โควิด-19 ส่งผลให้โลกต้องเผชิญหน้ากับการขาดเสถียรภาพ ความทุกข์ยาก และความไม่มั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ
โควิด-19 ทำมุสลิมอินเดีย-ศรีลังกา ถูกตีตรายิ่งกว่าเดิม
โควิด-19 ส่งผลให้โลกต้องเผชิญหน้ากับการขาดเสถียรภาพ ความทุกข์ยาก และความไม่มั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ บังคับให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทว่า ในหลายประเทศที่นักการเมืองไม่สามารถจัดการวิกฤตสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็มีแนวโน้มที่จะหาแพะรับบาปเพื่อปกปิดข้อบกพร่องของตัวเอง
ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ มักเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ การกระทำในลักษณะนี้ ส่งผลให้คนหลายล้านคน ที่เผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติ การละเมิดและการกดทับแม้แต่ในช่วงก่อนการระบาดของโรค มีชีวิตที่ลำบากยิ่งกว่าเดิม เช่น ชาวมุสลิมในหลายประเทศ ที่ต้องเผชิญหน้ากับทั้งเรื่องของโรคระบาดและอาการเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ที่เพิ่มมากขึ้น
ตั้งแต่เกิด การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ในประเทศอินเดีย ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามกว่า 200 ล้านคน ถูกใส่ร้ายว่าเป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” จากทั้งสื่อท้องถิ่นและพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janaha Party หรือ BJP) โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม หลังจากชาวมุสลิมรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาในเมืองนิวเดลี และส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมืองพุ่งสูงขึ้น
นักการเมืองจากพรรค BJP ก็ได้กล่าวหาว่า การรวมตัวกันเป็น “การก่อการร้ายไวรัสโคโรนา” และเรียกร้องให้ลงโทษชาวมุสลิมที่เข้าร่วมพิธีกรรมดังกล่าว “เช่นเดียวกับผู้ก่อการร้าย” จากเหตุการณ์นี้ ทำให้หัวข้อ “โคโรนาญิฮาด (Corona Jihad)” กลายเป็นเรื่องที่โด่งดังในโลกออนไลน์ นำไปสู่การทำร้ายชาวมุสลิมหลายคนทั้งทางร่างกายและคำพูด
ขณะที่ในประเทศศรีลังกา รัฐบาลก็เลือกใช้วิกฤตโรคโควิด-19 เป็นข้ออ้างในการตีตราชาวมุสลิมและชักนำให้เกิดการเกลียดกลัวอิสลามเช่นกัน แม้ศรีลังกาจะเป็นแหล่งมรดกแห่งชาติพันธุ์ที่หลากหลายและความหลากหลายทางศาสนา
แต่การเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเกลียดกลัวอิสลามก็ถูกสื่อมวลชนและนักการเมืองนำมาใช้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การถูกโจมตีโดยกลุ่มมุสลิมสุดโต่งในศรีลังกา และกระแสเกลียดกลัวอิสลามที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทำให้ชาวมุสลิมถูกขับให้เป็นคนชายขอบของสังคมในประเทศนั้น ๆ และยังต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดในประเทศศรีลังกา สื่อมวลชนบางส่วนและนักการเมืองบางคนจึงกล่าวโทษชาวมุสลิม ที่มีจำนวนประชากร 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ว่าเป็นกลุ่มที่นำเชื้อไวรัสมาระบาดในประเทศ กิจกรรมทางศาสนาของชาวมุสลิมถูกมองว่าเป็น “กิจกรรมซูเปอร์สเปรดเดอร์” เช่นเดียวกับในประเทศอินเดีย ขณะที่ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่ซึ่งนับถือศาสนาพุทธได้รับการแจ้งเตือนว่า ห้ามซื้ออาหารจากผู้ค้าขายชาวมุสลิม
ในเดือนเมษายน รัฐบาลได้ออกระเบียบการจัดการพิธีศพสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขัดแย้งกับวิธีการของชาวมุสลิม มาตรการดังกล่าวไม่เพียงแต่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพการเลือกนับถือศาสนาของชาวมุสลิม แต่ยังสร้างภาพจำว่า การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวมุสลิมทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีมาตรการเพื่อยับยั้งการระบาดของโรค ชาวมุสลิมทั้งในประเทศศรีลังกาและประเทศอื่น ๆ ก็ยอมปรับเปลี่ยนขั้นตอนของพิธีกรรมฝังศพของพวกเขา
ไม่ใช่ชาวมุสลิมในประเทศอินเดียและศรีลังกาเท่านั้น ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ชาวอุยกูร์ในประเทศจีน ก็เผชิญหน้ากับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาล และถูกจับขังอยู่ใน “ค่ายปรับทัศนคติ” ที่แออัด
ซึ่งทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะติดโรค ขณะที่ชาวโรฮิงญา ที่หลบหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากประเทศพม่าไปยังประเทศบังกลาเทศ ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัด และในสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาคนหนึ่งก็ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว
ที่มา: www.sanook.com
- ผู้ก่อเหตุยิงฐานทัพเรือสหรัฐฯ ยันเป็นพลเมืองอเมริกัน แต่เกิดในซีเรีย
- ชายพยายามนำละหมาดอีดที่ลานมัสยิด แต่ถูกไล่อลหม่าน
- ภาพวันอีดิลฟิตรีทั่วโลก ท่ามกลางโควิด-19
- หอสังเกตการณ์ซาอุฯ คำนวณ เดือนรอมฎอนปีนี้อาจมี 30 วัน
- ผู้นำเชเชนเข้าโรงพยาบาล สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือไม่?
- คาซัคสถานจะยกเลิกปิดมัสยิด โรงแรม ร้านอาหาร