หญิงมุสลิมในเคนยา จับมือกันเลี้ยงผีเสื้อ เพื่อช่วยดำรงผืนป่า ดินแดนนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากซากปรักหักพังโบราณ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: หญิงมุสลิมในเคนยา จับมือกันเลี้ยงผีเสื้อ
มอมบาซ่า / เคนยา – ผีเสื้อแสนสวยช่วยเพิ่มศักยภาพ และเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงหลายคนในหมู่บ้านกีดี (Gede) ทางชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศเคนยา
ดินแดนนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากซากปรักหักพังโบราณ ที่ประกอบด้วยอาคาร มัสยิด และบ้านพักอาศัย ที่มีอายุราว 800 ปี ผู้หญิงมุสลิมจากชุมชนในหมู่บ้านนี้ ร่วมโครงการที่มีชื่อว่า Kipepeo Project ซึ่งช่วยสนับสนุนการดำรงชีวิตของผู้คนจากการขายผีเสื้อที่มีคุณภาพดีและหลากหลาย รวมทั้งดักแด้ของผีเสื้อกลางคืน (moth – มอธ) ไปสู่ตลาดต่างประเทศในยุโรปและสหรัฐ ฯ โดยมี อังกฤษและตุรกีเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ซึ่งนับเป็นวิธีต่อสู้กับความยากจน และสร้างศักยภาพให้กับชุมชน
ผู้หญิงเหล่านี้ส่วนมากไม่ได้รับการศึกษา และมีรายได้แต่เพียงจากธุรกิจผีเสื้อนี้ สำหรับใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนให้ลูก และเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พวกเธอล่าผีเสื้อด้วยเครื่องมือพื้น ๆ เช่น ตาข่ายที่มีด้ามจับ รวมทั้งการวางกับดักที่ต้นไม้ พวกเธอตระเวนไปตามป่า แต่ต้องระวังไม่ให้เข้าไปตามเส้นทางเดินของช้าง วิธีการก็คือ ต้องระวังอย่างมากไม่ให้ผีเสื้อเป็นอันตรายจากเครื่องมือพื้น ๆ เหล่านั้น
ในอดีต ผู้หญิงเหล่านี้ดำรงชีพอยู่ด้วยการหาฟืน หรือเผาถ่านขาย ทำให้พวกเธอต้องตัดต้นไม้ แต่ปัจจุบันพวกเธอต้องอนุรักษ์ต้นไม้ไว้ เพราะปราศจากต้นไม้ ก็ไม่มีดอกไม้ และเมื่อไม่มีดอกไม้ ผีเสื้อก็จะหายไป
ฟาตูมา ฮามีซี หนึ่งในกลุ่มหญิงมุสลิมเล่าถึงขั้นตอนการทำธุรกิจผีเสื้อนี้ ว่า พวกเธอจะไปวางกับดักผีเสื้อไว้ตามต้นไม้ในป่า หลังจากนั้นจะนำผีเสื้อมาขังไว้และเลี้ยงมันจนกว่าจะถึงเวลาวางไข่ จากไข่จะเป็นตัวหนอนผีเสื้อ ที่กินใบไม้ในป่า หลังจากตัวหนอนโตเต็มที่ก็ได้เวลาที่จะถักใยห่มตัวเป็นดักแด้ (cocoon) และในระยะนี้เองที่พวกเธอจะขายมันก่อนที่มันจะออกมาเป็นผีเสื้อ หลังจากออกไข่แล้วผีเสื้อจะถูกปล่อยออกจากที่คุมขังสู่อิสรภาพ
หลังออกจากรังดักแด้แล้วผีเสื้อจะมีชีวิตอยู่เพียงไม่กี่สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ขนาด และสภาพแวดล้อม ดังนั้น ความต้องการผีเสื้อจึงมีมาก เนื่องจากวงจรชีวิตมันสั้น
โครงการนี้ทำรายได้ถึง 100,000 ดอลล่าร์ ต่อปี และนับตั้งแต่ก่อตั้งโครงการเป็นต้นมา ธุรกิจผีเสื้อมีรายได้แล้ว 1.9 ล้านดอลล่าร์ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ที่ทำให้คนรู้ถึงความสำคัญของป่าแทนที่จะตักตวงผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว
ฟาตูมา เล่าขำ ๆ ว่า นอกจากต้องวิ่งหนีโขลงช้างแล้ว ยังมีความท้าทายอื่น ๆ เช่น ต้องพยายามคิดสร้างเครื่องมือจับผีเสื้อที่ทันสมัย และหาทางแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกรังดักแด้ผีเสื้อเหมือนกัน ซึ่งบางครั้งถึงกับต้องลดราคาตัดหน้าคู่แข่งเลยทีเดียว
รังดักแด้ผีเสื้อ 200 รัง มีราคาขายอยู่ที่ 13,000 ชิลลิ่งเคนยา หรือราว 3,900 บาท ผีเสื้อ 1 ตัว สามารถออกไข่ได้มากถึง 500 ฟอง หากอยู่ในธรรมชาติไข่เพียง 1 ใน 20 ฟอง จะรอดอยู่จนกลายเป็นผีเสื้อ แต่เมื่ออยู่ในสถานที่ปิดสำหรับเพาะเลี้ยงโอกาสที่ไข่จะกลายเป็นหนอน และเป็นดักแด้ก็จะสูงขึ้นมากกว่า
พวกเขาจะไม่ขายรังดักแด้ผีเสื้อทั้งหมด แต่จะเก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อในธรรมชาติ เพื่อเพิ่มจำนวนผีเสื้อเป็นวัฏจักรต่อไป
ที่มา: www.aa.com.tr