ข้อความในจดหมายฉบับหนึ่งของ หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปาตานี ที่เขียนถึงภรรยา เมื่อ 25 สค 2493
66 ปี บังคับสูญหาย หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปาตานี
"พี่จากน้องไป คือเพื่อไปศึกษาหาความรู้นอกประเทศเพื่อรักษาศาสนาและประเทศชาติซึ่งที่เรารัก ในการจากไปนั้น ในขณะนี้ก็กำลังเรียนที่มหาวิทยาลัยบางขวาง เมื่อไม่สำเร็จครูก็ยังไม่ให้เราออกจากเรียน เมื่อสำเร็จแล้ว เราก็ได้ออกกลับมาสอนลูก ๆ หลาน ๆ เราไปเพื่ออนาคต"
ข้อความในจดหมายฉบับหนึ่งของ หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปาตานี ที่เขียนถึงภรรยา เมื่อ 25 ส.ค. 2493 จากเรือนจำบางขวาง จ.นนทบุรี ส่งถึงบ้านที่ปัตตานี
จดหมายของหะยีสุหลงจากเรือนจำบางขวาง จ.นนทบุรี ที่เขียนส่งถึงครอบครัวที่ จ.ปัตตานี เมื่อ 25 ส.ค. 2493 เป็นหนึ่งในจดหมายกว่า 20 ฉบับ ที่ส่งมาถึงครอบครัวระหว่างต้องโทษในข้อหากบฏในราชอาณาจักรระหว่างปี 2491-2495 / มูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา
กระดาษเก่าสีน้ำตาลบรรจุเนื้อความจดหมายที่เขียนเป็นภาษาไทยข้างต้น เป็นหนึ่งในจดหมายกว่า 20 ฉบับ ที่ส่งมาถึงครอบครัวระหว่างต้องโทษในข้อหากบฏในราชอาณาจักรระหว่างปี 2491-2495 ไม่นานหลังจากยื่นข้อเสนอ 7 ประการ เพื่อสิทธิทางการปกครองและวัฒนธรรมของคนปาตานี
หลบเข้ามาไม่กี่ก้าวจากถนนรามโกมุทกลางย่านเก่ากลางเมืองปัตตานีอันจอแจ บ้านของหะยีสุหลงซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ไม่กี่ปีมานี้ตั้งอยู่อย่างสงบเงียบ ที่นี่คือสถานที่ประวัติศาสตร์ที่หะยีสุหลงใช้จัดทำข้อเสนอ 7 ประการ ซึ่งนักวิชาการผู้ศึกษาความเป็นไปในชายแดนใต้คนหนึ่ง บอกว่าเป็นรากฐานการเรียกร้องอิสรภาพทางวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในบริเวณเดียวกันมีสุเหร่าที่เดิมเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกที่ก่อตั้งโดยเขาด้วย
ชีวิตและการต่อสู้ของหะยีสุหลง โลดแล่นอยู่ในช่วง 2470-2497 ก่อนประวัติศาสตร์บันทึกฉากสุดท้ายว่าเป็นผู้ที่ถูก "รัฐ" อุ้มฆ่า บังคับสูญหายที่ทะเลสาบสงขลา พร้อมบุตรชายคนโตและเพื่อนรวม 4 คน เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2497
ปี 2563 ครบ66 ปีที่เขาถูกบังคับสูญหาย ภาพของหะยีสุหลงกลับมาปรากฏอีกครั้ง ผ่านป้ายประท้วงบนท้องถนนและสถานศึกษาในการชุมนุมแฟลชม็อบของคนรุ่นใหม่ เรียกร้องต่อผู้มีอำนาจเกี่ยวกับการอุ้มฆ่านอกกฎหมายนักเคลื่อนไหวหลายชีวิตที่พวกเขาเชื่อว่ากระทำโดยรัฐ
หะยีสุหลงอยู่ในทรงจำของผู้คนอย่างไร และเขาได้ทิ้งมรดกสำคัญอะไรไว้บ้าง บีบีซีไทยสนทนากับทายาทรุ่นที่สองและสามเล่าถึงชีวิตและความคิดของผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวปาตานี
ปฐมบทแห่งศรัทธา
"จริงๆ ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรเลย สอนหนังสืออย่างเดียว เป็นห่วงชาวบ้านว่าไม่รู้ศาสนาอย่างจริงจัง"ในวัย 86 ปี เด่น โต๊ะมีนา บุตรชายคนที่สามและนักการเมืองคนสำคัญของชายแดนใต้ ย้อนเล่าถึงผู้เป็นพ่อที่เขาเห็นในช่วงวัยเยาว์และคำบอกเล่าที่ได้ยิน
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2470 หะยีสุหลงเดินทางกลับจากการเรียนวิชาศาสนาอิสลามที่นครเมกกะ เมื่อกลับมายังปาตานี ก็ได้เห็นผู้คนในบ้านเกิดยังมีความเชื่อเรื่องผีสางที่ห่างไกลจากศาสนาอิสลามที่ได้ร่ำเรียนมา หะยีสุหลงตระเวนดาวะห์ (อบรม) ชาวบ้านทั่วดินแดนปาตานี ตั้งแต่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ด้วยต้องการให้ชาวมลายูมุสลิมได้เข้าใจหลักศาสนาที่ถูกต้อง เด่นบอกว่าความฝันของบิดาในเวลานั้น คือ
"ต้องให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้บ้างเรื่องศาสนา เลิกเชื่อภูตผี"
ความคิดเรื่องการก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกของประเทศเริ่มในช่วงปี 2472 หะยีสุหลงเลือกที่จะไม่สร้างเป็นปอเนาะซึ่งมีลักษณะเป็นส่วนบุคคล เพราะอยากให้เป็นโรงเรียนที่ไม่ได้สอนแต่ศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้การศึกษาที่เรื่องเศรษฐกิจสังคมด้วย
การก่อสร้างใช้งบประมาณราว 7,000 บาท ซึ่งได้รับเงินทุน 3,200 บาท จากพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรและนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 หะยีสุหลงเดินทางด้วยรถไฟขึ้นไปที่กรุงเทพฯ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อสร้างเสร็จ พระยาพหลฯ ก็ได้เดินทางมาร่วมงานเปิดโรงเรียนด้วย
โรงเรียนสอนศาสนาแบบใหม่ที่ก้าวหน้าในยุคนั้นถูกให้ชื่อว่า "มัดราเซาะห์ อัลมูอารีฟ อัลว่าฏอนียะห์ ปัตตานี" เป็นศูนย์กลางที่ก่อกำเนิดศรัทธาเชื่อถือของผู้คนมลายูที่มีต่อตัวหะยีสุหลงเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา
มูลเหตุของความหวาดระแวง และนโยบายสร้างชาติที่กดขี่ชาวมลายูมุสลิม
"ตอนนั้นทางการรู้สึกระแวงว่าใครที่ประชาชนนับถือมากก็กลัวหมด" เป็นทัศนะโดยสรุปจากเด่น โต๊ะมีนา ที่สะท้อนความเป็นไปในเมื่อหะยีสุหลงเริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นมาในหมู่ชาวมลายูมุสลิม
ทว่าเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรก (2481-2487) และเริ่ม "สร้างชาติ" ด้วยแนวทางชาตินิยมผ่านการประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ การขมวดรวมความเป็นชาติไทยได้บังคับให้คนในอาณาเขตรัฐไม่ว่าเชื้อชาติหรือศาสนาใดสำนึกความเป็นไทยด้วยการมีแบบแผนวิถีปฏิบัติแบบเดียวกัน
หนังสือเรื่อง "ความรุนแรงกับการจัดการความจริง : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ" โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อธิบายว่าข้อกำหนดรัฐนิยมที่ใช้ผ่าน พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติยุคนั้น ห้ามไม่ให้ชาวมลายูมุสลิมแต่งกายตามวัฒนธรรมมลายู ห้ามไม่ให้ตั้งชื่อและห้ามพูดภาษามลายู ห้ามนับถือศาสนาอิสลาม ทั้งยังปรากฏคำสั่งราชการบังคับให้กราบไหว้พระพุทธรูปในบางพื้นที่ หรือการใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดกและครอบครัว แทนที่การใช้กฎหมายอิสลามในศาลของสี่จังหวัดภาคใต้
นอกจาก ได้รับเงินทุนส่วนหนึ่งจากพระยาพหลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรแล้ว โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามของหะยีสุหลง ยังเคยรับการเยือนของนายปรีดี พนมยงค์ สมัยเป็น รมว.มหาดไทย / มูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา
การกดขี่อัตลักษณ์ของชาวมลายูหลายประการซึ่งนำมาสู่ข้อร้องเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรมจากราษฎรในสี่จังหวัดอย่างกว้างขวางทำให้หะยีสุหลง ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ตัดสินใจยื่นข้อเสนอ 7 ประการต่อรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2490
"หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกฯ ตั้งกรรมการสอดส่องภาวะการณ์ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ตอนนั้นปัญหาเยอะมาก คนเลวรีดไถ คนเดือดร้อนไม่รู้ไปหาใคร ประชาชนเดือดร้อนมาก... เมื่อหะยีสุหลงรู้ข่าวว่าจะมีคณะจากกรุงเทพฯ ก็เรียกประชุมประมาณ 100-200 คน ว่านี่ตัวแทนรัฐบาลมาแล้ว เราจะขออะไรบ้าง ก็เถียงกันไปเถียงกันมาก็ได้ 7 ข้อนี้ เป็นการเรียกร้องของประชาชน" เด่นเล่า
ข้อเสนอ 7 ประการ ของหะยีสุหลง เพื่อการปกครองในสี่จังหวัดภาคใต้
1. ขอให้มีการปกครอง ปัตตานี สตูล ยะลา และนราธิวาส โดยผู้มีตำแหน่งสูงสุดต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัดนี้ โดยได้รับเลือกจากชาวมุสลิมในพื้นที่ และมีอำนาจสูงสุดในการแต่งตั้งข้าราชการ
2. ข้าราชการใน 4 จังหวัดให้มีชาวมลายู 80%
3. ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย
4. ให้มีการศึกษาภาษามลายูในโรงเรียนชั้นประถม
5. แยกศาลศาสนาออกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกาลีที่มีเสรีในการพิพากษาชี้ขาดความ
6. ผลประโยชน์ใด ๆ ทางภาษีให้ใช้ใน 4 จังหวัดนี้
7. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับปฏิบัติการศาสนาอิสลาม
ถูกกกล่าวหาเป็น "กบฏแบ่งแยกดินแดน"
เมื่อรัฐบาลได้รับข้อเสนอ 7 ข้อ รัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ มีมติในเดือน ก.ค.ปีเดียวกัน ให้กระทรวงมหาดไทยไปหารูปแบบการปกครองให้เหมาะสม แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอทั้งหมด เพราะเนื้อหาของข้อเสนอนั้นล้วนแต่เป็นการกระจายอำนาจและเรียกร้องอิสระทางวัฒนธรรมตามวิถีมลายูมุสลิม เด่น โต๊ะมีนา ได้ชี้ถึงการยอมต่อคำขอที่รัฐไทยให้ตอนนั้นว่า "ให้เล็ก ๆ ไม่กี่อย่าง" เช่น การเปิดสอนภาษามลายูในโรงเรียนประชาบาล หรือการเพิ่มสัดส่วนของข้าราชการมลายูมุสลิม
ข้อมูลจากหนังสือเรื่อง "ความรุนแรงกับการจัดการความจริง : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ" ระบุว่า เมื่อข้อเสนอ 7 ข้อไม่ได้รับการตอบรับหะยีสุหลงได้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินงานให้ชาวมลายูมีสิทธิมีเสียงและก่อตั้งแคว้นมลายูตามขนบธรรมเนียมมลายูภายใต้ความคุ้มครองของรัฐบาลไทย
เมื่อการเมืองที่กรุงเทพฯ เกิดการรัฐประหารในวันที่ 8 พ.ย. 2490 นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกฯ รมว.มหาดไทยสมัยนั้น มีนโยบายชัดเจนว่าจะกำจัด "ตัวการที่คิดแบ่งแยกดินแดน" หลังจากนั้นไม่นานหะยีสุหลง และพวกได้ถูกจับกุมในเดือน ม.ค. 2491 และถูกฟ้องฐาน "ตระเตรียมและสมคบคิดกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง" ข้อมูลที่มูลนิธอาจารย์ฮัจยีห์สุหลงฯ บันทึกไว้ระบุว่า เขาถูกพิพากษาให้รับโทษจำคุก 4 ปี 8 เดือน ที่เรือนจำบางขวาง ในข้อหาดูหมิ่นรัฐบาล แต่ยกฟ้องข้อหาแบ่งแยกดินแดน
บังคับสูญหาย
หะยีสุหลงกลับสู่อิสรภาพอีกครั้งในวันที่ 15 มิ.ย. 2495 แต่ทว่าเป็นอิสรภาพที่ถูกจับตาจากรัฐก่อนถูกบังคับสูญหายในอีกสองปีต่อมา เด่นเล่าถึงเหตุการณ์วันสุดท้ายในเขาได้เจอผู้เป็นพ่อเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2497 เป็นช่วงเวลาที่เขากลับจากการเรียนที่รัฐกลันตันในชั้นมัธยมปลาย
"เป็นช่วงที่ผมกลับมาบ้าน โรงเรียนปิดเทอม ทางตำรวจเรียกพ่อไปที่สงขลา พ่อก็เอาพี่ชายคนโตเป็นล่าม เพราะหะยีสุหลงพูดไทยไม่ได้เลย ลงบันไดตรงนี้แล้วแท็กซี่มารับไป นึกไม่ถึงเลยว่าเป็นวันสุดท้าย" เด่นเล่าภาพความทรงจำสุดท้ายที่ได้เห็นผู้เป็นพ่อในบ้านหลังเดิมเมื่อ 66 ปีที่แล้ว
หะยีสุหลง อะห์หมัด ลูกชายคนโต และเพื่อนอีกสองคน ออกจากบ้านในเช้าวันนั้นเพื่อไปพบหน่วยสันติบาลสงขลาที่ อ.เมือง จ.สงขลา เด่นกล่าวต่อไปว่า "รถแท็กซี่ส่งหะยีสุหลงที่ อ.โคกโพธิ์ เพื่อนั่งรถไฟไปลงที่หาดใหญ่ เมื่อถึงหาดใหญ่มีตำรวจรับตัว ถึงเวลาละหมาดก็พาละหมาด หลังจากนั้นพาไปสงขลา ตำรวจสอบเป็นพิธีสอบเป็นหลักฐานว่ามาสอบจริง พอเซ็นเสร็จ เพชรฆาตก็รออยู่ข้างนอก
ครอบครัวหะยีสุหลงออกตระเวนตามหาและค้นหาความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของหะยีสุหลงและพวก ทั้งติดตามไปยังสันติบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ได้รับคำตอบว่า หะยีสุหลงกับพวกอยู่นอกประเทศ กระทั่งเมื่อเด่นและมารดาเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อขอเข้าพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่บ้านชิดลม แต่ได้พบกับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามแทน คำตอบที่ภริยานายกฯ กล่าวกับเด่นในตอนนั้น เป็นจังหวะเวลาที่เด่นบอกว่า หมดหวังแล้วที่จะเจอผู้เป็นบิดาในขณะยังมีชีวิต
"พอได้เจอท่านผู้หญิงละเอียดก็จบเลย บอกว่าไม่ต้องไปหาหรอก ตายไปแล้ว...." เด่นย้อนความทรงจำช่วงก่อนปี 2500
"ความจริง" ที่ครอบครัวหะยีสุหลงตามหาที่มีน้ำหนักที่สุดถึงผู้ลงมืออุ้มฆ่าหะยีสุหลง เกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนกลุ่มอำนาจหลังปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสะสางคดีนี้
"ความจริง" จากคณะกรรมการชุดนี้บอกว่า หะยีสุหลงกับพวก 2 คน และลูกชายถูกฆ่าตายในวันนั้น "โดยรัดคอตายแล้วผ่าศพผูกเสาซีเมนต์ไปทิ้งทะเลสาบสงขลา"
คำอธิบายจากมูลนิธิฮัจยีสุหลงฯ ยังบันทึกไว้ด้วยว่า อดีตรองผู้บังคับการตำรวจสันติบาล พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสำคัญในยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ "บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย" ว่ามีคำสั่งฆ่าหะยีสุหลงจริง
"รัฐไทยไม่เคยไม่รู้ แต่รัฐไทยอคติ"
ตลอด 66 ปี ของการบังคับสูญหายโดย "รัฐ" ความหวาดระแวงจากผู้ถืออำนาจรัฐต่อทายาทรุ่นถัดมาของหะยีสุหลง เหมือนวงล้อที่หมุนกลับ หะยีอามีน บุตรชายคนที่สองซึ่งได้รับเลือกเป็น ส.ส.ในปี 2500 ถูกตั้งข้อหาปลุกระดม แม้ได้รับการยกฟ้อง ต่อมาในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงใหญ่ที่มัสยิดกลางปัตตานีเมื่อปี 2518 จากกรณีฆ่าประชาชนและโยนศพทิ้งน้ำที่สะพานกอตอ หะยีอามีน ถูกเชิญไปสอบ และการอยู่ในพื้นที่การเมืองส่งผลให้เขาตัดสินใจลี้ภัยในปี 2525
เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่รัฐไทยไม่เคยเรียนรู้เลยนับตั้งแต่การเคลื่อนไหวของหะยีสุหลงจนถึง พ.ศ.นี้ เด่น ตอบอย่างชัดเจนในถ้อยคำว่า "ผมว่ารัฐไทยไม่เคยไม่รู้ แต่รัฐไทยอคติ"
บุตรชายคนที่สามของหะยีสุหลงในวัย 86 ซึ่งเคยเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองระบอบรัฐสภาในฐานะผู้แทนราษฎร 8 สมัย รัฐมนตรี และสมาชิกวุฒิสภา บอกว่า "รัฐไทยรู้ดี ผู้ปกครองรู้ทุกอย่าง แต่ไม่เคยทำอะไร" เขายกตัวอย่างการปรับระเบียบพิธีให้สอดรับกับวิถีปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) รวบรวมแนวทางโดยจุฬาราชมนตรีไว้ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่กลับไม่ได้มีการปรับใด ๆ
ความเห็นของเด่น โต๊ะมีนาต่อการแก้ปัญหาไฟใต้
ข้อเสนอ 7 ประการของหะยีสุหลงประกอบกับการเป็นตระกูลการเมืองที่มีบทบาทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้คนในตระกูลโต๊ะมีนามักถูกตั้งคำถามถึงความเห็นต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร และกระบวนการสันติสุขที่กำลังดำเนินอยู่ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด
เด่น โต๊ะมีนา ซึ่งติดตามกระบวนการพูดคุยสันติสุขอยู่ห่าง ๆ ในเวลานี้ บอกว่า "ชาวบ้านเงี่ยหูฟังกระบวนการนี้" ข้อเท็จจริงบนโต๊ะเจรจาพูดคุยต้องเปิดให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ถึงข้อต่อรองและผลการพูดคุย ดังเช่นการพูดคุยเมื่อปี 2556 ที่ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น 5 ข้อ ถูกรับรู้อย่างแพร่หลายต่อสาธารณะ นอกจากนี้เด่นได้ชี้ว่า การมี "คนกลางในการพูดคุยเจรจา" เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การเจรจาเดินหน้าได้เร็วขึ้น
นักการเมืองชายแดนใต้วัย 86 ปี ยังแสดงทัศนะอีกว่า ข้อเสนอสูงสุดที่จะเป็นทางออก คือ การให้สิทธิการปกครองตนเอง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ในกรอบของรัฐธรรมนูญตามที่ฝ่ายรัฐบาลย้ำมาโดยตลอด
"มีคนตั้งคำถามแล้วแก้ปัญหาอย่างไร ผมบอกว่าในเอกสารมีหมดแล้ว เอาเฉพาะเรื่องที่กรรมาธิการสภาเสนอ เยอะแยะเลยข้อเสนอไม่ทำสักอย่าง ผมเลยบอกว่าแก้ไม่ได้แล้วเพราะไม่ยอมแก้ ให้สิทธิปกครองตนเองก็จบ ไม่ใช่แบ่งแยกนะ ผมไม่เห็นด้วย แบ่งแยกแค่นี้เองจะอยู่อย่างไร"
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ทายาทรุ่นที่สาม: หะยีสุหลงคือผู้ที่มีความคิดล้ำหน้าเกินไปในยุคนั้น
"หมอ...เรามาลืมกันเรื่องอดีตได้ไหม แล้วเรามาเริ่มต้นกันใหม่" นี่คือคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง ที่กล่าวกับ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ทายาทรุ่นที่สามของหะยีสุหลง เมื่อครั้งเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ระลอกใหม่เกิดขึ้นเมื่อปี 2547
"ถ้าเป็นครอบครัวของคุณเอง แล้วคนในครอบครัวของคุณถูกอุ้มหายไป คุณจะรู้สึกอย่างไร" บุตรสาวของเด่น โต๊ะมีนา ตอบกลับ
บทสนทนาที่ชวนให้คนในครอบครัวหะยีสุหลงลืมอดีตที่ขมขื่นนี้น่าจะบอกได้ชัดว่า บาดแผลจากการอุ้มฆ่าหะยีสุหลง ยังเป็นเชื้อไฟในประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อความเป็นไปในปัจจุบันของปัญหาไฟใต้
ในสายตาของรัฐไทย หะยีสุหลง คือ กบฏ แต่ในสายตาของชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้ หะยีสุหลง คือผู้นำทางจิตวิญญาณที่ยึดแนวทางสันติวิธี แม้หลายคนบอกว่า "ในเมื่อที่ผ่านมาใช้วิธีอย่างสันติ แล้วถูกอุ้มหายอย่างนี้ บทเรียนอันนี้ คนรุ่นใหม่จะใช้แบบเดียวกัน หรือใช้ความรุนแรงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่เขาอยากได้ แต่ครอบครัวหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ยืนยันว่าสนับสนุนว่าการใช้สันติวิธี" พญ.เพชรดาวกล่าว
นอกจากแนวทางการต่อสู้สันติวิธีที่เป็นมรดกทางความคิดที่สำคัญของหะยีสุหลงแล้ว พญ.เพชรดาวกล่าวว่า ข้อเสนอ 7 ประการของหะยีสุหลง ถ้าใช้แว่นตาของการเมืองการปกครองปัจจุบันมอง ข้อเรียกร้องเหล่านั้น คือ หลักการกระจายอำนาจที่ลงไปสู่ท้องถิ่น ทั้งทางนิติบัญญัติ ตุลาการและการบริหารปกครอง
"คนยุคนั้นเราเกิดไม่ทันว่าหะยีสุหลงคิดได้ไกลถึงปัจจุบันนี้ถึง 66 ปี เป็นความคิดที่ล้ำหน้าไปมากกว่ายุคนั้นเลยมีข้อที่บอกว่าเป็นคนที่ริเริ่มแบ่งแยกดินแดนและเราก็ถูกมองว่าเป็นลูกหลานกบฏ"
ผู้แทนราษฎรหญิงมุสลิม ชี้อีกว่าข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลงเมื่อปี 2490 กับข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น 5 ข้อ มีหลายเรื่องที่ประสานสอดคล้องกัน แต่สิ่งสำคัญคือคำตอบคำอธิบายต่อข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้เห็นต่าง รัฐจะต้องตอบบนโต๊ะเจรจาว่าข้อเรียกร้องใดได้หรือไม่ได้เพราะอะไร
"สิ่งที่เราจะฝากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายรัฐและฝ่ายที่คิดเห็นต่างจากรัฐ เราต้องมองถึงเด็กในพื้นที่เด็กและเยาวชน ต้องเอาเขาเป็นตัวต้นเรื่องที่จะเดินต่อไป และเรื่องของเขาต้องอยู่โต๊ะเจรจาพูดคุยให้ได้"
ที่มา: www.khaosod.co.th