เซราจ และ บารอดัร สองชาวอัฟกันในรายชื่อ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลบุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในปี 2021
สำนักข่ามุสลิมไทยโพสต์: สองชาวอัฟกัน ติดชาร์ต “บุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในปี 2021”
เซราจ และ บารอดัร สองชาวอัฟกันในรายชื่อ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลบุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในปี 2021
มะฮ์บูบา เซราจ (Mahbouba Seraj) สตรีนักรณรงค์ภาคประชาสังคมชาวอัฟกัน ได้รับการจัดอันดับเข้าเป็นหนึ่งใน “100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในปี 2021” ซึ่งจัดโดยนิตยสารไทม ในขณะที่ มุลลา อับดุล กานี บารอดัร (Mullah Abdul Ghani Baradar) ก็ได้รับการจัดอันดับภายใต้หมวดหมู่ “ผู้นำ” เช่นเดียวกับเธอด้วย
มะฮ์บูบา เซราจ (Mahbouba Seraj) สตรีนักรณรงค์ภาคประชาสังคมชาวอัฟกัน
เว็ปไซต์ของนิตยสารไทม ระบุว่า เซราจ ได้รับเลือกเพราะเธอเป็นผู้อุทิศตนในการพัฒนาชีวิตสตรีชาวอัฟกันอย่างน่าชื่นชม ในปี 2003 เซราจ ทิ้งชีวิตที่สะดวกสบายในสหรัฐอเมริกา และเดินทางกลับมายังอัฟกานิสถานบ้านเกิด และทำการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ในขณะที่เวลานั้นเด็กผู้หญิงอัฟกันไม่ถึง 10 % ได้เข้าเรียนในโรงเรียนระดับประถม
เธอกล่าวว่า หากเงื่อนไขและสถานการณ์อำนวย เธอจะพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อสตรีในอัฟกานิสถาน และว่า จนถึงขณะนี้ เธอได้ทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือสตรีอัฟกันและเด็ก เธอยังเคยทำงานด้านสุขอนามัยและการศึกษาด้วย
หลังรัฐบาลอัฟกานิสถานที่มีต่างชาติหนุนหลังได้ล่มสลายลงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผู้คนนับหมื่นพยายามหนีออกนอกประเทศ แต่เซราจไม่ยอมจากไป เธอกล่าวว่า
“ฉันไม่ต้องการไปจากอัฟกานิสถาน เพราะฉันไม่ต้องการเป็นผู้อพยพ”
เซราจ เกิดที่กรุงคาบูล มีเชื้อสายราชวงศ์ที่เคยปกครองอัฟกานิสถาน จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยคาบูล ในปี 1978 เซราจและสามีถูกพรรคคอมมิวนิสต์อัฟกานิสถานจับขังคุก ภายในปีเดียวกันเธอถูกประกาศว่าเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา เธอเดินทางไปสหรัฐ ฯ และอาศัยอยู่ที่นั่นในฐานะผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 25 ปี ก่อนที่จะกลับมายังอัฟกานิสถานในปี 2003 หลังจากนั้นเธอทำงานสนับสนุนด้านการศึกษาของสตรีและสิทธิด้านอื่น ๆ เธอเป็นผู้ก่อตั้งหลายองค์กรที่ทำงานในด้านนี้ รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการ ‘องค์การเพื่อการวิจัยด้านสันติภาพและความเป็นปึกแผ่น – ORPS’ เป็นผู้บริหาร ‘เครือข่ายสตรีอัฟกัน’ และเป็นสมาชิกของ ‘พันธมิตรสตรีอัฟกันเพื่อต่อต้านการคอรัปชั่น’
มุลลา บารอดัร (Mullah Baradar) รองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลตอลิบัน
ในขณะเดียวกัน มุลลา บารอดัร รองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลตอลิบัน ก็ได้รับการจัดอันดับในรายการของนิตยสารไทม เช่นกัน เซราจกล่าวว่า เธอรู้สึกแปลกใจเมื่อเห็นชื่อของบารอดัร อยู่ใกล้ชื่อของเธอ
เซราจ กล่าวว่า เธอมีความสนใจที่จะได้พูดคุยกับมุลลา บารอดัร “หากเขาต้องการ เราอาจพูดคุยกันเพื่อดูว่า โลกเห็นจุดร่วมอะไรบ้างในระหว่างเราทั้งสอง”
นักรณรงค์หลายคนในกรุงคาบูลกล่าวว่า การได้รับเลือกของเซราจในครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่ดีที่จะกระตุ้นให้สตรีและเยาวชนหญิงทำงานให้หนักขึ้น ตาบาซัม นิกิ นักรณรงค์ภาคประชาสังคม กล่าวว่า
“หากมีการหยิบยื่นโอกาสให้กับสตรีชาวอัฟกัน พวกเธอสามารถประสบความสำเร็จ และความสำเร็จของเซราจก็จะเป็นความสำเร็จของสตรีชาวอัฟกันทั้งหลายเช่นกัน”
ที่มา: www.tolonews.com