ณ มัสยิดเก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส ที่มีอายุราว 500 ปี บนเกาะมายอต ในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean island of Mayott) เสียงเครื่องจักรทำงานดังสนั่น
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: มัสยิดเก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส บูรณะใหม่กลางมหาสมุทรอินเดีย
ณ มัสยิดเก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส ที่มีอายุราว 500 ปี บนเกาะมายอต ในมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean island of Mayott) เสียงเครื่องจักรทำงานดังสนั่น ในขณะที่เสียงอะซานเรียกร้องสู่การละหมาดดังขึ้นเป็นระยะ
ห้องโถงละหมาดสีขาวและฟ้าที่มัสยิด Tsingoni แห่งนี้ ถูกใช้วันละ 5 ครั้ง ในขณะที่เพดานเต็มไปด้วยรูรั่ว รอยร้าว และความเปียกชื้น
บาบิรู อับดู สมาชิกสภามัสยิดที่ละหมาดในห้องนี้ทุกวัน กล่าวว่า ความชื้น ฝุ่น และขาดการระบายอากาศ ทำให้เขาเกิดอาการแพ้ และตอนนี้เขาต้องขึ้นมาละหมาดบนห้องชั่วคราวที่อยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งก็จำเป็นต้องบูรณะด้วยเช่นกัน คำนวณราคาค่าซ่อมแซมบูรณะอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้านดอลล่าร์ หรือ 2 ล้านยูโร ซึ่งเมือง Tsingoni (อดีตเมืองหลวง) และประเทศฝรั่งเศสต้องรับผิดชอบร่วมกัน
อาคารมัสยิดนับเป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในฝรั่งเศส (แม้จะไม่ได้อยู่ในฝรั่งเศส) และถูกระบุว่า เป็นอนุสรณ์สถานแห่งประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 2016 เกาะแห่งนี้มีมุสลิมถึงร้อยละ 95
อัมบาส ริดญาลี ผู้อำนวยการด้านวัฒนธรรมของชุมชน Tsingoni กล่าวว่า ที่บริเวณเมี๊ยะฮ์หรอบ (ชุมทิศที่หันหน้าไปยังนครมักกะฮ์) มีข้อความสลักไว้ว่า มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1538 (พ.ศ.2018) โดยสุลต่านอินซา และสถาปัตยกรรมทางฝั่งตะวันตกของมัสยิด ยังคงเป็นของแท้ดั้งเดิมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
สถาบันวิจัยโบราณคดีแห่งชาติของฝรั่งเศส (INRAP) ได้เคยมาขุดค้นที่นี่ และยืนยันว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นมัสยิดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ซึ่งเท่ากับเป็นอาคารร่วมสมัยกับโบสถ์นอร์ทเตรอะดาม ในกรุงปารีส
มีการสร้างนั่งร้านขึ้นรอบ ๆ หออะซานของมัสยิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่อเติมขึ้นใหม่ในปี 1994 และกำลังจะถูกทาสีใหม่ด้วยเช่นกัน มีการเปลี่ยนโดมใหม่ที่ทำด้วยทองแดง พร้อมกับการติดตั้งรูปดาว-เดือนเสี้ยวบนยอด ทดแทนอันเก่าที่ทำด้วยคอนกรีต และแตกเป็นหลายเสี่ยงพร้อมจะยุบตัวลงเมื่อไหร่ก็ได้
Violaine Bressand วิศวกรจากหน่วยงานกิจการวัฒนธรรมของเกาะมายอต กล่าวว่า การออกแบบมัสยิดแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของแนวสวาฮิลี จากชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก คาดว่างานบูรณะจะแล้วเสร็จในปลายปี 2020
ในขณะเดียวกัน มัสยิดแห่งนี้เริ่มจะเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และเงินตราก็จะหลั่งไหลเข้ามาสู่ชุมชน Tsingoni และแน่นอนว่า เงินเหล่านี้จะเข้ามาช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาะ ในขณะที่จะช่วยในการปกป้องความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมัสยิดด้วย
ที่มา: www.france24.com