อดีตประธานคณะกรรมการมัสยิดในสิงคโปร์ ยอมรับว่า เขายักยอกเงินบริจาคของมัสยิดตลอดเวลากว่า 7 ปี
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ : อึ้ง! อดีตปธ.มัสยิดสิงคโปร์ รับยักยอกเงินบริจาคกว่า 3 แสน
วันที่ 12 มีนาคม 2562 นายอับดุล มุตอลิฟ ฮาชิม (Ab Mutalif Hashim) วัย 58 ปี อดีตประธานคณะกรรมการมัสยิดในสิงคโปร์ ยอมรับว่า เขายักยอกเงินกว่า 370,000 สิงคโปร์ดอลล่าร์ จากเงินบริจาคของมัสยิดตลอดเวลากว่า 7 ปี ตามที่คณะกรรมการกล่าวหา โดยมีการตั้งข้อหาอีก 8 ข้อ เพื่อยื่นให้ศาลพิจารณา
มัสยิดที่นายฮาชิม เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร คือ มัสยิดดารุสสลาม บนถนนคอมมอนเวลธ์ ตะวันตก (Commonwealth Avenue West) การกระทำความผิดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2006 – 31 มีนาคม 2013 โดยก่อนหน้านั้น เขาเป็นประธานโดยมีเงินค่าตอบแทนในปี 2003 จนถึง สิงหาคม ปี 2010 แต่ยังคงอาสาสมัครทำงานในตำแหน่งเดิมจนถึงเดือนมีนาคม ปี 2013
นอกจากนั้น เขายังมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการบริหารสมาคม Just Parenting Association (JPA) ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเอง และยังเป็นประธานองค์กรการกุศลจดทะเบียน ในชื่อ Association for Devoted and Active Family Men (ADAM)
ผู้ที่มามัสยิดมักจะบริจาคโดยหย่อนเงินสดลงในหีบหรือกล่องรับบริจาค ที่ตั้งอยู่ในมัสยิด ซึ่งมีข้อความเขียนว่า ‘tabung jumaat’ หรือเงินบริจาควันศุกร์ และ ‘tabung kebajikan’ หรือ เงินบริจาคเพื่อสวัสดิการ และฮาชิม มักจะบอกให้อาสาสมัคร หรือผู้ช่วยดูแลมัสยิด ยกหีบหรือกล่องรับบริจาคเข้าไปในห้องของเขา โดยอ้างความปลอดภัย
ศาลได้รับฟังคำฟ้องว่า เขาได้นำเงินสดส่วนหนึ่งออกจากกล่องบริจาค และนำไปฝากไว้ในบัญชีที่เปิดไว้ในธนาคารต่างๆ โดยปกปิดไม่ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ บางครั้งเขาจะนำเงินบริจาคของมัสยิด ไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสมาคมการกุศลที่เขาก่อตั้งขึ้น หลังจากนั้นจึงให้อาสาสมัคร หรือผู้ดูแลมัสยิดมานับเงินที่เหลือ ทำบัญชี และนำเข้าฝากในบัญชีของมัสยิด
ฮาชิม นำเงินบริจาคที่ยักยอกมาไปฝากในบัญชีที่เปิดในนามของตัวเอง ในบัญชีของผู้หญิง และในบัญชีที่เขาเปิดขึ้นสำหรับองค์กรการกุศล JPA ของตัวเอง ครั้งละประมาณ 2,200 – 3,900 สิงคโปร์ดอลล่าร์ เงินที่ฝากในบัญชีส่วนตัวถูกถอนไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายของตัวเอง ค่าใช้จ่ายในบ้าน รวมทั้งจ่ายบัตรเครดิต ค่าเดินทางไปท่องเที่ยว และค่ารักษาพยาบาล ส่วนเงินที่ฝากในบัญชีของ JPA ถูกใช้เป็นค่าดำเนินการขององค์กร เช่น payroll ค่าเช่า และค่าสาธารณูปโภค โดยเขาลงบัญชีรับเงินเดือนจาก JPA ระหว่างสิงหาคม 2010 – 2011 เป็นเงินเดือนละ 7,000 สิงคโปร์ดอลล่าร์
เรื่องทั้งหมดมาแดงขึ้นหลังจากเขาลงจากตำแหน่งเพียงไม่กี่เดือน โดยเงินบริจาคในกล่องมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากประมาณ 10,000 – 19,000 สิงคโปร์ดอลล่าร์ ต่อเดือน เป็นระหว่าง 40,000 – 60,000 สิงคโปร์ดอลล่าร์ ต่อเดือน สร้างความสงสัยอย่างยิ่งต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง จนทำให้สภาศาสนาอิสลาม ฯ แจ้งตำรวจให้สอบสวน และนำรายงานยื่นต่อศาล นำมาซึ่งการอายัดบัญชีเงินฝากของฮาชิม ที่มีเงินเหลืออยู่ 96,000 สิงคโปร์ดอลล่าร์ ในปี 2013
ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 15 เมษายน ที่จะถึงนี้
อัลลอฮฺตะอะลากล่าวว่า :
“ขโมยผู้ชายและขโมยผู้หญิงจงตัดมือของเขาทั้งสองคนเพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่ทั้งสองนั้นได้แสวงหาไว้ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างในการลงโทษจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเดชานุภาพทรงปรีชาญาณ แล้วผู้ใดสารภาพผิดหลังจากการอธรรมของเขาและได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตาเสมอ” (อัล-มาอิดะฮฺ / 38 - 39)
บทลงโทษของการลักขโมยจำเป็นต้องตัดมือเมื่อมีเงื่อนไขครบดังต่อไปนี้
- ผู้ลักขโมยจะต้องบรรลุศาสนภาวะ สมัครใจ เป็นมุสลิม หรือเป็นชาวซิมมียฺ
- จะต้องเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของผู้ที่ถูกลักขโมย ดังนั้นจึงไม่มีการตัดมือในกรณีสิ่งที่ถูกขโมยเป็นของละเล่นหรือสุราอย่างนี้เป็นต้น
- ทรัพย์สินของที่ถูกผู้ลักขโมยจะต้องครบพิกัดตามที่ศาสนากำหนด หากเป็นทองคำต้องมีน้ำหนัก ¼ ดีนารขึ้นไป หรือทรัพย์สินก็ต้องมีมูลค่าของมัน ¼ ดีนารขึ้นไป
- การเอาทรัพย์สินนั้นไปโดยวิธีการแบบลับ หากไม่ใช่กรณีเช่นนั้นก็ไม่ต้องตัดมือ เช่น การกรรโชกทรัพย์ การข่มขู่บังคับ และการปล้นสะดม ฯลฯ ในกรณีนี้ให้ใช้วิธีตักเตือนลงโทษ
- ขโมยทรัพย์สินจากที่ๆ เจ้าของเก็บรักษาไว้อย่างมิดชิด
การเก็บรักษา (อัล-หัรซฺ) หมายถึง การเก็บรักษาทรัพย์สินเอาไว้ด้วยกับวิธีการที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ การเก็บรักษาเงินทองโดยการจัดเก็บไว้ในบ้าน ธนาคาร ร้านค้าสหกรณ์ และสำหรับแพะจัดให้อยู่ในคอกหรือฟาร์ม ลักษณะนี้เป็นต้น
- ปราศจากข้อคลุมเครือจากผู้ขโมย ดังนั้นจึงไม่ตัดมือของผู้ขโมยในกรณีที่เขาขโมยทรัพย์ของพ่อหรือบรรพบุรุษที่สูงขึ้นไป ผู้ที่ขโมยทรัพย์ของลูกหรือผู้สืบสันดานลงมา และไม่ตัดมือกรณีขโมยทรัพย์กันนระหว่างสามีกับภรรยา และทำนองเดียวกันการขโมยเนื่องจากความอดอยากหิวโหย
- ผู้ที่ถูกขโมยเรียกร้องทรัพย์สินของเขาคืน
- มีหลักฐานยืนยันถึงการลักขโมย ด้วยกับประการหนึ่งประการใดจากสองประการต่อไปนี้
8.1 การรับสารภาพว่าเป็นผู้ขโมยด้วยตัวเขาเองสองครั้ง
8.2 มีพยานผู้ชายที่มีความเที่ยงธรรมสองคนมายืนยันว่าเขาเป็นผู้ขโมย (อ่านเพิ่มเติม: โทษของการลักทรัพย์ ขโมย ตัดมือ อิสลาม)
- สิงคโปร์ ตั้งคณะฯแผนพัฒนาครูสอนศาสนาอิสลาม
- สาวใต้สุดเก่ง! คว้าคอตอาหรับอีก 2 รางวัลระดับโลก
- “ดร. มหาเดร์” ตำหนิ “ซูจี” กรณีวิกฤตโรฮิงญา
- จุฬาราชมนตรี “สายชีอะห์ - ซุนนี่” ผู้นำมุสลิมยุคแรกแห่งสยาม
- มุสลิม 4 ชาติร่วมขอดุอาอ์ให้ 13 ชีวิตติดถ้ำปลอดภัย
- โดนจับแล้ว! มือดีดอดนำเทวรูปวางในมัสยิดสลังงอ สร้างความตึงเครียด
- รู้ไว้!! อาหารฮาลาล ไม่ใช่แค่หมูที่มุสลิมไม่ทาน
- ไม่กลัวบาป! โจรแสบงัดตู้บริจาคมัสยิด
ที่มา: www.channelnewsasia.com