รัฐบาลใหม่ของสหรัฐอเมริกา ที่นำโดย นายโจ ไบเด็น นับว่าเป็นคณะรัฐบาลที่มีความหลากหลายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ เนื่องจากชาวอินเดีย-อเมริกัน
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ : มารู้จักมุสลิมและชาวเอเชียใต้ ในคณะรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ
รัฐบาลใหม่ของสหรัฐอเมริกา ที่นำโดย นายโจ ไบเดน นับว่าเป็นคณะรัฐบาลที่มีความหลากหลายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ เนื่องจากชาวอินเดีย-อเมริกัน จำนวนหนึ่ง ได้รับแต่งตั้งเข้าทำงาน และนับเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน ที่มีหญิงมุสลิมแคชเมียร์เข้าร่วมรัฐบาลอีก 2 คน หลายคนกล่าวกันว่า นี่แหละ จึงจะเป็นรัฐบาลแห่งอเมริกาที่แท้จริง
นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46
นอกจาก กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ซึ่งจะเป็นหญิงเขื้อสายอินเดียคนแรก ที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีแล้ว คณะรัฐบาลนี้ยังประกอบไปด้วยคนเชื้อสายอินเดีย-อเมริกัน และมุสลิมอีกจำนวนหนึ่ง เฉพาะกลุ่มเชื้อสายอินเดีย-อเมริกัน มีอย่างน้อย 20 คน ที่ได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งต่าง ๆ และในจำนวนนี้ 13 คน เป็นผู้หญิง โดยมี 2 คน ได้รับตำแหน่งสูงสุด คือ นีรา ทานเดน (Neera Tanden) ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและงบประมาณประจำทำเนียบชาว และ ดร.วิเวก มูรธี (Dr.Vivek Murthy) ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นศัลยแพทย์ใหญ่แห่งสหรัฐ ฯ จากการที่ได้เป็นประธานร่วมของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านโควิด-19 ของไบเดน
กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris)
มุสลิมหญิงเชื้อสายแคชเมียร์ 2 คน ที่ได้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลของไบเดน คือ อาอิชะ ชาห์ (Aisha Shah) ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ที่สำนักงานกลยุทธ์ดิจิทัลประจำทำเนียบขาว และ ซามีร่า ฟาซีลี (Sameera Fazili) ถูกกำหนดให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (NEC) โดยเธอเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของ NEC ประจำทำเนียบขาว และที่ปรึกษาอาวุโสประจำกระทรวงการคลัง
อาอิชะ ชาห์ (Aisha Shah) มุสลิมหญิงเชื้อสายแคชเมียร์ร่วมคณะรัฐบาลของไบเดน
ซามีร่า ฟาซีลี (Sameera Fazili) มุสลิมหญิงเชื้อสายแคชเมียร์ร่วมคณะรัฐบาลของไบเดน
- อุซรา ซียา (Uzra Zeya) อดีตนักการทูตและทหารผ่านศึก ได้เป็นรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ ดูแลความมั่นคงของพลเรือน ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เขาเคยเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของรัฐบาลโอบาม่าในช่วงอาหรับสปริง
- อะลี ซัยดี (Ali Zaidi) ชาวปากีสถาน ถูกวางตัวให้เป็นรองที่ปรึกษาด้านภูมิอากาศแห่งชาติ, โรฮินี โคโซกลู ชาวอเมริกันเชื้อสายศรีลังกา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายภายในประเทศ ของรองประธานาธิบดี และเซน ซิดดิกกฺ (Zayn Siddique) ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเสนาธิการประจำทำเนียบขาว
- รีมา โดดิน (Reema Dodin) เป็นชาวอาหรับ-อเมริกันคนแรก ที่ไบเดนเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการกฎหมาย ประจำทำเนียบขาว เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา รีมา ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ‘Palestinian Muslim woman’ โดยเธอนำประสบการณ์ด้านการเมืองตลอด 15 ปี มาสู่การรณรงค์ของไบเดน
- สภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ของรัฐบาลใหม่ ยังมีชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ดำรงตำแหน่งสูงอีก 3 คน คือ ธรุณ ชฮาบรา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงแห่งชาติ / ซาโมนา กูฮา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสด้านเอเชียใต้ และชานธี กาลาธิล ดำรงตำแหน่ง ผู้ประสานงานด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
- วิเนย์ เรดดี้ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้อำนวยการด้านการเขียนคำกล่าว โดยก่อนหน้านั้นเขาเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส และเคยเป็นนักเขียนบทพูดสำหรับการหาเสียงของทีมไบเดน-แฮรริส ในด้านสื่อมวลชน วีดันท์ ปาเตล ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการด้านสื่อมวลชนของประธานาธิบดี และเป็นชาวอเมริกัน-อินเดียคนที่ 3 ที่อยู่ในฝ่ายสื่อมวลชนของทำเนียบขาว และ วานิต้า คุปต้า ทนายความด้านสิทธิพลเมือง ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรองอัยการสูงสุด ประจำกระทรวงยุติธรรม
ในส่วนของทีมสนับสนุน ดร.จิลล์ ไบเดน สตรีหมายเลข 1 คนใหม่ของสหรัฐ ฯ ประกอบด้วยผู้หญิงชาวเอเชียใต้ 3 คน ได้แก่ มาลา อะดิก้า ผู้อำนวยการด้านนโยบาย, การีมา เวอร์มา ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัล ประจำสำนักงานของสตรีหมายเลข 1 และซาบริน่า ซิงก์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรองเลขาธิการด้านสื่อมวลชน
ในระหว่างการหาเสียง ไบเดน เคยกล่าวปราศรัยกับชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ว่า เขาจะเกณฑ์ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้ และโดยเฉพาะชาวอินเดีย เข้ามาทำงานตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะรัฐบาล และในระหว่างการสัมมนาหาเสียงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวมุสลิม ไบเดน ยังเคยให้คำมั่นว่า จะเพิ่มชาวมุสลิมเข้าไปในคณะรัฐมนตรีของเขาด้วย
ที่มา: www.trtworld.com