คลายข้อสงสัยว่า ทำไมในปัจจุบันคนที่ใช้นามสกุลบุนนาคส่วนใหญ่ถึงนับถือศาสนาพุทธ ทั้งที่ต้นตระกูลเป็นมุสลิม
คลายข้อสงสัย! สกุลบุนนาค ต้นตระกูลเป็นมุสลิม แต่ส่วนใหญ่นับถือพุทธ?(มีคลิป)
จากเฟสบุ๊ก โบราณนานมา ได้คลายข้อสงสัยว่า ทำไมในปัจจุบันคนที่ใช้นามสกุลบุนนาคส่วนใหญ่ถึงนับถือศาสนาพุทธ ทั้งที่ต้นตระกูลเป็นมุสลิม (ชีอะห์) โดยระบุว่า....
- ย้อนอดีต จุฬาราชมนตรีคนแรกถึงปัจจุบัน 18 ท่าน
- ออกญาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) คือใคร? อิงกระแสบุพเพสันนิวาส 2561
- ดราม่าหนัก ลั่น!! ออเจ้ามุสลิมห้ามดูบุพเพสันนิวาส
ต้นตระกูลบุนนาค คือ เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ในยุคสมัยที่ท่านเฉกอะหมัดเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยานั้น เป็นปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เฉกอะหมัดและบริวารได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนและห้างร้านค้าขาย อยู่ที่ตำบลท่ากายี ท่านค้าขายจนกระทั่งมีฐานะเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา
ท่านเฉค อะหมัด จุฬาราชมนตรี
ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ท่านเฉกอะหมัดได้ช่วยปรับปรุงราชการกรมท่า จนได้ผลดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าขวาและ จุฬาราชมนตรี นับได้ว่าท่านเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีและเป็นผู้นำพาศาสนาอิสลามมาสู่ประเทศไทย ต่อมาท่านเฉกอะหมัดพร้อมด้วยมิตรสหาย ร่วมใจกันปราบปรามชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ก่อการจลาจล และจะยึดพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัด รัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ
ส่วนละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส แล้วมีฉากหนึ่งที่มี หลวงศรียศ ปรากฏตัวขึ้นมา ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ ๒ แห่งอยุธยา ท่านมีศักดิ์เป็นหลานตาของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) จุฬาราชมนตรี
และหลายคนก็สงสัยว่าต้นตระกูลเป็นมุสลิม (ชีอะห์) แต่ทำไมในปัจจุบันคนที่ใช้นามสกุลบุนนาคส่วนใหญ่ถึงนับถือศาสนาพุทธได้ ข้อสงสัยนี้มีคำตอบในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
มีความตอนหนึ่งว่า "ณ เดือนแปดแรมสิบค่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก จนสะอึกสามชั้น ต่อกลางคืนตีสิบเอ็ดจึงคลาย ครั้นเดือนสิบสองขึ้น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโพธน์พระพุทธบาท เป็นกระบวนรับเสด็จพัก ณ พระตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วทรงพระวอขึ้นไปประทับร้อนบ่อโศก เพลาเย็นเสด็จไปถึงท้ายพิกุล ครั้นสมโพธน์พระพุทธบาทครบเจ็ดวันแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับยังกรุงเทพพระนครศรีอยุธยา"
ในการเสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธบาทครั้งนั้น ข้าทูลละอองธุลีพระบาททุกคนคงยินดีที่พระเจ้าอยู่หัวหายประชวร ต่างคนก็ต่างอยากตามเสด็จ แต่พระยาเพ็ชร์พิไชย (ใจ) ไม่มีชื่ออยู่ในจำนวนที่โปรดให้ตามเสด็จในกระบวน พระยาเพ็ชร์พิไชยจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานตามเสด็จด้วย พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่าพระยาเพ็ชร์พิไชยเป็นแขก ไม่ควรไปนมัสการพระพุทธบาท แต่ถ้าทิ้งเพศแขกมาเข้ารีดไทย จึงจะให้ตามเสด็จ พระยาเพ็ชร์พิไชยกราบบังคมทูลว่า เต็มใจที่จะเป็นไทยตามพระบรมราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยาเพ็ชร์พิไชยตามเสด็จไปด้วย ครั้นเสด็จถึงพระพุทธบาทแล้ว พระยาเพ็ชร์พิไชยได้รับศีล ปฏิญาณ เป็นพุทธศาสนิกชนต่อสมเด็จพระสังฆราช หน้าที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นี่เป็นต้นเหตุให้วงศ์เฉกอะหมัดละศาสนาเดิมมาถือพุทธศาสนา และเมื่อเสด็จกลับพระนครแล้ว พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย และให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย
ลูกหลานของท่านเฉกอะหมัดนับถือศาสนาอิสลามมาจนถึง พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ถือเป็นตระกูลเฉกอะหมัดชั้นที่ ๔ ท่านเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และท่านให้ลูกชายท่าน ๒ คน คือ เสน กับ หนู เปลี่ยนมาเป็นพุทธ ส่วนคนโตคือ เชน ให้นับถืออิสลามต่อไป
ซึ่ง "เชน" บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ต่อมาภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนที่ ๔ แห่งอยุธยา และบุตรของท่านชื่อ "ก้อนแก้ว" ต่อมาภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑
ผู้สืบเชื้อสายท่านเฉกอะหมัดในชั้นที่ ๖ นั้นมีท่านหนึ่งที่ถือเป็นต้นสกุลบุนนาค คือ "นายบุนนาค" เป็นบุตรเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) เมื่อตอนเด็ก ๆ นั้นนายบุนนาคเคยเป็นเพื่อนสนิทกับ นายสินบุตรจีนแต้ไหฮอง (ซึ่งต่อมาได้ขึ้นขึ้นครองราชเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี) ส่วนเพื่อนอีกคนคือนายทองด้วง บุตรหลวงพินิจอักษร (ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งผู้ที่เคยทำความดีความชอบให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ นายบุนนาค หลานพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ก็ได้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม และ นายก้อนแก้ว หลานพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑
เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี (บุนนาค) ถึงแก่อสัญกรรมในปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ รวมอายุ ๖๗ ปี ถือว่าท่านเป็นต้นสกุลนับชั้นที่ ๑ ของสายสกุลบุนนาค และนับเป็นชั้นที่ ๖ ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)
วงศ์เฉกอะหมัดอันรวมเป็นวงศ์เดียวกันมา ๕ ชั่วคนนั้น ตั้งแต่ชั้นที่ ๖ นี้ไปแยกออกไป ๕ สาย และเมื่อครั้งตั้งนามสกุลคนไทยในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สายหนึ่ง ๆ ยังแยกออกเป็นหลายสกุล
จะเห็นได้ว่าสายตระกูลเฉกอะหมัด จะแตกออกเป็น ๒ สายในชั้นที่ ๔ ของวงศ์ตระกูล แตกออกเป็นที่นับถือศาสนาพุทธ และที่นับถือศาสนาอิสลาม
สายที่นับถือศาสนาพุทธ คือ ท่านเสนกับท่านหนู บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) มีสกุลภายหลัง เช่น บุนนาค จาติกรัตน์ บุรานนท์ ศุภมิตร ภานุวงศ์ วิชยาภัย ศรีเพ็ญ ฯลฯ ซึ่งสายนี้มีลูกหลานที่สืบสกุลเข้ารับราชการต่อเนื่องกันมาตลอดจนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีที่ทรงอำนาจในหลายรัชกาล และเป็นที่ยินดีเมื่อสกุลนี้มีผู้สืบสกุลที่รับราชการทำความดีความชอบจนได้รับพระราชทานตำแหน่งสูงสุดคือ "สมเด็จเจ้าพระยา" มากถึง ๓ ท่าน ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คือตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี"
สายที่นับถือศาสนาอิสลาม คือ ท่าน เชน บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) มีสกุลภายหลัง เช่น อหะหมัดจุฬา จุฬารัตน อากาหยี่ ชิตานุวัตร์ ช่วงรัศมี บุญยรัตกลิน ฯลฯ ซึ่งสายนี้มีลูกหลานที่สืบสกุลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลที่ ๒๑ จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในต้นรัชกาลที่ ๙ รวมทั้งสิ้น ๑๓ ท่าน
สายสกุลนี้ ถือเป็นสกุลหนึ่งที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลมากที่สุดในอดีต เนื่องเพราะบรรพชนในสกุลนี้ตั้งแต่ปฐมวงศ์เป็นต้นมาเข้ารับราชการสนองคุณแผ่นดินโดยแต่ละท่านล้วนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีอันถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการแทบทุกคน นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ผ่านเลยมา ๔๑๖ ปีแล้ว ถือเป็นสกุลหนึ่งที่มีเครือญาติมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ใครไม่อยากอ่านฟังคลิปนี้ดูได้เลย
- ภาพสมเด็จพระเทพฯ คลุมฮิญาบ เสด็จเยือนอิหร่าน งดงามมาก!
- จุฬาราชมนตรีในยุคกรุงศรีอยุธยา มีใครบ้าง?
- จุฬาราชมนตรียุคกรุงรัตนโกสินทร์ ย้อนประวัติศาสตร์ผู้นำไทยมุสลิม
- ศาสนาอิสลามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนมุสลิมในอยุธยา ประวัติมุสลิมในสมัยอยุธยา (ละเอียด)
- ประวัติ เฉกอะหมัด จุฬาราชมนตรีคนแรกของไทย (ละเอียด)
ขอขอบคุณข้อมูลโดย: โบราณนานมา