รัฐบาลเฉพาะกาลของซูดานได้ทำข้อตกลงกับกลุ่มกบฏ ในการแยกศาสนาออกจากการเมือง นับเป็นการสิ้นสุดการปกครอง 30 ปี ภายใต้กฎหมายอิสลาม และการมีอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: ซูดานแยกศาสนาออกจากรัฐ สิ้นสุดปกครองชาริอะห์นาน 30 ปี
ซูดานแยกศาสนาออกจากรัฐ นับเป็นการสิ้นสุดการปกครองโดยชาริอะห์นาน 30 ปี
รัฐบาลเฉพาะกาลของซูดานได้ทำข้อตกลงกับกลุ่มกบฏ ในการแยกศาสนาออกจากการเมือง นับเป็นการสิ้นสุดการปกครอง 30 ปี ภายใต้กฎหมายอิสลาม และการมีอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ
นายกรัฐมนตรี อับดุลลา ฮัมด็อก และผู้นำขบวนการปลดปล่อยของประชาชนชาวซูดาน-เหนือ (SPLM-N) นายอับเดลอาซิส อัล-ฮิลู ได้ลงนามข้อตกลงที่เมืองหลวงแอดดิส อะบาบา ของเอธิโอเปีย เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา
ข้อตกลงระบุว่า จะไม่มีการตั้งศาสนาประจำรัฐอย่างเป็นทางการ พลเมืองจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติตามศาสนาของตน เพื่อให้ซูดานเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีการกำหนดสิทธิของประชาชนทุกคนตามรัฐธรรมนูญ ที่แบ่งแยกศาสนาและรัฐออกจากกัน
หลายวันก่อนหน้านี้ ฝ่ายรัฐบาลเฉพาะกาลได้ทำข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มพันธมิตร แนวร่วมปฏิวัติซูดาน ที่เมืองจูบา ซูดานใต้ โดยการลงนามข้อตกลงครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นในเดือนหน้า ซึ่งคาดหวังว่าความขัดแย้งในภูมิภาคดาร์ฟูร์ และส่วนอื่น ๆ ของประเทศอาจจะยุติลงได้ด้วย
ก้าวย่างการดำเนินงานล่าสุดของทางการซูดาน คือ ความพยายามที่จะยกเลิกการใช้กฎหมายชาริอะห์ ซึ่งอดีตผู้นำซูดาน โอมาร์ อัล-บาชีร์ เป็นผู้นำเข้ามาปกครองประเทศ อัล-บาชีร์ ถูกโค่นโดยกองทัพซูดานเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา หลังจากเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในคาร์ทูมนานหลายเดือน ต่อมาในเดือนสิงหาคม มีการลงนามโดยรัฐบาลชั่วคราว โดยไม่มีการอ้างอิงใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายชาริอะห์ ในฐานะแหล่งกฎหมายหลักของซูดาน
โอมาร์ อัล-บาชีร์ เข้ามาเป็นผู้นำหลังการรัฐประหารในปี 1989 โดย ฮัสซัน อัล-ตูราบี ผู้นำขบวนการแนวอิสลามหลักของประเทศ โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด แต่ภายใต้ผู้นำคนใหม่ ซูดานกำลังพยายามให้หลุดพ้นจากการโดดเดี่ยวของนานาชาติ เนื่องจากซูดานอยู่ในรายชื่อรัฐที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย ที่จัดทำโดยสหรัฐ ฯ ตั้งแต่ปี 1993 และการคว่ำบาตรซูดานมีอยู่จนถึงปี 2017
รายงานระบุว่า สหรัฐฯ ได้กำหนดเงื่อนไขการปฏิรูปในซูดาน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปลดรายชื่อออกจากรายการรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย หนึ่งในนั้นคือ การปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลให้มาสู่ระดับปกติ ถึงแม้จะมีการคัดค้านในเรื่องนี้ แต่มีการเปิดเผยว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา หัวหน้าหน่วยข่าวกรองมอสสาดของอิสราเอล ได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซูดานที่เอมิเรตส์
สื่อ Epoch Times รายงานว่า การปฏิรูปครั้งนี้ได้รับการต้อนรับจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างน่ายินดี แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ยับจากพรรคนิยมอิสลามในซูดาน เช่น พรรค Popular Congress ว่า
“เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้ซึ่งเชื่อฟังตะวันตก กำลังดำเนินการเพื่อทำลายล้างประเทศอย่างเต็มที่ โดยเป็นการขัดต่อค่านิยมและศาสนาของชาวซูดานส่วนใหญ่”
ที่มา: www.middleeastmonitor.com
http://news.muslimthaipost.com/news/34458