มุสลิมในแผ่นดินไทย มีบทบาทสำคัญด้านต่าง ๆ มาตั้งแต่อดีตกาล ยุคสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ บทบาทของมุสลิมด้านต่างๆ ที่นักประวัติศาสตร์ไม่เคยตกประวัติศาสตร์นี้เลย
เรื่องเล่าวิถีชีวิตของมุสลิมในแผ่นดินไทย มาแบ่งปันกันอ่าน ดังนี้
มุสลิมในแผ่นดินไทย มีบทบาทสำคัญด้านต่าง ๆ มาตั้งแต่อดีตกาล ยุคสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์
บทบาทของมุสลิมด้านต่างๆ ที่นักประวัติศาสตร์ไม่เคยตกประวัติศาสตร์นี้เลย
มุสลิมมิใช่แค่มีสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การค้าเท่านั้น แต่โยงไปถึงความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับสังคมชั้นสูงของไทย
จนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในฐานะขุนศึกคู่บัลลังก์ ทั้งในฐานะผู้นำทางด้านศาสนาอิสลาม ทั้งในฐานะนายพ่อค้าวาณิชย์ ในระดับนำของราชอาณาจักรไทยทุกยุค
สมเด็จพระเจ้าตากสิน
ในปลายสมัยอาณาจักรอยุธยา แผ่นดินใกล้แตก เมื่อบรรดาข้าศึกเข้าล้อมพระนคร ในท่ามกลางความระส่ำระสายอลเวงของผู้คนและกองทัพ กองกำลังของมุสลิมที่ถนัดรบ ได้ร่วมสัปยุทธ เคียงบ่าเคียงไหล่กับนักรบสยาม
นักรบมุสลิมเป็นจำนวนมากได้พลีชีวิต เพื่อปกป้องแผ่นดิน จนเป็นตำนานเล่าขานมาถึงยุคปัจจุบันทั้งในความกล้าหาญและความเสียสละ
ในความสูญเสียทั้งหลาย คือ “การเกิดใหม่” เสมอ เมื่อกรุงศรีอยุธยาปราชัยแก่ข้าศึก เหลือไว้เพียงซากปรักหักพัง มุสลิมจำนวนหนึ่งถูกต้อนเป็นเชลย บ้างก็แตกหนีตายกระจัดกระจายกันไปตามภูมิภาคต่าง ๆ แต่มีมุสลิมอีกจำนวนไม่น้อยได้ร่วมน้ำใจกับพระยาตากฝ่าวงล้อมออกมากอบกู้บ้านเมือง ตั้งราชอาณาจักรใหม่ คือ “กรุงธนบุรีศรีสมุทร”
มุสลิมที่พลัดที่พลัดบ้าน ก็ได้เข้ามารวมกันใหม่อีกครั้ง ละแวกธนบุรีหลายเขตจึงเป็นที่ตั้งของชุมชนไทยมุสลิม หนึ่งในจำนวนนั้น ก็คือบริเวณมัสยิดต้นสน ย่านเจริญพาศน์ที่เป็นหนึ่งในมัสยิดเก่าแก่มีตำนานที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทยเรา
ตามเกร็ดประวัติของชาวต้นสน เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งทหารของพระเจ้าตากสิน พบแผ่นกระดานไม้ขนาดใหญ่ลอยน้ำมาในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้นำแผ่นไม้นั้น ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงสันนิษฐานว่า ไม้แผ่นนั้นเป็นสมบัติอันมีคุณค่าตามคติของชาวมุสลิม
พระองค์จึงพระราชทานให้กับคณะกรรมการของมัสยิดต้นสน แผ่นไม้กระดานดังกล่าว คือ “ช่องมิหรอบ” ใช้สำหรับกำหนดทิศทางของนครมักกะฮ์ ซึ่งเดิมน่าจะเป็นของมัสยิดแห่งหนึ่งแห่งใดในกรุงศรีอยุธยา แต่เกิดเพลิงไหม้และลอยน้ำมา ภายหลังได้รับการซ่อมแซมและจัดตั้งแสดง สะท้อนประวัติศาสตร์ อยู่ที่มัสยิดต้นสนจนปัจจุบันนี้
ตามประวัติศาสตร์บันทึกและปากคำที่เล่าสู่จากต้นตระกูลหลายสกุลวงศ์ เล่าว่า ทหารคู่พระทัยพระเจ้าตากสินนั้นมีชาวไทยมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก ท่านเหล่านั้นได้ทำความดีแก่ชาติบ้านเมืองในยามบ้านแตกสาแหรกขาด มีผลงานและวีรกรรมที่น่าชื่นชม (ท่านอาจหาอ่านได้จาก หนังสือสายสกุลสุลตานสุลัยมาน
ซึ่งค้นคว้าและนำมาเขียนโดย ท่านประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะท่านผู้นี้เป็นคาเฟอีนในชีวิตของผู้เขียนท่านหนึ่ง ท่านได้เล่าไว้เป็นความละเอียดมาก ได้ความรู้ต่าง ๆ มากมาย)
หลุมฝังศพเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ณ มัสยิดต้นสน (ภาพจาก www.muslimpost.com)
จากประวัติศาสตร์บันทึกหลายยุค ไม่ค่อยพบพระมหากษัตริย์ไทยไปทำพิธีฝังมัยยัตถึงกุโบร์ (สุสาน) ของชาวมุสลิม แต่จากบันทึกจากพงศาวดาร พบว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเสด็จไปร่วมในพิธีฝังมัยยัตที่กุโบร์ของมัสยิดต้นสน กล่าวคือ
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง ให้ท่านมะหมุด บุตรของขุนลักษมาณา (บุญยัง) ซึ่งสืบเชื้อสายสกุลโดยตรงมาจากสุลต่านสุลัยมาน โปรดเกล้าฯ ให้เป็นถึง สมุหนายก และนับเป็นเจ้าพระยาจักรีท่านแรกในแผ่นดินกรุงธนบุรีศรีสมุทร โดยที่เป็นมุสลิมคนทั่วไปจึงเรียกท่านติดปากว่า “เจ้าพระยาจักรีแขก”
เจ้าพระยาจักรี(มะหมุด) คนนี้แหละที่เป็นนักรบ เป็นขุนศึกคนสำคัญของกรุงธนบุรีในยุคนั้น ได้ร่วมรบกับสมเด็จพระเจ้าตากมาก่อนตั้งกรุงธนบุรี จัดเป็นนักรบฉกาจกล้าโชกโชน เช่นการปราบปรามชุมนุมเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ใน พ.ศ. 2312 ต่อมาปราบศึกเขมรในปี 2314 และยังจัดระเบียบราชการทหารในสังกัดอีกหลายด้านอีกด้วย คือไม่ใช่แต่เพียงมีความกล้าหาญเท่านั้นแต่เชี่ยวชาญพิชัยยุทธอีกต่างหากว่างั้นเถอะ
เมื่อพระเจ้าพระยาจักรี (มะหมุด) ท่านอายัลในปี 2317 ในวันฝังมะยัตของท่านที่มัสยิดต้นสน ก็เกิดเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ คือ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้เสด็จฯ ทรงเป็นประธานร่วมในพิธิฝัง ในบริเวณกุโบร์ด้านข้างมัสยิดต้นสน จนเป็นที่กล่าวขานร่ำลือ ของบรรดามุสลิมไทยมาจนทุกวันนี้ เป็นเกียรติประวัติของอัลมัรฮูมเจ้าพระยาจักรี(มะหมุด)และเป็นความรำลึกอันยิ่งใหญ่ของมุสลิมไทยโดยทั้งหมดทุกคน
หลุมฝังศพเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ณ มัสยิดต้นสน
เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงมีพระกรุณาต่อชาวไทยมุสลิมเป็นอย่างมาก และทรงเป็นแบบอย่างแห่งพระจริยวัตรอันงดงามอย่างมิอาจจะกล่าวได้ ในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินเพิ่มเติมให้แก่มัสยิดต้นสน เพื่อขยับขยายขอบเขตของกุโบร์ให้กว้างขวางออกไปอีกด้วย ดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน ขอเล่าต่อสักนิดว่า
กุโบร์ของมัสยิดต้นสนนี้ เป็นกุโบร์ที่สะท้อนให้เห็นอดีตอันโอฬารของบรรพชนของชาวไทยมุสลิมจำนวนมาก ทั้งยังเป็นสุสานที่ฝังมัยยัตของท่านจุฬาราชมนตรี ถึง 9 ท่าน น่าสนใจมาก ใครมีเวลาว่างควรหาโอกาสไปเยี่ยมชมให้ได้เถิด
แล้วหลังจากนั้นมาอีก 160 ปีเศษ เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2489 ได้เกิดปรากฏการณ์พิเศษขึ้นอีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร์มหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และพระอนุชา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ รัชกาลที่ 9) ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนชาวไทยมุสลิม ที่มัสยิดต้นสน
ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าต่อไป ถึงน้ำพระทัยที่เต็มเปี่ยมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อชาวไทยมุสลิมอย่างไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ไหนในโลกที่ทรงเกื้อกูลอุปถัมภ์ต่อศาสนาอิสลามและต่อชาวมุสลิม โดยที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นมิได้นับถือศาสนาอิสลาม
แต่พระองค์ทรงมีพระเมตตาอย่างเป็นล้นพ้นสุดประมาณได้ ขอพระองค์อัลลอฮ์สุบาฮานะฮูวะตะอะลาได้ทรงตอบแทนแทนต่อบรรดาพระมหากษัตริย์ตราธิราชเหล่านี้ด้วยเถิด
จากหน้าประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินเสด็จไปฝังมะยัตทหารเอกคู่พระทัยต่อเนื่อง ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในยุคปัจจุบัน เป็นประวัติศาสตร์ที่ชาวไทยมุสลิมควรเกิดความภาคภูมิใจ และรำลึกถึงความรักที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีต่อชาวไทยมุสลิมและควรเล่าสู่ให้ลูกหลานฟัง
เพื่อให้เป็นประวัติศาสตร์ปากเล่าและเป็นประวัติศาสตร์บันทึกที่สืบสานต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ศุภชัย ตรีบำรุง
ลอส แองเจลีส/แคลิฟอร์เนีย
- เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ขุนนางมุสลิมในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนฯ
- เจ้าพระยาราชวังสันเสนีย์(มะห์มูด) แม่ทัพเรือมุสลิมในสมัยอยุธยา
- 'สายสกุลบุนนาค' ต้นตระกูลเป็นมุสลิม แต่ทำไมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
- มัสยิด 300 ปี ทรายขาว ประวัติ มัสยิดนัจมุดดินชุมชนทรายขาว ปัตตานี
- หลุมฝังศพ เรียม เพศยนาวิน นางสาวไทยมุสลิมคนแรก
- จุฬาราชมนตรียุคกรุงรัตนโกสินทร์ ย้อนประวัติศาสตร์ผู้นำไทยมุสลิม