2 กระทรวงทำงานทับซ้อน ส่งผลให้มัสยิดโบราณในอียิปต์ถูกละเลย
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์: มัสยิดโบราณในอียิปต์ถูกละเลย
แผ่นไม้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโดมหลังคาครอบน้ำพุ ที่ใช้เป็นที่อาบน้ำละหมาดของมัสยิดสุลตอนฮัสซัน (Sultan Hassan Mosque) ในกรุงไคโร ได้หล่นลงมาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กระตุ้นให้กลุ่มนักโบราณคดี และสถาปนิกเร่งตรวจสอบ และงานบูรณะก็เริ่มขึ้น
โอซามะ ทาลัต (Osama Talat) หัวหน้าแผนกโบราณวัตถุอิสลาม ค็อปติก ยิว ประจำสภาสูงสุดแห่งโบราณวัตถุ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่ม ฯ กล่าวในแถลงการณ์ที่โพสต์ทางเฟสบุ๊ก ของกระทรวงต่างประเทศอียิปต์ ว่า ส่วนที่หักไม่ได้เป็นส่วนที่เคยปรับปรุงเมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา และมีการปรับปรุงให้เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564
มัสยิดสุลตอนฮัสซัน (Sultan Hassan Mosque) ในกรุงไคโร
อีกกรณีหนึ่งเกิดที่มัสยิด อัล-ริฟาอี (Al-Rifai) ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามมัสยิดสุลตอนฮัสซัน โดยกระจกเหนือโคมระย้าทองแดง ตกลงมาจากเพดานห้องโถง Royal Hall เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีการตั้งทีมบูรณะขึ้นโดยด่วนเพื่อตรวจสอบกระจกที่แตก และเริ่มทำงานโดยทันที
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำในเวลาใกล้เคียงกัน ก่อให้เกิดการถกเถียงกันถึงการละเลยมัสยิดเก่าแก่โบราณหลายแห่งในอียิปต์ ซึ่งขาดการตรวจสอบเป็นระยะ ยังไม่รวมถึงคดีโจรกรรมโบราณวัตถุที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จน นายอะหมัด อิดรีส ส.ส. และสมาชิกคณะกรรมการการท่องเที่ยวและการบินของรัฐสภา เรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยสถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญ และนักโบราณขึ้น โดยมีภารกิจในการรักษามัสยิดแห่งประวัติศาสตร์
ในการให้สัมภาษณ์ อิดรีส กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณวัตถุ มีหน้าที่ต้องดูแลมัสยิดแห่งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นฝ่ายเดียวที่มีเทคนิคที่เหมาะสมในการจัดการกับอาคารทางโบราณคดี ไม่ว่าจะในด้านการฟื้นฟู หรือการบำรุงรักษา อีกทั้งกระทรวงยังมีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการฟื้นฟู และบำรุงรักษา รวมทั้งจัดการใส่ลงในแผนที่สถานที่ท่องเที่ยวของอียิปต์อีกด้วย
หนึ่งในสาเหตุที่มัสยิดถูกละเลยการตรวจสอบสภาพ เพราะมัสยิดเก่าแก่เหล่านี้ตั้งอยู่ในละแวกหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านมักจะขาดไร้ซึ่งความรู้เชิงวัฒนธรรม ในสถาปัตยกรรมของอนุสรณ์สถานเหล่านี้ พวกเขาจึงไม่รู้วิถีในการอนุรักษ์อาคาร นอกจากนี้ ยังขาดแคลนผู้ควบคุมดูแลที่เชี่ยวชาญในการติดตาม และตรวจตราความเสียหายในมัสยิด ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจสั่งให้มีการซ่อมแซมทันทีที่พบความเสียหาย
อีกสิ่งหนึ่งที่ขัดขวางความพยายามในการอนุรักษ์มัสยิดโบราณ คือ การทำงานที่ทับซ้อนกันระหว่าง กระทรวงการท่องเที่ยว กับกระทรวงกิจการกุศลทางศาสนา โดยมัสยิดทางประวัติศาสตร์ที่สังกัดกระทรวงกิจการกุศล ฯ มีผู้เยี่ยมชมทุกวันในเวลาทำการ แต่เมื่ออยู่นอกเวลาทำการ กระทรวงกิจการกุศล ฯ ไม่ได้มาดูแลรับผิดชอบความเสียหายใด ๆ
ดังนั้น ควรมีการแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงกิจการกุศล ฯ จำกัดบทบาทหน้าที่เฉพาะส่วนทางศาสนา และการจัดบริการทางศาสนาเท่านั้น และมอบหน้าที่ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณวัตถุ ทำหน้าที่ปกป้องมัสยิดอย่างสมบูรณ์ต่อไป
ที่มา: www.al-monitor.com
http://news.muslimthaipost.com/news/35421
- มรดกโลกอิสลาม ISESCO เพิ่มอีก 7 สถานที่
- หญิงชราวัย 90 ปี พิการสายตาท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่ม
- เยอรมันตั้งศูนย์ฝึกอิหม่าม แต่ตุรกีไม่เห็นด้วย!
- มัสยิดเปลี่ยนเป็นศูนย์ดูแลโควิด 40 เตียง
- บาห์เรน-คูเวต นำประเด็นปาเลสไตน์สู่ที่ประชุม UNGA
- อียิปต์ปล่อยตัวนักโทษกว่า 1,600 ก่อนเข้าเดือนรอมฎอน
- อียิปต์เตือน งดเลี้ยงละศีลอดในมัสยิด