ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้กลับมาเยี่ยมเยือน สถาบันปอเนาะที่ท่านได้เคยเล่าเรียนมา ท่านคือหนึ่งในลูกศิษย์รุ่นแรกของปอเนาะตุยง
สมัยท่านจุฬาราชมนตรี เรียน ตุยง พักที่นี่..รู้ยัง ?
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้กลับมาเยี่ยมเยือน สถาบันปอเนาะที่ท่านได้เคยเล่าเรียนมา ท่านคือหนึ่งในลูกศิษย์รุ่นแรกของปอเนาะตุยง
โรงเรียนสกุลศาสน์ ปอเนาะตุยง อำเภอ หนองจิก ปัตตานี
ปอเนาะ เป็นสถาบันการศึกษาสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาแต่อดีตกาล มุสลิมในพื้นที่ตลอดทั้งภาคใต้ตอนบนไปจนถึงกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลที่มีรากเหง้าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสถาบันปอเนาะไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ศึกษา แต่เป็นสถานที่ฝึกฝนและบ่มเพราะแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อดำรงตนเป็นมุสลิมที่ดีตามหลักคำสอนของศาสนา เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะอิสลามให้ความสำคัญกับหลักศรัทธาและหลักปฎิบัติในเวลาเดียวกัน
นักเรียนปอเนาะจะอาศัยอยู่ในกระท่อมเล็กที่ปลูกรายล้อมบ้านของ “บาบอ” หรือ “โต๊ะครู” กระท่อมขนาดเล็กนี้เรียกว่า “ปอเนาะ” ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาอาหรับว่า “ฟุนดูก” ซึ่งแปลว่า “โรงแรม” หรือ “ที่พักอาศัยชั่วคราว
วิธีการเรียนการสอนของปอเนาะ ถ้าจะพูดอย่างง่าย ก็คล้ายระบบการศึกษาแบบอังกฤษ คือ มีระบบเล็คเชอร์ และติวเตอร์ บาบอหรือโต๊ครูจะเป็นผู้เล็คเชอร์ โดยให้นักเรียนทั้งหมดไม่ว่าจะเด็ก หนุ่ม หรือ สูงอายุมานั่งเรียนร่วมกันที่ “บาลัย” (สถานที่ที่เป็นทั้งที่เรียนและละหมาดร่วมกันของทุกคน)
หลังจากนั้นนักเรียนก็จะไปจับกลุ่มกันเพื่อศึกษารายละเอียดในสิ่งที่บาบอสอน โดยมีรุ่นพี่ที่มีความรู้ความลุ่มลึกในเนื้อหาวิชาที่บาบอบรรยายเป็นติวเตอร์ในการสร้างความเข้าใจเพิ่มเติม ปอเนาะบางแห่งหลายแห่งรับทั้งนักเรียนทั้งชายและหญิง แต่จะมีการแบ่งแยกชายหญิงในการเรียนและการพักอาศัย ที่พักนักเรียนหญิงเรียกในภาษาไทยว่า “ปอเนาะใน หรือ ปอเนาะดาแล” ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่พื้นที่หลังบ้านบาบอ เป็นเขตห่วงห้ามของนักเรียนชาย แต่การละเมิดข้อห้ามดังกล่าวของนักเรียนชายบางคนก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป
ระบบการศึกษาดังกล่าวเป็นทั้งข้อเด่นและข้อด้อยในเวลาเดียวกัน เพราะการไม่มีระบบชั้น ทำให้นักเรียนต้องติดตามเนื้อวิชาที่เรียด้วยตัวเอง หรือการไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน ทำให้คนหลายคนเมื่อออกจากปอเนาะ ไม่สามารถประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งได้ตามสาขาอาชีพของโลกสมัยใหม่ นักเรียนที่ไม่เอาใจใส่ หรือขวนขวายหาความรู้ โอกาสที่จะจบไปโดยไม่มีความรู้อะไรติดตัวไปก็มีอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งที่คนที่ผ่านระบบการศึกษานี้ได้ไป คือ การวางรากฐานของความรู้พื้นฐานของศาสนา
ผู้ปกครองจะเลือกส่งบุตรหลานไปยังปอเนาะไหนนั่นขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข เช่นความสัมพันธ์ส่วนตัวกับบาบอ เคยเป็นลูกศิษย์ของปอเนาะนั่นมาก่อน หรือ อาจจะเป็นความเชียวชาญของบาบอ หรือเจ้าสำนัก ดังนั่นหากจะเปรียบปอเนาะเป็นสำนักตักศิลาก็คงไม่ผิด เพราะบาบอแต่ละคนจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญแตกต่างกันในสาขาความรู้ เช่น บาบอบางคนเชียวชาญเรื่องนิติศาสตร์อิสลาม (ฟิกห์) วิชาหลักไวยกรณ์อาหรับ หรือ วิชาจริยวัตรของศาสดา (ฮาดิษ) เป็นต้น
บาบอก็มิได้ทำหน้าทีเพียงแค่ผู้สอนเท่านั้น หากยังทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลศิษย์ในสำนักไม่ต่างจากพ่อแม่ของเด็ก เพราะถือว่าตนเองได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองที่เอาลูกมาฝากไว้ หากสังเกตคำว่า “บาบอ” หรือ “บาบา” ก็หมายถึง “พ่อ” นั่นเอง ฉะนั่นความรับผิดชอบของบาบอไม่ใช่แค่การสอน แต่คือการดูแลขัดเกลาคนที่อยู่ใต้อาณัติของตนเอง แน่นอนว่าบทบาทหน้าที่แตกต่างไปจากครูหรือ อาจารย์ในปัจจุบันอยู่พอสมควร ความผูกพันธ์ระหว่างศิษย์กับบาบอปอเนาะจึงมีความใกล้ชิดเทียบเคียงกับความสัมพันธ์แบบพ่อลูกมากกว่าที่จะเป็นครูกับศิษย์
แม้จะเป็นสถานศึกษาที่มีบทบาทสำคัญ แต่ปอเนาะก็ตกเป็นเป้าสายตาของหน่วยงานของรัฐมานับแต่ในอดีต หน่วยงานที่รับผิดชอบงานความมั่นคงและหรือการศึกษาพยายามที่ปรับและจัดระเบียบ นับแต่ปีพ.ศ 2514 มีการจัดระเบียบและเปลี่ยนปอเนาะให้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อให้รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น วิชาสามัญถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของโรงเรียนเอกชน พร้อมกับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ
ที่ผ่านมา รัฐพยายามมาทุกยุคทุสมัยในการจัดระเบียบและเปลี่ยนโฉมหน้าให้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่ก็มีปอเนาะหลายแห่งที่ดำรงอยู่เช่นปอเนาะดังเดิม เพื่อเป็นทางเลือกให้คนในพื้นที่เพราะเรียนปอเนาะไม่มีค่าเทอม ไม่มีค่าแปะเจียะในการเข้าเหมือนโรงเรียนทั่วไป อีกทั้งคนทุกวัยก็สามารถเรียนได้ เรียนๆ หยุดๆ ตามความพร้อมหรือความต้องการของของผู้เรียน นี้คือ สเน่ห์ของปอเนาะ และหัวใจสำคัญที่ทำให้ปอเนาะยังคงอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน
พ่อของข้าพเจ้าก็เป็นผลผลิตของสถาบันปอเนาะดั้งเดิม ท่านเป็นนักเรียนของปอเนาะในอำเภอจะนะ และโรงเรียนสกุลศาสตร์ หรือ ปอเนาะตุยงในอำเภอหนองจิก ปัตตานี เดิมท่านก็มีความฝันที่จะไปเรียนต่างประเทศเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมรุ่น แต่แม่ของตัวเองไม่อยากให้ไปเรียนไกลบ้าน เลยต้องขวนขวายหาความรู้จากปอเนาะและค้นคว้าหาความรู้เอาเอง
ช่วงที่เรียนปอเนาะตุยง ท่านมักจะปั่นจักรยานมาหาอัลมัรฮูม ดร.ฮาซัน หมัดหมาน อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในขณะนั่น ผู้เป็นทั้งญาติและรุ่นพี่ เพื่อแนะนำหนังสือที่ไม่มีสอนในปอเนาะให้อ่าน และไปอ่านหนังสือสามัญในห้องสมุดมหาวิทยาลัย
บ่อยครั้งที่ท่านไปอ่านหนังสือใหม่ๆ ที่ร้านนะห์ดีย์ ร้านขายตำราศาสนาในตัวเมืองท่านเล่าว่าครั้งแรกเจ้าของร้านก็ไม่ชอบใจเท่าไหร่ที่เห็นเด็กปอเนาะมายืนอ่านหนังสือฟรีๆ พอไปบ่อยเข้าเจ้าของร้านก็เรียกมาถาม ก็ตอบไปตรงๆ ว่าไม่มีเงินซื้อ เจ้าของร้านเลยเรียกมานั่ง แล้วหยิบนั่งสือมาให้อ่านและแปลให้ฟัง เมื่ออ่านถูกตามหลักไวยกรณ์และแปลความได้ จากนั่นมิตรภาพก็เกิดขึ้น ทุกครั้งที่ไปอ่านหนังสือฟรีที่ร้าน เจ้าของร้านจะยกน้ำชามาให้ดื่ม จนกลายเป็นภาพความทรงจำที่ท่านมีต่อร้านนะห์ดีมาจนถึงทุกวันนี้
บางครั้งท่านก็ทำในสิ่งที่ขัดกับภาพลักษณ์ของเด็กปอเนาะทั่วไป นั่นคือ ท่านเดินเข้าไปในวัดมุจลิน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ และเป็นพระอารามหลวงของอำเภอหนองจิก เพราะสนใจหลักวัตถุโบราณและฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก็บรวมรวมไว้ จนบางครั้งชาวบ้านมุสลิมแถวนั่นตำหนิว่าเป็นเด็กปอเนาะที่เดินเข้าวัด แต่ก็นั่นเพราะความอยากรู้อยากเห็นทีออกจะมากกว่าเพื่อนเด็กปอเนาะด้วยกัน
ดังนั้นปอเนาะสำหรับพ่อของข้าพเจ้า คงเป็นมากกว่าสถานที่ศึกษาความรู้ศาสนาทางเพียงเท่านั้น เพราะมันทำหน้าที่เชื่อมร้อยความรู้แขนงต่างๆ ตามกำลังที่ท่านสามารถแสวงหาได้ในช่วงวัยหนุ่ม และท้ายสุดมันคงเป็นฉากสำคัญฉากหนึ่งในความทรงจำของท่านไปเสียแล้ว
ภาพนี้เป็นภาพที่โรงเรียนสกุลศาสตร์ จัดงานโรงเรียนซึ่งท่านก็ไม่พลาดที่จะไปร่วมงาน เพราะเจ้าภาพซึ่งเป็นภรรยาของบาบอมาเรียนเชิญด้วยตัวเอง แต่ปกติแล้วท่านเองก็ผูกพันกับสถาบันแห่งนี้มาก เพราะหลังจากที่ได้รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของศาสนาอิสลามไม่กี่เดือน ท่านได้เดินทางมาเยี่ยมปอเนาะ และเคารพหลุมฝังศพของบาบอ เพื่อระลึกถึงบุญคุณของบาบอผู้ให้ความรู้แก่ท่าน และขอความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง นี้ก็เป็นอีกครั้งที่ท่านกลับมาเยี่ยมสถาบันแห่งนี้
ที่มา : zakee pitakumpon