ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ) ผนึกพลังองค์กรสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง (PPE) สู่โรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนใต้
ศวฮ.ผนึกพลังต้าน Covid-19 มอบแอลกอฮอล์รพ.-มัสยิดทั่วไทย
รวมใจ รวมพลัง ร่วมต้าน Covid-19
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ผนึกพลังองค์กรสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง (PPE) สู่โรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนใต้ ชุมชนและมัสยิดต่าง ๆ ทั่วไทยต้านภัยโควิด 19 พร้อมส่งทีมสร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะสังคมมุสลิมตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลและปกป้องตัวเอง
(ซ้ายไปขวา) สมศักดิ์ เมดาน(ที่ปรึกษาคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย) /ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ / มานิต ทองแสง(อิหม่ามมัสยิดดารุ้ลอะมาน พญาไท) รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน (ผู้อำนวยการ ศวฮ.) / สุธรรม บุญมาเลิศ (เลขานุการจุฬาราชมนตรี) / รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร (ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย) / อำพน นะมิ (ผู้แทนมัสยิดในกรุงเทพฯ)
วันที่ 16 เมษายน 2563 รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งมอบเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ให้แก่โรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนใต้ ชุมชนและมัสยิดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยร่วมกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบตั้งต้นจากบริษัทธัญธารา ไทยเฮอร์เบิ้ล จำกัด
“เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพซึ่งดำเนินการโดยทีมงานของศูนย์วิทย์ฯ นักวิทยาศาสตร์ของเรา 30 – 40 คน มาช่วยกันเตรียมน้ำยาแล้วก็ทยอยส่งไป นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่เราทำพร้อมกันคือเราได้ส่งทีมเข้าไปทำร่วมกับทีมแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการดูแลผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ขณะนี้พักอยู่ที่บ้าน เราจะต้องทำการติดต่อ ประสานงานกับคนต่าง ๆ เหล่านี้ ให้กำลังใจ ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องของโรคว่า เหตุใดเราจึงต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เหตุใดจึงต้องวางระยะห่างของคนในชุมชน ของคนในสังคม
เหตุใดเราจึงต้องล้างมือบ่อย เหตุใดเราจึงต้องป้องกันส่วนที่เราเรียกว่า T Zone คือดวงตา จมูกและปาก นี่เป็นความสำคัญในการป้องกัน มีข่าวลือที่ไม่ถูกต้องค่อนข้างเยอะมากเพราะฉะนั้นเราจะต้องให้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะทำให้พี่น้องมีความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมมุสลิมที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากประชากรกลุ่มใหญ่ เราในฐานะที่เป็นมุสลิมเราก็ต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจ อย่างเรื่องของกลุ่มดะวะห์ซึ่งคนภายนอกไม่รู้จักไม่เข้าใจ เราก็จะต้องสร้างความเข้าใจให้คนเข้าใจกลุ่มดะวะห์ และให้กลุ่มดะวะห์เนี่ยเข้าใจในกระบวนการและวิธีการป้องกันเพราะฉะนั้นเราต้องทำงานในสองส่วน” รศ.ดร.วินัย กล่าว
การส่งมอบเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ครั้งนี้ผ่านทางหน่วยงานสำคัญ ได้แก่
- กระทรวงศึกษาธิการ โดย นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ซึ่งรับผิดชอบในการกระจายสู่โรงพยาบาล มัสยิด และสถานที่สำคัญของชุมชนในพื้นที่เขตจังหวัดชายแดนใต้
- สำนักจุฬาราชมนตรี
- สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
- สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่
- ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดย คุณสามารถ มะลูลีม ประธานมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางฯ
- มัสยิดต่าง ๆ ใน กทม.
“สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไว้คือ อยากจะฝากคำขอบคุณทีมแพทย์และทีมสาธารณสุขที่ทำงานกันอย่างขมักเขม้น ทำงานกันอย่างหนัก ทำงานอย่างมืออาชีพในการที่จะปกป้องการกระจายของเชื้อ และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องขอขอบคุณในฐานะที่ผมเองทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย คือ ขอขอบคุณภาคประชาชนในการให้ความร่วมมือ หลายคนหลายประเทศมองว่าเราจะป้องกันเรื่องนี้ได้ค่อนข้างยากเนื่องจากว่าเราเป็นกลุ่มชนที่มีลักษณะนิสัยค่อนข้างจะอิสระ แต่ว่าเราได้แสดงให้สังคมโลกเห็นว่าเราเป็นกลุ่มคนที่มีวินัยสูงในการที่จะร่วมมือกัน สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องทำในขณะนี้สำหรับพวกเราภาคประชาชนก็คือ ความอดทนในการที่จะทำตามในสิ่งที่ทางสาธารณสุขให้คำแนะนำ อดทนจนกระทั่งผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน จะทำให้เรากลับเข้ามาอยู่ในภาวะปกติได้โดยเร็ว ก็ขอฝากพวกเราไว้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” รศ.ดร.วินัย กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด