เหตุผลสำคัญที่พี่น้องคนไทยจำนวนหนึ่งกลัวมัสยิดและชูคำขวัญต่อต้านกัน คือ มัสยิดรุกล้ำพระพุทธศาสนา และกลัวว่าเมื่อมีมัสยิดขึ้นมาแล้วจะเกิดความรุนแรงเหมือนในสามจังหวัดชายแดนใต้
มัสยิด อันตราย ไม่ควรขยายจำนวนจริงหรือ ?
เหตุผลสำคัญที่พี่น้องคนไทยจำนวนหนึ่งกลัวมัสยิดและชูคำขวัญต่อต้านกัน คือ มัสยิดรุกล้ำพระพุทธศาสนา และกลัวว่าเมื่อมีมัสยิดขึ้นมาแล้วจะเกิดความรุนแรงเหมือนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีมัสยิดจำนวนมากและมีความรุนแรงมากด้วย
- พระมหาอภิชาติ ปลุกกระแสต้านมัสยิดในบึงกาฬ (มีคลิป)
- คนน่านฮือ ยื่นคำขาดห้ามสร้างมัสยิด
- อุบัติเหตุ ที่เมืองน่านต้านการสร้างมัสยิดแห่งแรก
ถ้านับเอามัสยิดที่เริ่มสร้างในสมัยบรมศาสดามุหัมมัด ก็ถือว่า มัสยิดได้เริ่มแสดงบทบาททางสังคมมากว่า 1400 ปีแล้ว เป็นบทบาทที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แก่สังคมมดีนะฮฺ เพราะนับแต่มีมัสยิดสังคมมดีนะฮก็มีเสถียรภาพและความมั่นคงมากขึ้น และแม้จะมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางทางการปกครองแล้ว แต่ชาวยิวและมุชริกีนทั้งหลายก็ยังคงใช้ชีวิตของตนตามปกติเหมือนที่เคยมีมา ไม่มีการรุกล้ำก้าวก่ายสิทธิและเสรีภาพทางศาสนาของผู้ใด ทั้งนี้เป็นไปตามกฎบัตรแห่งมดีนะฮ (Medinah Charter) ที่ถูกตราไว้ก่อนแล้วให้คนทุกศาสนาสามารถนับถือและปฏิบัติตามความเชื่อของตนได้อย่างเสรี โดยไม่มีการขัดขวางต่อต้าน จนกระทั่งชาวยิวเองที่ละเมิดกฏบัตรดังกล่าว
ศาสนทูตมุหัมมัดคือบุคคลต้นแบบที่มุสลิมทุกคนต้องเจริญรอยตาม ทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัวและสังคม รวมทั้งการสร้างมัสยิดก็ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่านด้วย
เมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์แห่งการสร้างมัสยิด พี่น้องชาวพุทธหรือศาสนิกใด ๆ ก็แล้วแต่ จะพบว่าแทนที่เราจะหวาดระแวงต่อการดำรงอยู่ของมัสยิด เรากลับน่าจะยินดีเสียมากกว่า ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. การปรากฎขึ้นของมัสยิด คือ ดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางศาสนาในแผ่นดินที่มัสยิดนั้นตั้งอยู่ และตราบใดที่มีเสรีภาพ ตราบนั้นมุสลิมจะต้องใช้มัสยิดดังกล่าวไปในการรังสรรค์สันติภาพ ภราดรภาพ ความเจริญและความมั่นคงแก่แผ่นดิน ไม่สามารถใช้มัสยิดไปในหนทางของความบาดหมางหรือสั่นคลอนเสถียรภาพของสังคมได้ ผู้ใดกระทำการเช่นนั้น ย่อมถือว่ากระทำการอันขัดแย้งกับเจตนารมณ์แห่งศาสนทูต และมัสยิดที่ดำรงอยู่อย่างย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ ผู้มีอำนาจอาจสั่งรื้อได้โดยชอบธรรม
2. มัสยิดต้องทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะยุวชนมุสลิมให้รู้จักการดำรงชีพอย่างมีแก่นสารสาระ ที่สำคัญคือเป็นคนที่รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ต่อบ้านเกิดเมืองนอนของตน การส่งเสริมให้มัสยิดทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพย่อมหมายถึงเราจะได้คนคุณภาพมาเป็นกำลังในการพัฒนาชาติบ้านเมืองมากขึ้น ในช่วงเวลาที่เรากำลังก้าวสู่สังคมคนชราและเยาวชนส่วนใหญ่ถูกชักจูงให้ห่างไกลมัสยิด มีชีวิตไร้สาระแก่นสาร จนในทีื่สุดก็สมาทานแนวคิดสุดโต่งและเป็นเหยื่อของขบวนการก่อการร้ายต่าง ๆ ได้
3. มัสยิดเป็นพื้นที่สาธารณะหลัก (public sphere)ของชุมชนมุสลิม เป็นสถาบันที่ช่วยสร้างประชาสังคม (civil society)แก่มุสลิมได้ เช่นเดียวกับที่วัดในพุทธศาสนาเคยทำมาก่อน
ความจริงแล้ว ช่วงเวลานี้คือเวลาที่วัดกับมัสยิดจะต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อปกป้องพื้นที่สาธารณะและประชาสังคมของตนไม่ให้ถูกกลืนไปในกระแสวัตถุนิยมสุดโต่งและเสรีนิยมสุดขั้วซึ่งถือเป็นศัตรูร่วมกันของทุกศาสนา เพราะความสุดโต่งของสองกระแสดังกล่าวได้สลายทำลายพื้นที่สาธารณะที่จะช่วยสร้างอัตลักษณ์ทางศาสนาลงไปแทบสิ้นเชิง ในกระแสเช่นนี้ทุกศาสนาต่างต้องเผชิญกับสภาวะความรกร้างว่างเปล่าของศาสนสถาน เพราะผู้คนไปใช้พื้นที่สาธารณะอื่นที่ไม่ใช่ศาสนสถาน เช่น สนามกีฬา ศูนย์การค้าหรือโรงภาพยนต์แทน
การสร้างความแตกแยกระหว่างศาสนามีแต่จะทำให้ทุกศาสนาอ่อนแอมากขึ้นและกลายเป็นเหยื่อของกระแสวัตถุนิยมเพิ่มขึ้น
4. ประเทศไทยมีวัดที่มีพระสงฆ์ประจำประมาณ 41, 340 แห่ง มีพระอารามหลวงอีก 310 แห่ง วัดราษฎร์อีกกว่าสี่หมื่นแห่ง ขณะที่มัสยิดมีไม่เกิน 4000 แห่ง สำหรับวัดนอกจากมีกรมศาสนาคอยทำหน้าที่ดูแลโดยตรงแล้ว ยังมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งมีงบประมาณแยกต่างหากจากกรมศาสนาคอยสนับสนุนอีกหน่วยงานหนึ่งด้วย ขณะที่มัสยิดไม่มีหน่วยงานใดคอยสนับสนุนนอกจากกรมการศาสนาที่มีงบประมาณแต่ละปีแทบจะน้อยที่สุดในหมู่กรมกองทั้งหลาย
สาธุชนทั้งหลายพึงตรองดูเถิด เป็นดังนี้แล้ว มัสยิดจะไปรุกรานพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ?
ส่วนความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ วิญญูชนทั้งหลายย่อมตระหนักดีว่ามิได้มีสาเหตุมาจากศาสนาและมิได้มีฐานอยู่ที่มัสยิดแต่ประการใดเลย แต่มีเหตุปัจจัยนอกศาสนาจำนวนมากที่เข้ามาสุมรุมให้เกิดความรุนแรง กระนั้น ภายใต้ข้อจำกัดมากมายมัสยิดทั้งหลายต่างทำหน้าที่สกัดความรุนแรงจนผู้นำศาสนาหลายคนต้องสังเวยชีวิต กล่าวได้ว่าหากไม่มีมัสยิดอยู่ในพื้นที่ เราอาจเผชิญความรุนแรงมากกว่านี้หลายเท่า
เครดิต: Wisoot Binlateh