ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 2/2563)
จุฬาราชมนตรี ประกาศป้องกันโควิด 2019 (ฉ.2/2563)
ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 2/2563)
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ได้ลุกลามไปในเกือบทุกประเทศทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจํานวนมาก และตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ได้ประกาศดําเนินมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อ และลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด โดยให้งดการจัดกิจกรรมรวมคนจํานวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคนั้น
ในการนี้ สํานักจุฬาราชมนตรีได้พิจารณาตามเจตนารมณ์สําคัญของบทบัญญัติศาสนาอิสลามเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว จึงขอประกาศให้พี่น้องมุสลิมได้พึงตระหนักและปฏิบัติตาม เพื่อลดการสูญเสียและหยุดการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้
1. การกล่าวทักทาย/กล่าวสลาม
ให้งดการสลามด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด และการสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือสลาม กันเท่านั้น
2. การจัดระเบียบมัสยิด และสํานักงานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัด
2.1 สําหรับผู้ดูแลมัสยิด
2.1.1 ให้จัดทําความสะอาดอุปกรณ์และบริเวณที่มีผู้สัมผัสปริมาณมาก ๆ อาทิ ราวบันได ลูกบิดประตู ห้องน้ํา ด้วยน้ํายาทําความสะอาดหรือน้ําผงซักฟอก และแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ อย่างสม่ําเสมอและบ่อยกว่าปกติ
2.1.2 ให้หมั่นทําความสะอาดพื้นมัสยิดหรือสถานที่ละหมาดอย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง ม้วนหรือจัดเก็บพรมปูในมัสยิดหรือพรมปูละหมาดในมัสยิด และงดการบริการผ้าปูละหมาดสําหรับ บุคคล (ผ้าซะญาดะห์) ผ้าโสร่ง หมวกกะปิเยาะห์ และชุดตะละกง ทั้งนี้ หากไม่สามารถม้วนหรือจัดเก็บ พรมดังกล่าวได้ ให้หมั่นทําความสะอาดด้วยน้ํายาฆ่าเชื้อเป็นประจําทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
2.1.3 ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ ให้เปิดหน้าต่างมัสยิด ผ้าม่าน เพื่อให้อากาศถ่ายเท ได้สะดวก
2.1.4 จัดวางเจลล้างมือแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย ไว้บริเวณภายในมัสยิด เช่น ประตูทางเข้า จุดประชาสัมพันธ์ จุดปฐมพยาบาล และหรือสบู่เหลว บริเวณสถานที่อาบน้ําละหมาด ห้องสุขา และจุดที่มีจํานวนคนผ่านไปมา เป็นต้น
2.2 สําหรับผู้เข้าร่วมปฏิบัติศาสนกิจ
2.2.1 หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ํามูก แม้จะมีอาการไม่มาก ให้งดการไปร่วม ละหมาดญะมาอะฮ์หรือละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด
2.2.2 งดการอาบน้ําละหมาดในบ่อน้ํา (กอเลาะห์) หรืออ่างใหญ่ร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็น การป้องกันและดูแลสุขภาพของทุกฝ่าย ให้อาบน้ําละหมาดจากบ้านก่อนเดินทางไปมัสยิด
2.2.3 การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือหลังอาบน้ําละหมาด ไม่เป็นที่ต้องห้ามตาม หลักการศาสนาอิสลาม และไม่ทําให้เสียน้ําละหมาด
2.2.4 ให้ใช้ผ้าปูละหมาด (ผ้าซะญาดะห์) ส่วนตัว
2.2.5 สําหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ขอให้งดการไปละหมาดญะมาอะห์ และละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ทั้งนี้ ให้พักอยู่บ้าน 14 วัน และให้อยู่ห่างจากผู้อื่น ประมาณ 1-2 เมตร เพื่อเฝ้าดูอาการ
2.3 สําหรับสํานักงานคณะกรรมการอิสลามประจําจังหวัด ให้ปฏิบัติตามประกาศ กรมอนามัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) สําหรับสถานที่ราชการ สถานที่ทํางานเอกชน และสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563
2.4 ให้คณะกรรมการอิสลามประจํามัสยิด/คณะกรรมการชุมชน ประสานงานกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามดูแลผู้ที่ต้องเฝ้าระวังอาการอยู่ที่บ้าน เป็นเวลา 14 วัน พร้อมทั้ง ให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ที่ต้องเฝ้าระวังอาการดังกล่าว ตามความเหมาะสม
3. การปฏิบัติศาสนกิจละหมาด
3.1 ให้กระชับเวลาในการละหมาดวันศุกร์ นับตั้งแต่อะซาน คุตบะห์ และละหมาด ไม่เกิน 15 นาที และให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในขณะละหมาดที่มัสยิดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ โรคติดต่อ
3.2 ให้บิหลั่นทําหน้าที่อะซานประจําเวลาที่มัสยิดทุกเวลาตามปกติ และให้กล่าวคําว่า “ อัซซ่อลาตู้ ฟีบุ้ยูตี้กุ้ม” หลังจบการอะซาน พร้อมแจ้งสัปปุรุษว่า “ให้ทุกคนละหมาดที่บ้าน” และ ให้ผู้บริหารมัสยิดจัดการละหมาดเฉพาะกลุ่มที่มีจํานวนไม่เกิน 5 คน โดยมีการเว้นระยะห่าง ในแถวอย่างน้อย 2 เมตร ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งการละหมาดประจํามัสยิด
3.3 สําหรับในเขตพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศห้ามรวมตัว ให้งดการละหมาดญะมาอะห์และ การละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด โดยให้ละหมาดบ่าย (ดุฮฺริ) 4 รอกาอัต ที่บ้านแทน
3.4 การละหมาดญะนาซะห์ ให้จํากัดจํานวนการเชิญผู้มาร่วมละหมาด และรีบดําเนินการ ละหมาดและจัดการฝังให้กระชับและเร็วที่สุด เพื่อป้องกันมิให้มีการรวมตัวกันเป็นจํานวนมากและใช้ระยะเวลานาน
4. การเยี่ยมและปฏิบัติต่อศพ (มัยยิต)
4.1 กรณีการเสียชีวิตทั่วไป ให้ญาติผู้เสียชีวิตจัดระเบียบผู้มาเยี่ยมศพ (มัยยิต) ด้วยการ จัดเตรียมเจลล้างมือแอลกอฮอล์หรือสบู่เหลว และหน้ากากอนามัย ไว้ภายในบริเวณสถานที่ที่คน มาเยี่ยมศพ (มัยยิต)
4.2 กรณีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
4.2.1 ห้ามญาติผู้เสียชีวิตและผู้มาเยี่ยม สัมผัสหรือจูบศพ (มัยยิต)
4.2.2 เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นเชื้อที่แพร่กระจายจากคนสู่คนและตัวเชื้อไวรัสยังอยู่กับร่างกายของผู้เสียชีวิตอีกระยะหนึ่ง และเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่กระจายของเชื้อ จึงทําให้การจัดการกับศพจําเป็นต้องดําเนินไปตามหลักทางการแพทย์ทุกประการ ดังนั้น จึงให้ประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ในการจัดการศพ โดยให้บุคคลที่เป็นมุสลิมทําการตะยัมมุมแทนการอาบน้ําศพในห้องปลอดเชื้อ หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้โดยเฉพาะ โดยผู้ทําหน้าที่ตะยัมมุมสวมชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) แล้วตบฝุ่นที่เตรียมไว้ ครั้งที่1 เพื่อลูบใบหน้าศพ และตบฝุ่นครั้งที่ 2 เพื่อลูบมือจนถึงข้อศอกหรือ อย่างน้อยที่สุดลูบให้ถึงข้อมือ ทั้ง 2 ข้าง แล้วปิดถุงบรรจุศพ โดยถือเอาถุงบรรจุศพเป็นกะฝัน และให้ผู้นั้นทําการละหมาดให้แก่ศพ ณ สถานที่นั้น หลังจากนั้นให้นําศพไปฝัง ณ สุสาน (กุโบร์) โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ เนื่องจากการอาบน้ำศพจะทําให้ผู้อาบสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือของเหลว ที่ออกจากศพและปนเปื้อนกับน้ำ ซึ่งอาจทําให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้
5. การจัดกิจกรรมสาธารณะ
5.1 ให้งดการจัดกิจกรรมและการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ได้แก่ การจัดงานการกุศลขององค์กร มัสยิด มูลนิธิ สมาคม ชมรม งานบรรยายศาสนธรรมประจําวัน/ประจําสัปดาห์/ประจําเดือน การเรียน การสอนศาสนา ทั้งการสอนอัลกุรอานและศาสนาภาคบังคับ โดยให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานของตน ให้ทบทวนบทเรียนดังกล่าวภายในบ้าน
5.2 ให้งดการจัดกิจกรรมและการออกดะวะห์หรือตับลีฆ (การเชิญชวนให้ศาสนิกทําความดี) ทั้งส่วนบุคคลและการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ทั้งในมัสยิด และสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ
5.3 ให้งดหรือเลื่อนการจัดงานฉลองมงคลสมรสไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไป ในทางที่ดีขึ้นหรือเข้าสู่สภาวะปกติ และหรือให้ทําพิธีนิกะฮ์ (สมรส) เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่เกิน ๑๐ คน
5.4 ให้งดหรือเลื่อนการทําตะฮ์นีก (เปิดปากเด็กทารกแรกเกิด) เนื่องจากผู้ทําตะหนีกต้องเคี้ยว หรือใช้มือบดอินทผลัมให้ละเอียดแล้วป้อนหรือป้ายที่เพดานในส่วนลึกของปากเด็กทารกแรกเกิด ดังนั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคดังกล่าว จึงขอให้งดการทําไปก่อน รวมทั้งการทําบุญอะกีเกาะฮ์ (จัดเลี้ยงในการโกนผมไฟ) ด้วย
5.5 งดการรับประทานอาหารแบบใส่ถาดรวม ให้แบ่งใส่ภาชนะที่ใช้เฉพาะของตนเอง และ งดการรับประทานอาหารแบบใช้มือป้อน โดยให้ใช้ช้อนที่ใช้เฉพาะของตนเองหรือล้างมือให้สะอาด และใช้ช้อนกลางเฉพาะบุคคลในการรับประทานอาหาร
การปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นถือเป็นความจําเป็นตามเจตนารมณ์สําคัญของ บทบัญญัติศาสนาอิสลาม เพราะการมีสุขภาพร่างกายที่ดีเป็นความโปรดปรานที่อัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่มนุษย์ทุกคน จึงจําเป็นต้องดูแลรักษาร่างกายให้มีสุขภาพที่ดี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่องค์กร หน่วยงาน หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกําหนด เพื่อการรักษาไว้ ซึ่งชีวิตของตนเองและสังคมมนุษยชาติให้รอดปลอดภัยต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนมีความอดทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและวิงวอนขอดุอา (ขอพร) จากอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ด้วยบทขอพรนี้
اللَّهُمَّ إِنِّي أَعُوذُ بِكَ مِنَ الْبَرَصِ، وَالْجُنُونِ، وَالْجُذَامِ، وَمِنْ سَيِّئِ الأَسْقَامِ
คำอ่าน : อัลลอฮุมมะ อินนี อะอูซุ บิกะ มินัลบะร็อศ วัลญุนูน วัลญุซาม วะมิน ซัยยิอิลอัสกอม
ความหมาย : “โอ้ อัลลอฮ์ ข้าพระองค์ฯ ขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจาก โรคด่างขาว โรควิกลจริต โรคเรื้อน โรคโควิด 19 และความเจ็บป่วยที่เลวร้ายทั้งปวง”
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวข้างต้นให้ถือปฏิบัติจนกว่า สถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ หรือรัฐบาลจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ประกาศ ณ วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2563
(นายอาศิส พิทักษ์คุมพล)
จุฬาราชมนตรี