องค์กรอิสลามแนวอนุรักษ์นิยมที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ได้ออกมาขอโทษจากการที่ทำให้ทรัพย์สินหลายอย่างในสนามบินนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา ในกรุงจาการ์ต้า ต้องเสียหายไป
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: กลุ่มศาสนาในอินโดนีเซีย โร่ขอโทษทำทรัพย์สินสนามบินพังราบ
องค์กรอิสลามแนวอนุรักษ์นิยมที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ได้ออกมาขอโทษจากการที่ทำให้ทรัพย์สินหลายอย่างในสนามบินนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา ในกรุงจาการ์ต้า ต้องเสียหายไป หลังจากที่สมาชิกนับหมื่นคนของกลุ่มแนวหน้าพิทักษ์อิสลาม (FPI) เดินทางมาต้อนรับการกลับมาของผู้นำ ฮาบิบ ริเซียค ชิฮาบ (Habib Rizieq Shihab) ซึ่งกลับจากการลี้ภัยไปอยู่ในราชอาณาจักรซาอุดี้อาระเบีย เมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ฮาบิบ รีเซียค ชีฮับ (Habib Rizieq Shihab)
ฮาบิบริเซียค เดินทางถึงสนามบินนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และได้รับการต้อนรับจากสาวกนับหมื่นคนที่มารอที่สนามบินจนล้นไปถึงด้านนอก ทำให้มีการปิดถนนเข้าสู่สนามบินโดยไม่ได้ตั้งใจ และทำให้เที่ยวบินหลายเที่ยวต้องล่าช้า ภาพที่เกิดขึ้นหลังจากพวกเขาเดินทางกลับไปแล้ว ก็คือ ความเสียหายของที่นั่งรอพักสำหรับผู้โดยสาร ตู้ขายซิมการ์ด และต้นไม้ที่ปลูกไว้ประดับเพื่อความสวยงามต้องพังราบเพราะถูกเหยียบย่ำ
องค์กร Persaudaraan Alumni 212 (PA 212) ได้ออกมาขอโทษต่อการทำให้เกิดความเสียหายนี้ แต่ยืนยันว่า เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้นิยมเลื่อมใสในตัวของฮาบิบรีเซียค ต้องการมาต้อนรับเขา หลังจากที่ออกจากประเทศไปหลายปี
ทั้งนี้ องค์กร ฯ อ้างว่า ไม่ได้มีการนัดแนะให้ฝูงชนจำนวนมากมาที่นี่ ดังนั้น จึงไม่ได้มีการจัดการควบคุมฝูงชนไว้ล่วงหน้า ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และอยู่นอกเหนือจากการควบคุมขององค์กร ซึ่งก็ต้องยอมรับในข้อบกพร่องนี้ และต้องขออภัยที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น
อย่างไรก็ตาม รองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทที่บริหารสนามบิน Angkasa Pura II กล่าวว่า ไม่น่าเชื่อว่าไม่มีเจตนาที่จะทำให้ทรัพย์สินของสนามบินเสียหาย เพราะมีคนจำนวนมากขึ้นไปยืนบนม้านั่งซึ่งแน่นอนว่ามันต้องพัง
PA 212 กล่าวว่า ได้มีการพบปะกับเจ้าหน้าที่ Angkasa Pura II เพื่อเจรจาเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายแล้ว
ฮาบิบ รีเซียค ชีฮาบ (Rizieq Shihab) ผู้นำกลุ่ม FPI หลบหนีจากอินโดนีเซียเมื่อเดือนเมษายน 2017 หลังจากที่เขาถูกตำรวจยื่นจับกุมในข้อหาผู้ต้องสงสัยในคดีเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร เขาถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา แต่มีการสอบสวนทางอาญาในคดีอื่น ๆ เช่น ข้อหาดูหมิ่นศาสนาคริสต์ และหลักปัญจศีล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งอาจมีการฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้
ที่มา: www.coconuts.co