เหตุการณ์ล้อมปราบชาวมุสลิมที่เข้าโจมตีจุดตรวจหน้ามัสยิสกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมย 2547 ที่มัสยิดกรือเซะ ตตันหยงลูโละ อเมือง จปัตตานี
เกิดอะไรขึ้นที่กรือเซะ สมัยรัฐบาลทักษิณ
โศกนาฏกรรม กรือเซะ-ตากใบ คือหนึ่งในคำถามที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกถามถึง ระหว่างการสนทนาเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่งทาง Clubhouse แอปพลิเคชันเสียง เมื่อ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นคำถามที่ทำให้เขากระอักกระอ่วนใจในการตอบ
"รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมของทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ" เป็นตำตอบที่ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงทันที ในโลกออนไลน์
เหตุการณ์ล้อมปราบชาวมุสลิมที่เข้าโจมตีจุดตรวจหน้ามัสยิสกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 ที่มัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ต.ค. 2547 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากทั้ง 2 เหตุการณ์รวมเกือบ 120 คน
บีบีซีไทย ชวนย้อนเหตุการณ์ "ไฟใต้" ที่เกิดขึ้นเมื่อ 17 ปี ก่อน
ช่วงเช้าตรู่ของ 28 เม.ย. 2547 กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการ ของเจ้าหน้าที่รัฐนับสิบจุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดการปะทะกันในหลายจุด เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายคน มีผู้เสียชีวิตรวม 108 ราย ในจำนวนนี้ มี 5 คนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และอีก 32 คน คือกลุ่มผู้ก่อเหตุที่เสียชีวิตขณะเข้าไปหลบภัย ในมัสยิดหรือเซะ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมนาน 9 ชั่วโมง และใช้อาวุธหนักยิงถล่ม
ตอนหนึ่งของ "รายงานคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ" ที่เผยแพร่ทาง เว็บไซต์ประชาไทระบุว่า เหตุการณ์ความไม่สงบทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่เกิดเหตุปล้นอาวุธในค่ายทหาร เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ตามมาด้วยการเผาโรงเรียนพร้อมกัน 20 แห่ง วางเพลิงสถานที่ราชการ โรงเรียน และเหตุทำร้ายพระภิกษุ ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทวีความรุนแรงสูงสุด เมื่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจำนวนหนึ่ง ได้บุกโจมตีฐานที่มั่นของทางราชการพร้อมกัน 11 จุด รวมทั้งจุดตรวจกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และได้หลบหนีเข้าไป "ยึดครอง" มัสยิดกรือเซะใกล้จุดตรวจดังกล่าว
เหตุปล้นอาวุธในค่ายทหารที่ระบุในรายงานคือเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 โดยผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า 3 เดือนหลังเกิดเหตุปล้นปืนก็ได้เกิดเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 28 เม.ย. 2547
ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานในขณะนั้นว่ากลุ่มคนร้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น มีมีดและปืนจำนวนหนึ่งเป็นอาวุธ ได้บุกโจมตีจุดตรวจของฝ่ายความมั่นคง 11 จุด ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และสงขลา อย่างไรก็ดีมี รายงานว่า ในขณะนั้นฝ่ายความมั่นคงมีข้อมูลว่าจะมีการก่อเหตุอยู่แล้ว แต่กลับเฝ้ารอให้กลุ่มคนร้ายลงมือ ก่อนจะตอบโต้อย่างรุนแรงจนทำให้ต้องสูญกำลังของฝ่ายเจ้าหน้าที่เองไป 5 คน
ในเวลานั้นคนร้ายอย่างน้อย 30 คน ได้หนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ และหลังจากปิดล้อมอยู่นานหลายชั่วโมง กองกำลังความมั่นคงก็ได้บุกโจมตีและสังหารคนเหล่านั้นในมัสยิด
โจรกระจอก
หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวว่าผู้ก่อเหตุเป็นแก๊งวัยรุ่น เป็น "โจร" ในจังหวัดภาคใต้" ที่กระทำการ "โดยไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับกลุ่มก่อการร้ายต่างประเทศ"
ก่อนหน้านั้นนายทักษิณ เคยเอ่ยถึงผู้ก่อเหตุในภาคใต้ว่าเป็น "โจรกระจอก"
ในเวลานั้น พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ความเห็นว่า ดูเหมือนกลุ่มผู้ก่อเหตุตกอยู่ใต้อิทธิพลของยาเสพติด ขณะที่นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกรัฐบาลในขณะนั้น ยืนยันว่าคนร้ายเป็นเพียงกลุ่มอาชญากร ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อก่อเหตุ
คนร้ายมีเพียงมีดพร้าและปืน 1 กระบอก
อย่างไรก็ดี กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มตั้งคำถามว่าในเมื่อฝ่ายทางการ ได้รับคำเตือนและรู้ดีว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่เหตุใดจึงไม่สามารถจับคนร้ายได้ก่อนที่จะลงมือก่อเหตุ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานในเวลาต่อมาคือเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2547 ว่า นายสุจินดา ยงสุนทร ประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ ได้จัดทำรายงานผลการสอบสวนกว่า 30 หน้า มีเนื้อความระบุว่า เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธหนักได้บุกเข้าไปในมัสยิดกรือเซะและเปิดฉากยิงถล่มคนร้ายซึ่งมีเพียงมีดจำนวนหนึ่งและปืนเพียง 1 กระบอก
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานในขณะนั้นว่าสื่อมวลชนได้ถามนายสุจินดาว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุภายในมัสยิดกรือเซะหรือไม่ ซึ่งเขาตอบว่า "ใช่ ผมรู้สึกเช่นนั้น"
"มีหลักฐานจำนวนมากที่ทำให้ผมเชื่อว่าทหารใช้อาวุธหนัก…ปืนกล ขณะที่กลุ่มติดอาวุธมีเพียงมีดพร้าและปืน 1 กระบอก และกระสุนปืนที่ขโมยมาจำนวนไม่มากนัก"
ทั้งนี้ ในรายงานของคณะกรรมการอิสระฯ ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ประชาไทระบุถึงประเด็นนี้ว่า จากหลักฐานที่คณะกรรมการอิสระฯ ได้รับมาปรากฏว่า ผู้ก่อความไม่สงบใช้ปืนเอ็ม 16 และเอชเค 33 นอกจากนี้ผู้ก่อความไม่สงบใช้อาวุธปืนเอ็ม 79 ยิงกระสุนออกมาจากมัสยิดอย่างน้อยสองนัด อย่างไรก็ตาม น่าจะประเมินได้ว่ากระสุนเอ็ม 79 คงมีทั้งหมดไม่เกิน 3 ลูก ซึ่งเป็นอาวุธที่ยึดได้จากการโจมตีจุดตรวจกรือเซะในตอนเช้าของวันเดียวกันนั้นเอง ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ตอบโต้ผู้ก่อความไม่สงบด้วยอาวุธหลายประเภทด้วยกัน คือ เอ็ม 16 อาวุธอาร์พีจี (แบบหัวเจาะ) ซึ่งมีหางนำทิศ กระสุนปืนอาร์พีจีนี้หล่นอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุจำนวน 5 หาง ระเบิดขว้างสังหาร 9 ลูก ซึ่งได้ทิ้งร่องรอยระเบิดไว้ในมัสยิดรวม 9 จุด แก๊สน้ำตาจำนวน 2 - 3 ลูก ปืนกลแม็ก 58
ไม่ชี้ว่าเป็นความผิดใคร
ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานอีกว่า รายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระฯ ไม่ได้ชี้ชัดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะและไม่ได้ระบุว่าเป็นความผิดของกองทัพ แต่ชี้เพียงว่าพื้นที่ภาคใต้ได้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกอยู่แล้วในขณะที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น
"ผลสรุปที่ออกมาเป็นกลาง ไม่ได้ระบุว่าเป็นความผิดของใครเป็นการเฉพาะ แต่เป็นเพียงรายงานว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น" นายสุจินดากล่าวในขณะนั้น
อย่างไรก็ดี ในเวลานั้นชุมชนมุสลิมในไทยกล่าวหาทางการไทยว่ากระทำการเกินกว่าเหตุ แต่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการกองกำลังความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้ลงมือใช้อาวุธหนักยิงเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่าไม่มีทางเลือกอื่น เพราะหากเขาตัดสินใจล่าช้าปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อไปสองถึงสามชั่วโมงก็อาจเกิดหายนะไปมากกว่าที่เป็นอยู่
เหตุการณ์กรือเซะได้ทำให้ไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์และตกเป็นเป้าสายตาของต่างชาติในเรื่องการใช้ความรุนแรง และรัฐบาลได้ให้นายสุจินดา บรรยายผลสรุปการสอบสวนให้คณะผู้แทนทางการทูตที่ประจำอยู่ในไทยได้รับทราบด้วย
ผ่านไป 17 ปี ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ครั้งหนึ่ง นายทักษิณบอกว่าเป็น "ฝีมือโจรกระจอก" ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 7,000 คน แล้วยังดูเหมือนว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารและอดีตผู้บัญชาการทหารบก ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้สงบได้
ที่มา: www.bbc.com/thai