอุดี้อาระเบียในประเทศต่าง ๆ ด้วย
แน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางถูกกว่าซื้อตั๋วเครื่องบินมาก พวกเขานอนตามมัสยิด ค่าใช้จ่ายในการเดินทางส่วนหนึ่งได้รับบริจาคจากองค์กรดะอฺวะฮฺ มะอฺฮัด (Maahad Daawah) และบางส่วนก็ใช้เงินส่วนตัวออกกันเอง
ซาลิม กล่าวว่า สิ่งที่หายากในการเดินทาง คือ น้ำ พวกเขาอาจจะต้องเดินทางถึง 3 วัน จึงจะพบที่ที่มีน้ำพอสำหรับอาบ แต่ในประเทศซูดาน ราคาน้ำมันถูกกว่าน้ำดื่มมาก
ที่มา: www.freemalaysiatoday.com