ศาลสูงมาเลเซียโดยผู้พิพากษา ดาโต๊ะ นอร์ บี อะรีฟฟีน ออกคำพิพากษาตัดสินให้ ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมสามารถใช้คำว่า “อัลลอฮ์” เพื่ออ้างถึงพระเจ้าได้
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: ศาลสูงมาเลเซียให้คนไม่ใช่มุสลิม ใช้คำว่า “อัลลอฮ์” ได้
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา ศาลสูงมาเลเซียโดยผู้พิพากษา ดาโต๊ะ นอร์ บี อะรีฟฟีน ออกคำพิพากษาตัดสินให้ ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมสามารถใช้คำว่า “อัลลอฮ์” เพื่ออ้างถึงพระเจ้าได้ ซึ่งการตัดสินครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญ ที่เกี่ยวกับประเด็นการแบ่งแยกเสรีภาพทางศาสนาที่เกิดขึ้นมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่
เมื่อ 35 ปีก่อนหน้านี้ (ค.ศ.1986) รัฐบาลในสมัยนั้นได้ออกคำสั่งห้ามศาสนาคริสต์ ใช้คำว่า “อัลลอฮ์” และคำในภาษาอาหรับอีก 3 คำ คือ คำว่า บัยตุลเลาะฮ์, กะอฺบะฮ์ และ ซอลา (Salat) ซึ่งทนายความของฝ่ายโจทก์ นาย Annou Xavier กล่าวว่า การห้ามดังกล่าวเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เหตุผลของการออกคำสั่งห้ามเมื่อ 35 ปีก่อน รัฐบาลกล่าวว่า คำว่า “อัลลอฮ์” และอีก 3 คำ ควรสงวนไว้สำหรับชาวมุสลิมโดยเฉพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนที่อาจทำให้พวกเขาเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น สิ่งนี้เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย และไม่ได้เป็นปัญหาในประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่อื่น ๆ แม้ในประเทศเหล่านั้นจะมีชาวคริสต์เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่ก็ตาม
ผู้นำคริสตจักรในมาเลเซียกล่าวว่า คำสั่งห้ามดังกล่าวไม่มีเหตุผล เนื่องจากชาวคริสเตียนในมาเลเซียที่พูดภาษามลายูเช่นกัน ได้ใช้คำว่า “อัลลอฮ์” ซึ่งเป็นคำภาษามลายูที่มาจากภาษาอาหรับมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้ว โดยคำนี้ปรากฏในพระคัมภีร์ (ฉบับภาษามลายู) คำอธิษฐาน และเพลงของพวกเขาด้วย
คำตัดสินของศาลสูงมาเลเซียครั้งนี้ พลิกคำตัดสินของศาลกลาง (Federal Court) ก่อนหน้านี้ที่ออกในปี 2014 โดยในครั้งนั้น ศาลตัดสินให้ยึดถือคำสั่งห้ามของรัฐบาลเดิม หลังคริสตจักรมาเลเซียใช้คำว่า “อัลลอฮ์” ในจดหมายข่าวที่ตีพิมพ์เป็นภาษามลายู และยื่นฟ้องร้องต่อศาลเมื่อมีผู้ร้องเรียนว่า พวกเขาไม่มีสิทธิใช้คำว่า “อัลลอฮ์” เมื่อต้องการสื่อถึงพระเจ้า
ทนายความ ซาเวียร์ กล่าวว่า คำสั่งศาลสูงที่ตัดสินให้ชาวมาเลเซียทุกคนสามารถใช้คำว่า “อัลลอฮ์” ได้ แสดงถึงการยึดมั่นในเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการนับถือศาสนา สำหรับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในมาเลเซีย ซึ่งมีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ
ประชากรในมาเลเซียมีประมาณ 32 ล้านคน 2 ใน 3 ของจำนวนนี้เป็นมุสลิม ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายจีน และอินเดีย โดยผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์มีประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ
ชาวคริสเตียนส่วนใหญ่ในมาเลเซีย จะสวดภาวนา เป็นภาษาอังกฤษ ทมิฬ หรือภาษาพูดที่เป็นส่วนหนึ่งของภาษาจีน และพวกเขากล่าวถึง God-พระเจ้า ในภาษาเหล่านั้น แต่สำหรับคนเชื้อสายมาเลย์ที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่บนเกาะบอเนียว พวกเขาพูดภาษามาเลย์ และไม่มีคำอื่นนอกเหนือจากคำว่า “อัลลอฮ์” เมื่อเขาต้องการจะกล่าวถึงพระเจ้า
สื่อ The Star อ้างคำกล่าวของ ชัมซุ้ล โบลฮัสซัน ที่ปรึกษารัฐบาลมาเลเซีย ที่ระบุว่า สื่อของคริสเตียนสามารถใช้คำทั้ง 4 คำนี้ได้ตามคำตัดสินของศาล ตราบใดที่มีการวงเล็บหมายเหตุ ไว้ว่า (ใช้เฉพาะสำหรับคริสเตียน) เท่านั้น รวมทั้งมีการแสดงสัญลักษณ์ไม้กางเขนไว้ด้วย
คำตัดสินของศาลสูงมาเลเซียครั้งนี้ เป็นผลมาจากการฟ้องร้องอันยืดเยื้อยาวนานของสตรีชาวคริสต์คนหนึ่ง ที่นำเอกสารทางศาสนาคริสต์จากประเทศอินโดนีเซีย เข้ามายังประเทศมาเลเซีย (ซึ่งเป็นบ้านของเธอ) ในปี 2008 โดยเอกสารนั้นมีการใช้คำว่า “อัลลอฮ์” และมันถูกเจ้าหน้าที่ที่สนามบินยึดไว้
ความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้คำ “อัลลอฮ์” ได้กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในมาเลเซีย โดยประชาชนมุสลิมมีความโกรธแค้นที่ศาลชั้นต้น ออกคำพิพากษาที่เป็นคุณต่อชาวคริสเตียน ในปี 2009 จนนำไปสู่การลอบวางเพลิง และก่อความรุนแรงในโบสถ์ และศาสนสถานอื่น ๆ คำตัดสินของศาลชั้นต้นถูกล้มเลิกโดยศาลสูง ในเวลาต่อมา
ที่มา: www.theedgemarkets.com
http://news.muslimthaipost.com/news/35045
- คนแรกที่ถือศีลอดรอมฎอนในอวกาศ
- คลิปบังคับภรรยามุสลิมไปเป็นฮินดู เรียกร้องให้อยู่ในความสงบ
- ตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนในมัสยิดอังกฤษ ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย
- บังคลาเทศปล่อยเกาะมุสลิมโรฮิงยาเพิ่ม 4,000 คน
- ละหมาดศพชายวัย 54 เสียชีวิตหลังเดินเข้ามัสยิด
- โอรังอัสลีในอำเภอจะแนะ เข้ารับอิสลามกว่า 30 คน
- หิมะตกทะเลทรายซาอุฯ เหลือเชื่อ ครั้งแรกในรอบ 100 ปี (ชมภาพ)
- เปลี่ยนธนาคารเป็นมัสยิดไม่ผ่านอนุมัติ