สถานการณ์ตลาดฮาลาลในโลกปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 560,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนับวันจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ การปรับตัวจัดทัพรับกระบวนการยกระดับมาตรฐานฮาลาลสู่เวทีโลกจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน
ผนึกพลังผุดหลักสูตร ผลิตทรัพยากรมนุษย์ด้านฮาลาล ผสานสร้างสมุทรปราการโมเดล
สถานการณ์ตลาดฮาลาลในโลกปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 560,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนับวันจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ การปรับตัวจัดทัพรับกระบวนการยกระดับมาตรฐานฮาลาลสู่เวทีโลกจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน อย่างยิ่ง นั่นคือที่มาของการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ โดย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีฯ และ ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฯ กับ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ โดย นายไพศาล พรหมยงค์ ประธานคณะกรรมการฯ ในวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา
“ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีประชากรมุสลิมและมีผู้ประกอบการผลิตอาหารและสินค้าฮาลาลจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจการค้าด้านฮาลาลเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่กลับขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจและเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลอีกจำนวนมาก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการและบุคลากรในสถานประกอบการฮาลาลที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามก็ยังขาดความรู้ ทั้งในด้านความรู้พื้นฐาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการจัดการด้านฮาลาลต่าง ๆ ในระดับอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการเสียเปรียบในด้านการแข่งขันและความเชื่อมั่นบางส่วนของคู่ค้าที่เป็นมุสลิมในต่างประเทศ เช่น กลุ่ม OIC และอาเซียน
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างและพัฒนาบุคลากรโดยผ่านระบบการจัดการศึกษาระยะสั้นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเสริมองค์ความรู้ ความเข้าใจด้านฮาลาล ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เห็นความสำคัญและยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีกล่าว
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
การลงนามข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้มีขอบข่ายการดำเนินงาน คือ ร่วมกันสร้างและพัฒนาหลักสูตรการอบรมเพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ด้านการจัดการระบบมาตรฐานฮาลาล จัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักสูตรการจัดการระบบมาตรฐานฮาลาลประจำภาคกลาง อีกทั้งยัง ร่วมกันสนับสนุนสถานฝึกสหกิจศึกษาสำหรับนักศึกษา จัดการอบรมและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการระบบมาตรฐานฮาลาล
“หลักสูตรที่เราทำร่วมกันนี้จะเป็นหลักสูตรระยะสั้น 5 เดือน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของทฤษฎีและ Workshop 4 เดือน และฝึกงานอีก 1 เดือน โดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ จะมีบทบาทสำคัญในการจัดหาสถานที่ฝึกงานสำหรับนักศึกษา เนื่องด้วยมีโรงงานจำนวนมากในสมุทรปราการ และการร่วมมือกันครั้งนี้เรียกได้ว่า จะเป็นสมุทรปราการโมเดล ที่จะขยับขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศต่อไป” ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี กล่าวเสริม
ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงชลานครินทร์